จินตนากรรมที่แปลกแยกจากชุมชน (4) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การที่รัฐราชการสยามจินตนากรรมชาติไทยและเมืองไทยเป็น “หมู่บ้าน” ในอุดมคติซึ่งไม่มีอยู่จริงแล้วพยายามอบรมบ่มสอนเผยแพร่โฆษณาเพื่อตอกตรึงความคิดจิตใจคนไทยให้ถูกจำขังจมปลักอยู่กับจินตนากรรมนั้น นำไปสู่ผลกระทบระยะยาวต่อสังคมการเมืองและวัฒนธรรมการเมืองไทยเป็นอเนกประการ กล่าวคือ :-

ขณะที่สังคมเศรษฐกิจและเทคโนโลยีไทยเปลี่ยนไปมหาศาลในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา (ขอให้ลองนึกถึงถ้อยคำศัพท์แสงทางเศรษฐกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กลายเป็นกระแสในสังคมไทยนับแต่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวปาฐกถา “ชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษาฯ” เมื่อ พ.ศ.2534 เป็นต้นมาตามลำดับ อาทิ IT, Social Media, Digital Economy, Platform Economy, AI, Robotics, EV, the Precariat, etc…) แต่ทว่าจินตนากรรมของรัฐราชการเกี่ยวกับชาติไทยกลับไม่เปลี่ยน ยังคงเป็น “หมู่บ้าน” ในอุดมคติเหมือนเก่านั้น

ผลลัพธ์ก็คือเกิดสภาพการณ์ –> individualization without individualism :-

จินตนากรรมชาติไทยในอุดมคติ : เรียบเรียงจากคำพูดคุยของผู้เขียนในงานรำลึกอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ณ ลานหน้าโรงละคร หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 พฤศจิกายน 2566

Individualization : เกิดสภาพที่กลุ่มก้อนคณะสถาบันต่างๆ ในสังคมไทยค่อยแตกตัวกระจัดกระจายแยกย่อยไปเป็นหน่วยปัจเจกบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องดิ้นรนแบบตัวใครตัวมันอยู่ในตลาดทุนนิยมโดยอาศัยพึ่งพิงหลักประกันความมั่นคงหรือสวัสดิการของรัฐได้น้อยลงทุกที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่การปรับแนวนโยบายบริหารจัดการเศรษฐกิจเป็นแบบโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ยิ่งขึ้นตามเงื่อนไขเงินกู้ของ IMF นับแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 เป็นต้นมา

เช่น แปรรัฐวิสาหกิจและกิจการภาครัฐต่างๆ ไปเป็นของเอกชน, เปลี่ยนสถานะข้าราชการเป็นพนักงานราชการตามสัญญาจ้าง, ลดผ่อนขนาดภาระระบบสวัสดิการข้าราชการให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมแทน, การลดจำนวนเจ้าหน้าที่พนักงานประจำด้านต่างๆ ของหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนลงด้วยการว่าจ้างผู้รับเหมาช่วงมาทำแทน, การขยายตัวอย่างรวดเร็วในเขตเมืองของธุรกิจซื้อขายของออนไลน์ บริการจัดส่งและพนักงานไรเดอร์กับไดรเวอร์ ซึ่งอาชีพการงานรายได้ไม่แน่นอนมั่นคง ไม่มีสวัสดิการรองรับ ไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนสังกัดประจำย่านหัวถนนปากซอยอย่างวินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น

(ดูตัวอย่างใน สหภาพไรเดอร์, “เสียงเซ็งจากไรเดอร์ ห้ามเลท ห้ามช้า ห้ามมาไม่ทัน เศรษฐกิจแพลทฟอร์มที่คนทำงานไร้สวัสดิการ ไร้การคุ้มครอง”, 2 ธันวาคม 2566, https://www.facebook.com/reel/2341528559370574; & ข้อสังเกตของ เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ ในคำให้สัมภาษณ์ https://www.the101.world/interview-claudio-sopranzetti/)

Without individualism : ทว่าขณะเดียวกันสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของปัจเจกบุคคลพลเมืองไทย กลับถูกรัฐราชการละเลยและล่วงละเมิดเป็นนิจศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งปราศจากการยึดมั่นเคารพหลักการปัจเจกนิยมทางการเมืองนั่นเอง (ดู ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ในนามของความ(อ)ยุติธรรมภายใต้ คสช. : รวมรายงานผลกระทบจากการรัฐประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชน 2557-2558, 2559; & https://freedomhouse.org/country/thailand)

เหล่านี้ส่งผลให้ แทนที่รัฐจะดำรงอยู่เพื่อรับใช้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลตามหลักการเสรีประชาธิปไตยสากล ในเมืองไทยกลายเป็นปัจเจกบุคคลดำรงอยู่เพื่อรัฐ

และแทนที่อำนาจจะมาจากล่างขึ้นบนตามหลักการเสรีประชาธิปไตยสากล ในเมืองไทยกลายเป็นอำนาจมาจากบนลงล่างไปเสียฉิบ (ดูข้อถกเถียงละเอียดใน นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, บทที่ 2-4, 9)

ฉะนั้นเองจึงอาจสรุปได้ว่า : คนไทยไม่ควรมีอำนาจเท่ากัน คนไทยบางคนควรมีอำนาจมากว่าคนไทยคนอื่น เพราะพวกเขามีความเป็นไทยมากกว่าและเป็นคนดีมีศีลธรรมยิ่งกว่าคนไทยคนอื่น และบ้านนี้เมืองนี้ดีแล้วที่เป็นเช่นนี้

(เกษียร เตชะพีระ, จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2559 : วิกฤตประชาธิปไตยไทย, ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2550, น.121-122; อนึ่ง ผู้เขียนสรุปจากประกายความคิดที่จุดโดยงานวิจัยของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ชุด 10 ปัญญาชนสยาม, 2557)

ภาพประกอบหัวข้อ Organicism จาก https://www.populismstudies.org/Vocabulary/organicism/

เหล่านี้นำไปสู่โลกทัศน์ทางการเมืองการปกครองแบบอินทรียภาพ (organicism) ที่ :

– มองประชาชนเหมือนเป็น “ร่างกาย” (the organic people) ที่ประกอบด้วยอวัยวะองคาพยพต่างๆ ทำหน้าที่บรรสานสอดคล้องกลมกลืนกัน เป็นองค์รวมเดียวกัน แบ่งแยกจากกันไม่ได้ แล้วขีดเส้นแบ่งเด็ดขาดทางอุดมการณ์ชาติพันธุ์ระหว่างคนไทย/คนไม่ไทย (ethno-ideological absolutism)

– บุคคลถูกกำหนดโดยหน้าที่ (functional determinism) บุคคลพึงทำตามหน้าที่ของตนซึ่งอาจกำหนดขึ้นจากอาชีพ กฎหมายหรือวัฒนธรรมประเพณี และตีกรอบจำกัดบทบาทที่พึงมีของแต่ละคนตามหน้าที่นั้นอย่างหยุดนิ่งตายตัว

– ด้วยเหตุนี้ อำนาจหน้าที่ที่ลดหลั่นเป็นลำดับชั้นอย่างไม่เสมอภาคกันในสังคม (social hierarchy) จึงเป็นเรื่องถูกต้องสมควรและเป็นธรรมชาติธรรมดา ในขณะที่การทำนอกหน้าที่ เล่นนอกบท เช่น นักศึกษาเดินขบวนแทนที่จะเรียนหนังสือ, ชาวนาปิดถนนแทนที่จะทำนา, กรรมกรนัดหยุดงานแทนที่จะเข้ากะทำงาน, ชาวบ้านก่อม็อบประท้วงแทนที่จะทำมาหากิน ฯลฯ ล้วนผิดปกติธรรมดา ผิดธรรมชาติ เพราะธรรมชาติของทุกคนคือทำตามหน้าที่ ธรรมชาติของสังคมคือปลอดการเมือง (apolitical) ส่วนการเล่นการเมืองนั้นเป็นหน้าที่โดยธรรมชาติของนักการเมืองอาชีพ

– ถือความสำคัญขององค์รวมหรือส่วนทั้งหมดเป็นเอกเป็นหลักเหนือแต่ละส่วน แต่ละคน (holism) เห็นว่าส่วนย่อยแต่ละส่วน (ซึ่งเปรียบได้กับอวัยวะต่างๆ เช่น มือ เท้า แขน ขา นิ้ว ฯลฯ) มีความหมายความสำคัญต่อเมื่อประกอบเชื่อมโยงเข้ากับส่วนทั้งหมด (อันเปรียบเหมือนร่างกาย) อย่างแบ่งแยกมิได้ ส่วนย่อยส่วนหนึ่งส่วนเดียวมิอาจดำรงอยู่อิสระเอกเทศโดยลำพัง ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อย (ไม่ว่าจะเป็นบุคคล, ชุมชน, หมู่บ้าน, ท้องถิ่นหนึ่งๆ) กับส่วนทั้งหมด (หมายถึง “ชาติ”) ดำเนินไปตามหลักการต่อไปนี้คือ :-

1. บุคคลขึ้นต่อรัฐชาติ

2. ชั้นล่างขึ้นต่อชั้นบน

3. เฉพาะส่วนขึ้นต่อส่วนทั้งหมด

4. เสียงข้างน้อยขึ้นต่อเสียงข้างมากด้านเดียว ไม่ค่อยมีสิทธิของเสียงข้างน้อย

– ไม่มีที่ให้ความขัดแย้งหรือเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง มีแนวโน้มที่จะเห็นความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงในชาติเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ในทำนองเดียวกับที่อวัยวะองคาพยพส่วนต่างๆ ของร่างกายต้องไม่ทำงานขัดแย้งกัน (เช่น มือซ้ายต้องไม่ขัดแย้งกับมือขวา มิฉะนั้นย่อมยกแบกของไม่ได้, เท้าซ้ายต้องไม่ปัดแข้งปัดขาเท้าขวา มิฉะนั้นย่อมเดินไม่ได้), การเปลี่ยนแปลงไปของอวัยวะที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในร่างกายเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย ผิดธรรมชาติ เป็นพยาธิสภาพ (คนปกติย่อมไม่ใช้มือเดินหรือใช้ตีนคิดแทนสมอง เป็นต้น)

(ต่อสัปดาห์หน้า)