ครบรอบ 28 ปี Evil Empire สุดยอดอัลบั้ม ทวงคืนอำนาจรัฐสู่ประชาชน

บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์

 

ครบรอบ 28 ปี Evil Empire

สุดยอดอัลบั้ม

ทวงคืนอำนาจรัฐสู่ประชาชน

 

หลังจากที่เทศกาลสงกรานตร์ผ่านพ้นไปได้ไม่กี่วัน ผมตัดสินใจขับรถจากหาดใหญ่ไปยังจังหวัดปัตตานี

จุดมุ่งหมายคือมัสยิดกรือเซะ ศาสนสถานสำคัญของชาวมุสลิมทั้งในจังหวัดปัตตานีเอง, พี่น้องมุสลิมจากพื้นที่ใกล้เคียงไปจนถึงจากประเทศมาเลเซีย

กรือเซะเป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 450 ปี และเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาเพิ่มเติมทั้งในเรื่องของตำนานและยุคสมัยในการก่อสร้างที่ยังคงมีการถกเถียงกันมาจนถึงทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์กับมายาคติเป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและการนำตำนานมาทับซ้อนกับความจริงที่ผ่านการพิสูจน์ด้วยหลักฐานทางโบราณคดีก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งได้เช่นกัน ส่วนเหตุไฟใต้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับมัสยิดกรือเซะเมื่อวันที่ 28 เมษายนปี 2547 ซึ่งครบ 20 ปีพอดีในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงความจริงของการใช้ความรุนแรงที่บานปลายจนทำให้ภาครัฐตกเป็นจำเลยสังคมมาจนถึงทุกวันนี้

ในวันนั้นมีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในหลายพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มัสยิดกรือเซะคือหนึ่งในนั้น

ต้นสายปลายเหตุของเหตุการณ์ค่อนข้างซับซ้อน ในกรณีของมัสยิดกรือเซะคนร้ายผู้ก่อเหตุถูกเจ้าหน้าที่รัฐยิงเสียชีวิตในมัสยิด 32 คน และจากการตรวจสอบคนร้ายมีเพียงมีดและปืนเพียงหนึ่งกระบอกกับกระสุนจำนวนหนึ่งเท่านั้น

กลุ่มสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามถึงภาครัฐว่าเหตุใดหน่วยข่าวกรองที่รู้อยู่แล้วว่าคนร้ายมีอาวุธเพียงน้อยนิดถึงไม่ทำการจับกุมตัวคนร้ายเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์บานปลายเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียที่น่าเศร้า

เพราะแม้แต่นายสุจินดา ยงสุนทร ประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะยังให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวเอเอฟพีว่ารัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุในกรณีกรือเซะ

แถมนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยังเคยกล่าวถึงผู้ก่อเหตุความรุนแรงในภาคใต้ว่าเป็น “โจรกระจอก” ซึ่งก็ยิ่งทวีความไม่พอใจให้กับพี่น้องมุสลิม 3 ชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้นไปอีก

จากบรรทัดนี้เป็นต้นไปสิ่งที่ผมร่ายยาวมาทั้งหมดจะถูกเชื่อมโยงไปยังอัลบั้ม Evil Empire ของวง Rage Aainst the Machine วงดนตรีแนวอัลเทอร์เนทีฟเมทัลจากนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่ทำเพลงต่อต้านอำนาจรัฐและความอยุติธรรมในสังคมอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูอย่างไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น

Bulls on Parade เพลงฮิตที่สุดในอัลบั้ม Evil Empire มีความหมายสื่อถึงกองทัพสหรัฐที่ทุ่มงบประมาณในการซื้ออาวุธยุโธปรณ์เพื่อเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารให้กับกองทัพและมีความกระหายในการเข้าร่วมสงคราม

ในขณะที่ประชาชนชนที่ยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นแรงงานระดับล่างไม่มีเงินซื้อบ้าน, เสื้อผ้า, รองเท้า หรือแม้แต่อาหารสำหรับประทังชีวิต

ท่อนหนึ่งของเพลงที่เขียนว่า “ฉันเดินผ่านมุมตึกแห่งหนึ่งที่เมื่อก่อนเคยเป็นห้องสมุด แต่ตอนนี้กลายเป็นเพียงเศษอิฐไร้ค่าไปแล้ว ส่วนความทรงจำดีๆ ในอดีตถูกฝังกลบไม่ต่างไปจากซากศพในสุสาน”

สะท้อนให้เห็นถึงการลุสู่อำนาจของรัฐที่เห็น Hard Power สำคัญกว่าหัวของประชาชน

กลับมามองที่ประเทศไทยภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีการเปิดเผยว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ภาครัฐใช้ “งบฯ ดับไฟใต้” เพื่อความมั่นคงมากกว่า 3 แสนเก้าหมื่นล้านบาท

แต่จากการสอบถามคนมุสลิมในพื้นที่ พวกเขามองว่าการใช้งบฯ มหาศาลนี้ยิ่งทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดที่หยุดนิ่งมานานแล้วยิ่งถูกแช่แข็งมากไปกว่าเดิมและสร้างความหวาดกลัวให้กับคนไทยส่วนใหญ่จนไม่กล้ามาเที่ยว ทั้งๆ ที่บ้านเมืองในตอนนี้นับว่าสงบน่าอยู่และมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งแต่กลับไม่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐเลย

คำว่าวัว (Bull) ในเพลง Bulls on Parade อ้างอิงถึง “ตลาดค้าวัว” ที่เมื่อตลาดมีความต้องการวัวมากขึ้นจากความต้องการวัวของผู้ซื้อ การเพิ่มราคาวัวก็จะสูงขึ้นเป็นทบเท่าทวีคุณ

เมื่อมาถึงจุดนี้รัฐบาลอเมริกาก็จะเข้ามาขอส่วนแบ่งทางการตลาดด้วย

ส่วนวัวโดยธรรมชาติของมันเองแล้วไม่ได้ดุร้ายอะไรมากนักถ้าหากไม่ถูกกระตุ้น แต่เมื่อมันถูกฝึกให้เป็นวัวชน สัญชาตญาณในตัวก็จะเต็มด้วยความรุนแรงและพร้อมเสมอที่จะวิ่งเข้าใส่คู่ต่อสู้หรือว่าใครก็ตามที่อยู่ตรงหน้า

Rage Against the Machine ต้องการให้เพลง Bulls on Parade สื่อถึงการช่วงชิงโอกาสในการค้าอาวุธสงครามเพื่อที่จะหาเงินเข้าคลังโดยไม่สนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเลย

นอกจากนี้ก็ยังเพิ่มวิกฤตความรุนแรงให้สูงขึ้นกับประเทศที่สู้รบกันเพราะปัญหาความขัดแย้งด้วยการขายอาวุธ โดยไม่สนใจถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์

และเมื่อเป็นเช่นนี้วัวชนก็ไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิตใดๆ นอกจากการมีชิวิตอยู่เพื่อพุ่งชนและทำลายทุกอย่างให้ราบเป็นหน้ากลอง

และรัฐที่ลุแก่อำนาจและกระหายความรุนแรงเช่นนี้ไม่มีทางเป็นอะไรได้มากกว่า “เดรัจฉานสงคราม”

 

Evil Empire (1996) เป็นงานเพลงชุดที่ 2 ต่อจากอัลบั้มวงชุดแรกที่ทางวงใช้ชื่อวงมาตั้งเป็นชื่ออัลบั้มซึ่งวางจำหน่ายในปี 1992 โดย Evil Empire เพิ่งจะมีอายุครบ 28 ปีไปเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา

เพลง Tired Me คว้ารางวัลแกรมมีประจำปี 1996 ในสาขา Best Metal Performance มาครองได้

ในขณะที่เพลง Bulls on Parade และ People of the Sun ต่างได้เข้าชิงรางวัลแกรมมี่ในสาขา Best Hard Rock Performance ในส่วนของชื่ออัลบั้มสื่อถึงรัฐบาลอเมริกาในยุคของ โรนัลด์ เรแกน และชาวอเมริกันอนุรักษนิยมที่ใช้คำว่า “อาณาจักรแห่งความชั่วร้าย” ในการเรียกสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นในเชิงประชดประชัน

People of the Sun เป็นเพลงที่ให้เกียรติและรำลึกถึงวัฒนธรรม “เมโสอเมริกา” (Mesoamrica) ที่ใช้เรียกบางภูมิภาคของเม็กซิโกและอารยธรรมอเมริกากลางยุคก่อนสเปน

ชาวมายาและแอชเท็กได้สร้างอารยธรรมโบราณขึ้นมาในยุคนี้ โดยเมโสอเมริกาเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมการเกษตรในอเมริกากลางที่คนในชุมชนเพาะปลูกข้าวโพด, พริก, โกโก้และอื่นๆ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ

โดย แซ็ก เดอ ลา โรชา แร็พเปอร์ของวงเป็นชาวเม็กซิกัน/อเมริกันมีแนวคิดค่อนไปทางฝั่งสังคมนิยมและเชื่อมั่นว่าสังคมการเกษตรนั้นยั่งยืนกว่าสังคมอุตสาหกรรม

เพลงนี้สื่อถึงการต่อสู้ของชนเผ่ามายาไปจนถึงยุคที่อารยธรรมมายาถึงคราวล่มสลายเพราะความไม่สงบทางการเมือง

นอกจากนี้ เพลงนี้ยังอุทิศให้กับทุกชนชาติทั่วโลกที่ยืนหยัดต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมลีกนัยหนึ่งเพลงนี้ก็สื่อถึงการต่อต้านการล่าอาณานิคมด้วย

 

คอนเซ็ปต์ของอัลบั้มชุดนี้คือการต่อสู้กับอำนาจนิยม, จักรวรรดินิยม และการรุกคืบของโลกยุคใหม่ที่เข้ามากลืนกินโลกยุคเก่า

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผ่านเนื้อหาของบทเพลงอย่าง Vietnow ที่พูดถึงการบันทึกเสียงที่น่าสยดสยองที่มีชื่อว่า “วิญญาณพเนจร” (Operation Wandering Soul) ซึ่งเป็นปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาของกองทัพสหรัฐ

เสียงดังกล่าวคล้ายเสียงชาวมอญที่ตายในสงครามกำลังร้องไห้เพื่อเป็นการตัดกำลังใจและข่มขวัญชาวเวียดกง

ส่วนเพลงอย่าง Down Rodeo มีเนื้อหาที่พูดถึงคนจนที่โกรธแค้นเพราะถูกชนชั้นสูงดูถูกเหยียดหยามไปจนถึงการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ Black Panther กลุ่มคนดำที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านความรุนแรงที่ตำรวจกระทำต่อชาวแอฟริกัน/อเมริกันมาอย่างยาวนาน

บุ๊กเลตของอัลบั้มชุดนี้มีรูปหน้าปกหนังสือที่เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ์, เช กูวารา, เจมส์ จอยซ์, จอห์น สไตน์เบค, นอม ชอมสกี, ฮิวอี พี. นิวตัน และนักคิดนักเขียนนักปรัชญานักรัฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายระดับหัวกะทิของโลกอีกหลายคน

ทั้งหมดนี้บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าอุดมการณ์ที่แน่วแน่ของวง Rage Against the Machine เป็นเช่นไร

อำนาจรัฐที่รับใช้รัฐเองนั้นเป็นคอรัปชั่นที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง

และอัลบั้ม Evil Empire ก็เป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของรัฐที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน

และอย่างที่ผมได้เกริ่นไว้แต่แรก ความรุนแรงที่รัฐทำต่อกรณีกรือเซะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด