โดมิโนอาชญากรรม จาก 6 ตุลา สู่พารากอน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ สื่อ สังคม และผู้คน ที่ไม่อาจมองข้าม

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ช่วงเวลานี้ของเมื่อ 47 ปีที่แล้ว มีเหตุการณ์สังหารหมู่นิสิตนักศึกษาและประชาชนเกิดขึ้นอย่างอำมหิตที่สนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยผู้ที่เข้าร่วมก่อการครั้งนี้มีทั้งพลเรือนและเจ้าหน้าที่รัฐ

นับเป็นความการก่ออาชญากรรมที่โหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

น่าแปลกที่แม้เวลาจะผ่านมาจนเกือบครึ่งศตวรรษแล้วก็ยังไม่มีใครได้รับการลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองเลย ซ้ำร้ายยังมีความพยายามลบเรื่องราวเหล่านี้ให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ด้วย

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันแต่ถัดมา 47 ปีก็มีเหตุกราดยิงขึ้นที่สยามพารากอน ซึ่งโดยปกติแล้วก็มักไม่มีใครอยากพูดถึงเหตุสะเทือนขวัญเช่นนี้ เนื่องจากลำพังความโศกเศร้าของคนใกล้ตัวผู้เคราะห์ร้ายก็นักหนามากพออยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าไม่มีเหตุอันสมควรก็ไม่มีผู้ใดที่อยากจะเอ่ยถึง

แต่เนื่องจากเหตุร้ายในครั้งนี้เกิดขึ้นใกล้วันครบรอบ 47 ปี 6 ตุลาฯ มาก เลยสะกิดใจให้หวนระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตด้วย ทั้งยังรู้สึกว่าแม้ดูเผินๆ สองเหตุการณ์นี้จะแตกต่างกันจนหาอะไรมาเชื่อมโยงไม่ได้

แต่คิดในอีกแง่หนึ่งก็ดูเหมือนมีจุดร่วมกันอยู่พอสมควร

 

ทั้งสองเหตุการณ์นี้มีบางอย่างที่คล้ายกัน แต่บางอย่างก็ต่างกัน คือทั้งสองเหตุการณ์ล้วนเป็นการสังหารคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกันมาก่อน

แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา ผู้ก่อเหตุเกลียดชังเหยื่อจากการล้างสมองของภาครัฐและมวลชนฝ่ายเดียวกัน ซึ่งอคติที่เกิดขึ้นนี้ได้รับการเพาะบ่มมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งมองคนอื่นไม่ใช่มนุษย์ และทำให้เต็มใจสังหารผู้คนได้โดยไม่รู้สึกผิด

นอกจากนี้ ความเกลียดชังดังกล่าวยังเป็นผลพวงที่มาจากการยึดถืออุดมการณ์ที่ต่างกัน ตลอดจนมองโลกด้านเดียวแบบสุดขั้ว

ขณะที่เหตุการณ์ในพารากอนไม่ได้อิงกับความเชื่อทางอุดมการณ์ใดๆ และผู้ก่อเหตุลงมือไปโดยไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการรณรงค์ทางการเมือง นอกจากนี้ ยังเป็นปฏิบัติการแบบฉายเดี่ยว ซึ่งทำให้แม้มีผู้สูญเสียอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็เป็นจำนวนที่น้อยกว่ากรณี 6 ตุลาฯ มาก

ไม่เพียงแต่ปริมาณการเสียชีวิตเท่านั้นที่น้อยกว่า แต่ยังมีระดับของความทารุณที่ต่างกันอยู่พอสมควรด้วย เพราะถึงแม้การยิงคนแปลกหน้าจะโหดเหี้ยมเกินกว่าธรรมดาสามัญก็จริง แต่ก็ไม่ได้กระทำทารุณกรรมต่อเหยื่อทั้งก่อนและหลังเสียชีวิตแบบในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

สองเหตุการณ์นี้ยังมีความแตกต่างกันในด้านลักษณะอีกด้วย เช่น การยิงที่พารากอนเป็น “การยิงฝูงชน” (mass shooting) ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ได้พยายามสังหารเหยื่อในปริมาณที่มากที่สุดและรุนแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้แบบ “การสังหารหมู่” (massacre) ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

นอกเหนือจากลักษณะที่แตกต่างกันในรายละเอียดแล้ว ยังดูมีความแตกต่างกันมากในเรื่องที่มาของเหตุการณ์อีกด้วย เพราะเหตุกราดยิงที่พารากอนมีความคล้ายคลึงกับกรณีสังหารหมู่เมื่อปี พ.ศ.2542 ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ในสหรัฐอเมริกาหลายด้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งกาย ช่วงวัย และพฤติกรรมหมกมุ่นกับความรุนแรงและอาวุธปืนมาอย่างยาวนาน

รวมทั้งยังมีปูมหลังทางครอบครัวที่ดูเป็นปกติธรรมดา หรืออาจเหนือกว่ามาตรฐานทั่วไปด้วยซ้ำ

 

กล่าวให้ชัดก็คือเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ใช่พฤติกรรมเลียนแบบ แต่เหตุกราดยิงที่พารากอนมีความโน้มเอียงว่าเป็นพฤติกรรมเลียนแบบอย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งการเลียนแบบอาชญากรนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การเข้าถึงสื่อและเรื่องราวต่างๆ ทางโลกออนไลน์เกิดขึ้นได้ง่าย

ในกรณีของอาชญากรสองคนที่โคลัมไบน์ก็ถึงขนาดมีกลุ่มแฟนคลับของทั้งคู่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยนำเอาภาพของสองอาชญากรมาทำเป็นการ์ตูนในแบบแฟนอาร์ต (fan art) สารพัดลายเส้น รวมทั้งสร้างให้เป็นคู่จิ้นสายวายอีกด้วย

ซึ่งเท่ากับว่าความรุนแรงขั้นสูงสุดในโลกจริง ได้ถูกลดทอนลงมากลายเป็นความอ่อนโยนละมุนละไมในโลกฝันไปได้

แถมยัง “romanticize” คือทำให้มีความโรแมนติกหวานแหววชวนหลงใหล อันส่งผลต่อพฤติกรรมของเยาวชนได้โดยง่าย

จากคนที่ควรถูกประณามหรือถูกลืม ผู้กระทำผิดเลยกลายเป็นไอดอลขวัญใจวัยรุ่น หรือเป็นฮีโร่ให้กับคนบางกลุ่มได้ และรอเวลาที่ทุกอย่างสุกงอม โลกแฟนตาซีของคนเหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นชีวิตจริง

เพราะฉะนั้น เมื่อมองในแง่นี้ เหตุการณ์ที่พารากอนจึงมาจากการบ่มเพาะทางสังคมด้วย เพราะถึงแม้ไม่มีใครในบ้านและโรงเรียนที่สั่งสอนให้ผู้ก่อเหตุกระทำการดังกล่าว

แต่การที่เขาเสพสื่ออยู่ทุกวัน และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอื่นๆ ผ่านทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ ก็ได้ก่อร่างสร้างพฤติกรรมเช่นนี้ขึ้นมาทีละนิด

แล้วทำให้เกิดเหตุครั้งใหม่เลียนแบบเหตุเก่า ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แบบโดมิโน

 

เมื่อเปรียบเทียบกับ 6 ตุลาฯ กว่าที่มวลชนพวกนั้นจะเฮโลกันมาฆ่าคนที่ธรรมศาสตร์ได้ พวกเขาก็ต้องผ่านการรับข้อมูล และแลกเปลี่ยนโลกทัศน์ระหว่างคนใกล้ตัวมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่ารับข้อมูลตอนเช้าแล้วจะออกมาก่อเหตุตอนสายได้เลย

แต่ต้องผ่านการบ่มเพาะความคิดจิตใจมาอย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นเดียวกับกรณีที่พารากอน

อาจต่างกันอยู่บ้างตรงสื่อที่ปั่นและป้อนข้อมูลในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาจากวิทยุ หนังสือพิมพ์ สื่อมวลชน และหน่วยงานรัฐบางส่วน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสื่ออะนาล็อกในโลกออฟไลน์

ขณะที่ปัจจุบันมีทั้งอินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์มากมายให้เสพ ไม่ได้ถูกผูกขาดการล้างสมองแบบเมื่อ 47 ปีก่อน

แต่ถึงจะต่างกันเช่นนั้นก็ตาม อิทธิพลของสื่อและสังคมที่มีต่อความคิดและพฤติกรรมของปัจเจกชนก็ยังคงมีอยู่ไม่ต่างกัน

 

อีกด้านหนึ่งที่สองเหตุการณ์นี้มีเหมือนกัน คือทั้งสองเหตุการณ์มาจากการเกิดความรุนแรงลักษณะเดียวกันมาก่อน แล้วผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษ หรือไม่ก็ลอยนวลพ้นผิด ผู้คนจึงเห็นเป็นเยี่ยงอย่างและไม่ยำเกรงกฎหมาย

ในกรณี 6 ตุลาฯ ภาครัฐก็ปล่อยปละละเลยให้พวกขวาจัดก่อเหตุซ้ำๆ โดยเอาผิดไม่ได้ หรืออาจจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ พอสะสมไปนานเข้า คนต่อๆ มาจึงเหิมเกริมและย่ามใจ จนสามารถยกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งพุ่งทะลุปรอทที่ธรรมศาสตร์ในที่สุด

เมื่อเทียบกับเหตุที่พารากอนแล้วจะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดเหตุที่คล้ายคลึงกัน แต่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษเช่นกัน และการพัฒนาประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุร้ายก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างน่าพอใจด้วย หลังเกิดเรื่องทุกครั้งก็จะมีการเสวนา การระดมสมอง การอภิปรายกันอย่างมาก เพื่อถอดบทเรียนและหามาตรการป้องกันแก้ไข

แต่พอกระแสตกลง ความกระตือรือร้นก็จะหายไป และแทบไม่ได้ทิ้งมรดกอะไรที่ทำให้สังคมดีขึ้นเลย

ตัวอย่างเช่น ไม่พบว่ามีใครต้องรับผิดชอบกับเหตุจ่าคลั่งที่ห้างเทอร์มินอล 21 โคราช ปล่อยให้ความผิดนี้ตายตกไปกับตัวอาชญากรแต่เพียงผู้เดียว แล้วเรื่องก็เงียบ

ต่อมาก็เกิดเหตุที่หนองบัวลำภูซึ่งช็อกกันไปทั่วทั้งโลก แต่ในที่สุดเรื่องก็เงียบหายอีก

ซึ่งถ้ายังเป็นอีหรอบนี้ต่อไป ในอนาคตก็ไม่มีใครใช้ชีวิตอยู่อย่างอุ่นใจในสังคมได้

 

ผมเองก็เคยจัดเสวนาออนไลน์เรื่องนี้หลังเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู ในหัวข้อ “มองให้ไกลไปกว่าเหตุกราดยิง” โดยมีวิทยากรคือ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ และ ดร.ภควรรณพร พิศุทธิสุวรรณ รวมทั้งยังเขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้เมื่อช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2566 ในบทความเรื่อง “วาระแห่งชาติ 2566 อย่าปล่อยให้ไทยแลนด์ กลายเป็นแดนมิคสัญญี” อีกด้วย  ว่าปัญหานี้ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ประมาทไม่ได้ ไม่งั้นก็จะเกิดเหตุซ้ำอีก แล้วก็หลั่งไหลกันออกมาแสดงความเสียใจ แล้วก็จัดเสวนาถอดบทเรียน จากนั้นก็ค่อยๆ เลือนหายไป โดยไม่มีทั้งการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเหมาะสม และไม่มีการยกระดับมาตรฐานและมาตรการรับมือ เรื่องก็เลยกลายเป็นวังวนเช่นนี้ที่หมุนซ้ำกลับมาใหม่ไม่มีวันจบ

สิ่งสุดท้ายที่ทั้งสองเหตุการณ์นี้มีอยู่ร่วมกันก็คือ “ความเงียบ” เพราะเมื่อผ่านวันเกิดเหตุไปสักพัก ผู้คนก็จะไม่พูดถึงเรื่องราวเหล่านี้อีกทั้งโดยจงใจและไม่จงใจ

ที่ไม่จงใจก็คือลืมและหันไปสนใจเรื่องใหม่ๆ ที่ไหลเข้ามาในชีวิตได้ทุกวัน โดยธรรมชาติแล้วพอกระแสซาลงคนก็เลยลืมไปเองโดยอัตโนมัติ

ส่วนที่จงใจก็คือไม่อยากจะไปสะกิดแผลให้ต้องมาเศร้าโศกเสียใจกันอีก

และอีกเหตุผลหนึ่งคือตามคำโบราณที่ว่าเรื่องที่ผ่านไปแล้วก็อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บจะได้ไม่ต้องมีคนเดือดร้อน

แต่การหลีกเลี่ยงเช่นนี้ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขจริงๆ ทั้งยังไม่เกิดความตระหนักในการพัฒนาสังคมให้ปลอดภัยน่าอยู่ขึ้นด้วย

เหตุกราดยิงที่พารากอนแม้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเงียบเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ แต่ก็คงคาดเดาไม่ยากว่าต้องเงียบแน่ๆ และการที่เหตุนี้เกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็เพราะมีเหตุแบบเดียวกันในอดีตผ่านการเงียบมาก่อน ดังนั้น เมื่อมองในแง่นี้ ทั้ง 6 ตุลาฯ และพารากอนจึงน่าจะลงเอยไม่ต่างกัน

คือในที่สุดผู้คนก็เลือกอยู่อย่างเงียบงัน แทนที่จะจดจำแล้วพูดถึงอย่างมีวุฒิภาวะ เพื่อการแก้ไขไม่ใช่ตอกย้ำซ้ำเติม แต่เป็นความพยายามสร้างสรรค์สังคมที่ดีกว่า

 

เมื่อพิจารณาเช่นนี้ ความเงียบจึงมีคุณสมบัติประหนึ่งมารดาผู้ให้กำเนิดอาชญากร ซึ่งอำมหิตและน่าสะพรึงกลัวกว่าที่ใครหลายคนคิด

เพราะการเลี่ยงไม่เอ่ยถึงเหตุสะเทือนขวัญต่างๆ ทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และการสังหารหมู่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างจากผู้มีอำนาจหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง

อาจกลายเป็นการสนับสนุนส่งเสริมทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดเรื่องร้ายขึ้นมาอีกได้

ทั้งยังสร้างความเข้าใจผิดขึ้นมาโดยปริยายว่าเหตุร้ายแต่ละกรณีเป็นเพียงความผิดพลาดส่วนบุคคลเฉพาะตัวผู้กระทำผิดเท่านั้น

ทำให้มองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ สังคม สื่อ และผู้คน ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

อันเป็นแหล่งกำเนิดและบ่มเพาะอาชญากรหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา