ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
เมนูข้อมูล | นายดาต้า
‘ฝากความหวังไว้’ กับใครดี
ในหมู่ผู้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดย่อมรับรู้ว่าในมุมของการให้ราคาต่อ “อำนาจประชาชน” นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลยหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขแบบทำเป็นไม่เข้าใจว่ามีการสถาปนา “กลไกสืบทอดอำนาจ” ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หาข้ออ้างเพื่อละเลย หรือไม่เคลียร์ประเด็นที่เป็นหัวใจของการไม่ยอมรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยการสร้างวาทกรรมอย่าง “ประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศ” ขึ้นมา เพื่อเบี่ยงเบนไปจากความเป็นสากล
ความมุ่งมั่นที่จะต้องต่อสู้เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนอยู่ในพรรคฝ่ายที่อาศัยประชาชนส่งขึ้นสู่อำนาจมาตั้งแต่ก่อนการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น “พรรคเพื่อไทย” หรือ “พรรคก้าวไกล” ต่างประกาศเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นว่าต้องเริ่มต้นทำงานการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เพราะต่างเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำงานการเมืองด้วยความคิดในการให้เกียรติอำนาจประชาชน โดยไม่เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นหัวใจของกลไกสืบทอดอำนาจ
ทว่า เรื่องที่น่าเศร้าคือ หลัง “พรรคเพื่อไทย” ถูกสถานการณ์บังคับให้เปลี่ยนขั้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากพรรคที่ขบวนการสืบทอดอำนาจพ่ายแพ้การเลือกตั้งยับเยิน ความตั้งใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเลอะเลือนอย่างยิ่ง กระทั่งก่อความรู้สึกว่ามองเห็นแต่เจตนาลากแล้วยื้อให้ยาวออกไป
จนเกิดความไม่มั่นใจว่าจะมีใครจริงใจต่อการเยียวยาประชาธิปไตยให้กลับมาอยู่ในอำนาจประชาชน
ล่าสุด “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “แก้ไขรัฐธรรมนูญ…เอาไงดี?”
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสำเร็จภายในระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชุดปัจจุบัน ร้อยละ 46.03 ไม่เชื่อมั่นเลย, ร้อยละ 31.37 ไม่ค่อยเชื่อมั่น, มีแค่ร้อยละ 12.67 ที่ค่อนข้างเชื่อมั่น, ร้อยละ 6.80 เชื่อมั่นมาก ขณะร้อยละ 3.13 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้การเมืองไทยดีขึ้น ร้อยละ 37.95 ไม่เชื่อมั่นเลย, ร้อยละ 26.03 ไม่ค่อยเชื่อมั่น ขณะที่มีเพียงแค่ร้อยละ 19.31 ค่อนข้างเชื่อมั่น, ร้อยละ 15.11 เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 1.60 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เป็นที่รับรู้กันว่า ในห้วงเวลาแช่แข็งประเทศ เพื่อสร้างกติกาและสถาปนาขบวนการสืบทอดอำนาจทำให้การนำพาประเทศสู่ความเจริญรุ่งเรือง ก้าวพ้นจากประเทศด้อยพัฒนา มีปัญหาเดินหน้าไม่ได้ จนประเทศที่เริ่มต้นพัฒนาทีหลังทั่วทั้งโลกดูเหมือนจะนำประเทศไทยเราซึ่งเคยประกาศตัวเป็น “เสือตัวที่ 5” อย่างมีปัจจัยที่ทำให้เชื่อว่าเป็นได้จริงไปแล้ว
ชัดเจนที่สุดคือ “เวียดนาม” ซึ่งมีข้อจำกัดมากมายจากความเป็นประเทศฟื้นจากสงคราม ได้อาศัยเสถียรภาพ และเอกภาพทางการเมืองสร้างดัชนีชี้วัดความรุ่งเรืองในอัตราเร่งที่ก้าวไปข้างหน้ามากกว่าประเทศไทยเราแทบทุกเรื่อง
นานมาแล้วที่เราพูดถึง “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ซึ่งดูเหมือนทุกคนจะรู้ดีว่าเกิดจากการบริหารประเทศไม่สามารถจัดการให้ “ความเหลื่อมล้ำ” ลดลงได้ คนส่วนใหญ่ยังถูกจำกัดโอกาสการสร้างฐานะ สร้างเนื้อสร้างตัว ขณะที่ระบบยังเอื้อต่อ “ใครมือยาว สาวได้สาวเอา” และที่เป็นต้นเหตุให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่ได้ คือ “การสืบทอดอำนาจทางการเมือว ที่เอื้อต่อการผูกขาในโอกาสแสวงประโยชน์จากประเทศ”
และต่างรู้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้” เป็นกติกาที่ก่อให้เกิดสภาวะดังกล่าว
ก่อนหน้าการเลือกตั้ง กระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อคืนความเสมอภาค เท่าเทียมแห่งโอกาสในทุกมิติให้ประชาชนมีคสามคึกคักอย่างยิ่ง
ซึ่งควรเป็นหนทางต้องจัดการให้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นการทำงานการเมืองที่คิดถึงประโยชน์ของประชาชน และโอกาสก้าวสู่ความรุ่งเรืองอย่างแท้จริง
กลับกลายเป็นว่า ถึงวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนความคิดมาเป็นความไม่เชื่อมั่นต่อนักการเมือง ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจแทนไปเสียอย่างนั้น ทั้งที่ความไม่เชื่อมั่นในรัฐธรรมนูญยังมีอยู่เต็มเปี่ยม
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า หาก “นักการเมือง” ซึ่งเป็น “ผู้แทนอำนาจประชาชน” สร้างความเชื่อมั่นให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้เสียแล้ว ประเทศชาติจะมีความหวังในการพัฒนาสู่ควมเจริญรุ่งเรืองจากใคร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022