โน้สเล่นตลก ไม่ควรถูกยัดคดี

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

โน้สเล่นตลก

ไม่ควรถูกยัดคดี

 

โน้ส อุดม แต้พานิช เป็นเบอร์ต้นและแทบจะเป็นเบอร์เดียวของวงการเดี่ยวไมโครโฟนในเมืองไทยในรอบสามสิบปี

สำหรับคนทำงานในอุตสาหกรรมการแสดง อายุงานขนาดนี้คือการยืนระยะที่ไม่ใช่ทุกคนทำได้ ถึงแม้จะมีคนแซวว่าโชว์เดี่ยวของโน้สในช่วงหลังเอาใจแมสมากไปจนไม่ค่อยมีอะไรใหม่ก็ตาม

ไม่ว่าจะในศิลปะแขนงไหน ข้อถกเถียงว่างานแต่ละชิ้นใหม่หรือไม่มีอะไรใหม่เป็นข้อถกเถียงอมตะที่พูดเมื่อไรก็ถูกตลอด เพราะมนุษย์มีอารยธรรมเป็นพันปี ใครทำอะไรจึงมีโอกาสที่จะ “ไม่ใหม่” ซ้ำยังมีโอกาสที่จะซ้ำรอยหรือได้แรงบันดาลใจมาจากของเก่าในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม

อย่างไรก็ดี “ใหม่” หรือ “ไม่ใหม่” เป็นเรื่องเปรียบเทียบซึ่งคำตอบขึ้นอยู่กับว่าเปรียบอะไรกับอะไร

การวิพากษ์วิจารณ์ว่าโน้ส “ไม่ใหม่” จึงต้องบอกว่า “ไม่ใหม่” เมื่อเทียบกับอะไรเสมอ

เช่น โน้สพูดเรื่องที่คนอื่นเคยพูดมาแล้ว หรือโน้สไม่มีอะไรใหม่เมื่อเทียบกับผลงานของโน้สในอดีตเอง

วอลเทอร์ เบนจามิน พูดไว้นานแล้วว่า “ออร่า” หรือ “บารมี” ของงานศิลปะขึ้นอยู่กับความเป็น “ของจริงแท้” (Authenticity) กับการสาธยายบริบททางวัฒนธรรม (Enunciation)

และถ้าหากมองในแง่นี้ “ความใหม่” หรือ “ไม่ใหม่” จึงอาจไม่ใช่มาตรฐานเดียวในการประเมินว่างานศิลปะไหนดีหรือไม่ดี

 

โชว์ล่าสุดของโน้สจุดชนวนให้คนในสังคมพูดถึงทั้งคนที่ดูแล้วและอาจไม่ได้ดูเลย เพราะโน้สพูดเรื่อง “ตอแหล” และ “พอเพียง” ซึ่งเป็นเรื่องที่มีคนจำนวนมากแสดงความเห็นอยู่แล้ว ไม่ว่าโน้สจะพูดหรือไม่พูดก็ตาม

แต่การพูดเรื่องนี้ก็กลบเรื่องอื่นๆ อย่าง “เด็กเอน” หรือ “ผู้ใหญ่ไม่น่าเคารพ” ไปโดยปริยาย

ล่าสุด ชนวนที่คุณโน้สจุดได้ลามเป็นการยัดคดี 112 ให้คุณโน้สและ Netflix ที่เผยแพร่การแสดงของคุณโน้สไปแล้ว เช่นเดียวกับการสร้างกระแสจากรองโฆษกรัฐบาล, อดีตนายพลตำรวจ และอดีต ส.ส. ว่าให้ประชาทัณฑ์และตั้งศาลเตี้ยกระทืบคุณโน้สได้เลย

โดยพื้นฐานแล้วคุณโน้สพูดคำว่า “ตอแหล” โดยไม่มีความหมายเฉพาะเจาะจงถึงใคร แต่ในบริบทโชว์ที่พูดเรื่องซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์ คำว่า “ตอแหล” ได้เกิดจุดอ้างอิงให้คนฟังนึกไปถึงหัวหน้าพรรคการเมืองที่ถูกวิจารณ์ว่าตระบัดสัตย์และไม่ตรงไปตรงมาได้ไม่ยาก ถึงแม้ตัวโน้สจะไม่ได้ระบุชื่อใครแม้แต่คนเดียว

คำคือข้อมูลซึ่งความหมายถูกสื่อสารได้หลายทาง ทางที่หนึ่งคือความหมายตามคำนั้นโดยตรง อีกทางคือความหมายในบริบทที่คำนั้นถูกพูด หรือแม้กระทั่งความหมายที่เกิดจากการไม่พูดออกมา หมาจึงหมายถึงหมาหรือสุนัขก็ได้ ส่วนคำว่าชาติหมาก็หมายถึงคนที่มีพฤติกรรมไม่ดีโดยเอาหมาเป็นคำเปรียบเปรย

ไม่มีใครบอกได้ว่าโน้สพูดคำว่า “ตอแหล” โดยจงใจหมายถึงใคร ตัวโน้สอาจไม่ได้คิดถึงใครเลยก็ได้ แต่ทันทีที่คำถูกพูดออกไป คำถูกตีความโดยผู้ฟังในพื้นที่สาธารณะให้เกิดความหมายใหม่ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับที่คุณโน้สพูด

แต่คุณโน้สเองก็ไม่สามารถจะผูกขาดการให้ความหมายไว้ที่ตัวเองคนเดียวได้เลย

 

โดยปกติของการเมืองยุคนี้ต้องจบด้วยคุณโน้สเจอ “ทัวร์ลง” แต่จะเพราะรัฐบาลเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใช้สื่อโจมตีคนเห็นต่าง, เพราะสถานีโทรทัศน์ของพรรคแกนนำถูกปิด หรือเพราะมีการเปลี่ยนทีมแบกคอยบรีฟงาน คุณโน้สกลับเจอถล่มด้วยเรื่อง “พอเพียง” โดยที่ยังไม่เจอทัวร์ลงจากคำที่พาดพิงพรรคการเมืองเลย

คุณโน้สพูดถึง “พอเพียง” ในบริบทของงานแสดงซึ่งต้องการให้เกิดอารมณ์ขันในหมู่คนดู กลไกของการทำให้คนซึ่งไม่ขำเกิดความขำจนระเบิดเสียงหัวเราะออกมาคือการล้อในเรื่องซึ่งคนเข้าถึงได้มากที่สุด ตลกจึงต้องพูดเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจเพื่อให้สื่อสารได้จนการล้อไม่แป้กจนเกิดเสียงหัวเราะได้ทันที

ข้อหาที่คุณโน้สถูกถล่มจนนำไปสู่การฟ้อง 112 และตั้งศาลเตี้ยประชาทัณฑ์คือคุณโน้สล้อเลียน “เศรษฐกิจพอเพียง” แต่ประเด็นคือคุณโน้สพูดถึงคำว่า “พอเพียง” ไม่ใช่คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งพูดตรงๆ แล้วเป็นคำที่คุณโน้สไม่ได้เอ่ยถึงในการแสดงของตัวเองเลยแม้แต่ครั้งเดียว

คำว่า “พอเพียง” ในงานแสดงของคุณโน้สคือ “รสนิยม” ซึ่งหมายถึง “วิถีชีวิต” หรือ “ไลฟ์สไตล์” และอะไรที่เป็นวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ก็เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างชอบไม่เหมือนกัน ไม่มีใครมีรสนิยมเหนือกว่าใคร และก็ไม่มีไลฟ์สไตล์ใครด้อยกว่าใคร

และที่แน่ๆ ทั้งหมดนี้เป็นคนละเรื่องกับ “เศรษฐกิจพอเพียง”

 

โชว์ของคุณโน้สพูดถึงตัวเองว่าไม่ได้มี “วิถีชีวิต” หรือ “ไลฟ์สไตล์” แบบพอเพียงในแง่ของการไม่ชอบทำนา, ไม่ชอบตากแดด และไม่ชอบเกี่ยวข้าวเอง ยิ่งกว่านั้นคุณโน้สบอกตรงๆ ว่าตัวเองชอบชีวิตแบบ “ผู้บริโภค” ไม่ใช่ “ผู้ผลิต” ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการวิจารณ์ใครมากไปกว่าการล้อเลียนตัวเอง

เมื่อผู้ชมหัวเราะที่คุณโน้สบอกว่าตัวเองใช้ชีวิตแบบผู้ผลิตหรือเกษตรกรแบบพอเพียงไม่ได้ เมื่อนั้นผู้ชมกำลังขำที่ตัวเองก็ไม่สามารถตากแดดเกี่ยวข้าวแล้วใช้ชีวิตแบบพอเพียงได้เช่นเดียวกับที่คุณโน้สพูด แต่ทั้งหมดนี้คือการล้อเลียนตัวเองของคุณโน้สที่ทำให้ผู้ชมล้อเลียนตัวเองไปด้วยพร้อมๆ กัน

รองประธานสภาอย่าง “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา พูดถูกว่าสิ่งที่คุณโน้สทำคือการพูดตลกล้อตัวเองว่าใช้ชีวิตแบบพอเพียงไม่ได้อย่างไรบ้าง

และถ้าคนเราล้อตัวเองแล้วจบด้วยการถูกยัดคดี 112 ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าการใช้ 112 มีปัญหาในสังคมไทยจริงๆ

 

“พอเพียง” ในแง่ “ไลฟ์สไตล์” ต่างจากคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งในสังคมไทยถูกเชื่อมโยงกับพระราชดำรัสที่มีสถานะคลุมเครือว่าคืออะไรระหว่างพระราชนิยม, กฎหมาย, นโยบายรัฐ หรือค่านิยมที่สังคมควรยึดถือ การพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องตั้งต้นว่ากำลังพูดถึงเรื่องนี้ในสถานะไหนตลอดเวลา

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้า “เศรษฐกิจพอเพียง” ถูกใช้ในความหมายของพระราชนิยม “เศรษฐกิจพอเพียง” ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรที่ใครไปละเมิดได้

แต่ถ้า “เศรษฐกิจพอเพียง” ถูกพูดถึงในฐานะนโยบายรัฐหรือค่านิยมของบุคคล การแสดงความเห็นต่อนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงหรือไลฟ์สไตล์ก็สามารถทำได้ตลอดเวลา

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวคิดที่รัฐไทยในทศวรรษ 2540 ต่อยอดจากนักเศรษฐศาสตร์กระแสรองและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการพัฒนาชนบทที่เห็นว่าประเทศพังพินาศจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จากการเติบโตที่เร็วเกินไปจนคนจำนวนมากบริโภคเกินตัวจนเจ๊งและหมดตัวทันทีที่เศรษฐกิจประเทศพัง

ในบริบทประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย “เศรษฐกิจพอเพียง” ถูกมองว่าคือด้านตรงข้ามของ “ทักษิโณมิกส์” ซึ่งถูกมองเป็นนโยบายประชานิยมที่อัดงบกระตุ้นให้เศรษฐกิจโตเกินศักยภาพจนระบบเศรษฐกิจพัง “เศรษฐกิจพอเพียง” ในแง่นโยบายจึงพูดถึงได้และเห็นต่างได้ เพราะรัฐบาลนี้และรัฐบาลก่อนก็ไม่ทำนโยบายนี้เลย

จากรัฐบาลคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เน้นแจกเงินผ่านนโยบายคนละครึ่ง และรัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน ที่แจกเงิน 5 แสนล้านบาท ประเทศไทยวันนี้ไม่ได้ดำเนินนโยบายแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” แน่ๆ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร เพราะการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลไหนก็ทำได้ตลอดเวลา ถึงแม้จะไม่มีใครพูดออกมาตรงๆ

แน่นอนว่าคำว่า “พอเพียง” ในฐานะวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์มีความแตกต่างกับคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”

แต่เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงคำว่า “พอเพียง” เมื่อนั้นก็ควรตระหนักด้วยว่ามีโอกาสที่คนจะคิดว่ากำลังพูดถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” จนทำให้เกิดความสับสนและขัดแย้งอย่างที่กำลังเกิดในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ดี ต่อให้คนจำนวนหนึ่งคิดว่าคุณโน้สวิจารณ์ “เศรษฐกิจพอเพียง” ทั้งที่คุณโน้สไม่ได้พูด นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณโน้สควรถูกดำเนินคดีและประชาทัณฑ์ไปด้วย

เพราะความไม่พอใจคำพูดคุณโน้สไม่ควรเป็นเหตุให้ใครมีสิทธิดำเนินคดีคุณโน้สได้เลย หากไม่มีอะไรพิสูจน์ว่าคุณโน้สทำอะไรผิดจริงๆ

คุณโน้สอาจไม่เหมาะที่พูดเรื่อง “พอเพียง” โดยไม่รอบคอบจนคนหงุดหงิดว่าวิจารณ์ “เศรษฐกิจพอเพียง”

แต่ความหงุดหงิดไม่ใช่ฐานของความผิดทางกฎหมาย ไม่อย่างนั้นประเทศนี้ก็คงมีตำรวจหรือกฎหมายเพื่อเอาผิดคนที่ทำให้หงุดหงิดหัวใจ

ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วคือระบอบศาลเตี้ย ไม่ใช่หลักนิติรัฐหรือนิติธรรม