วิชาปรัชญาควรอยู่ตรงไหน ในระบบการศึกษาไทย โจทย์ใหม่ของกระทรวงศึกษาฯ

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

วิชาปรัชญาควรอยู่ตรงไหน

ในระบบการศึกษาไทย

โจทย์ใหม่ของกระทรวงศึกษาฯ

 

เมื่อได้ยินชื่อวิชา “ปรัชญา” เชื่อแน่เลยว่าหลายคนในเมืองไทยก็อาจฉงนสงสัยว่าวิชานี้เรียนเรื่องอะไรกันแน่

อีกคำถามหนึ่งที่ผู้คนนึกไม่ค่อยออกก็คือ “เรื่องสายงานวิชาชีพ” ว่าคนที่ร่ำเรียนจนจบสาขาวิชานี้ในมหาวิทยาลัยจะไปประกอบอาชีพอะไร

ความงุนงงที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทยนี้สะท้อนถึงรากฐานทางการศึกษาที่ไม่แข็งแรงอันเป็นผลพวงจากระบบการศึกษาแบบตัดแหว่ง

ซึ่งมาจากความพยายาม “เรียนลัด” ด้วยการรับและลอกเลียนภูมิปัญญาและองค์ความรู้ของโลกตะวันตกมาเฉพาะปลายยอด

คือเลือกหยิบมาศึกษาเรียนรู้และเลียนแบบแต่เฉพาะเทคนิคและวิธีการในทางปฏิบัติของศาสตร์ต่างๆ เท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น หากเรียนสาขาวิศวกรรมโยธาในประเทศไทยก็จะได้ศึกษาวิชาในสายงานของวิศวกรโยธามากมาย

ขณะที่มีวิชาพื้นฐานของภูมิปัญญาความรู้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อันได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นต้น วิชาเหล่านี้แม้จะมีประโยชน์มากก็จริง แต่ไม่ได้มีสถานะเป็น “แม่” หรือบ่อเกิดของ “ศาสตร์” (science) ต่างๆ ดังนั้น จึงไม่ได้ส่งผลต่อความรู้ความเข้าใจรากฐานขององค์ความรู้ในวิชาชีพนั้น

วิชาที่เป็นพื้นฐานของวิศวกรรมศาสตร์คือคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ แต่วิชาที่เป็นแม่หรือรากฐานของศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ด้วยก็คือวิชาปรัชญา

ทว่า วิชาจำพวกปรัชญาทั้งหลายนั้นไม่ได้รับการบรรจุอยู่ในหลักสูตรเลย

เมื่อขาดความเข้าใจรากฐานจึงไม่แปลกอะไรที่บุคลากรเหล่านี้แม้จะมีมากมายแต่ก็ไม่ได้ผลิตองค์ความรู้ใหม่ให้กับโลกมากนัก

ปัญหาเช่นนี้ในไทยไม่ได้เกิดกับวิชาใดวิชาหนึ่งหรือวงวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดกับทุกวิชาชีพ

ในขณะที่คนซึ่งเรียนจนจบสาขาวิชาปรัชญาโดยตรงก็มักกระจายตัวไปประกอบวิชาชีพต่างๆ ที่หลากหลาย เนื่องจากไม่ค่อยมีงานที่ต้องการคนมีทักษะทางปรัชญาอย่างเห็นได้ชัดไปทำงานด้วย

คนที่ทำงานตรงสายปรัชญาจริงๆ ก็เหลือแต่เพียงอาจารย์และนักวิชาการสาขาปรัชญาเท่านั้น

อาจมีบ้างที่เป็นนักเขียนหรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์เรื่องปรัชญา

แต่วิชาชีพหลังนี้จะมีรายได้พอเลี้ยงตัวเองและดูแลคนอื่นในครอบครัวหรือไม่ก็เห็นท่าจะลำบากอยู่

เมื่อสาขาวิชาต่างๆ ในหลักสูตรระดับอุดมศึกษาของไทยแทบไม่มีวิชาปรัชญาเลย เพราะฉะนั้น จึงทำให้เกิดสภาพการณ์อย่างน้อยสามประการคือ

(1) การไม่แน่ใจหรือไม่เข้าใจว่าวิชาปรัชญาอะไรคืออะไร ดังที่กล่าวมาว่าสภาพการณ์นี้ในสังคมไทยเป็นสิ่งที่เกิดให้เห็นได้อยู่ตลอดทุกยุคทุกสมัย

(2) เกิดการศึกษาที่เลือกรับเฉพาะองค์ความรู้แบบเร่งด่วน ที่มุ่งเลียนแบบทักษะวิธีการต่างๆ ของโลกตะวันตกเฉพาะตรงส่วนที่ปลายยอด เพื่อนำไปทำมาหากินแบบเฉพาะหน้า

(3) ไม่เอื้อต่อการสร้างภูมิปัญญาและองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งต้องอาศัยการสร้างขึ้นมาจากรากฐานของความรู้

ทำให้ท้ายที่สุดเกิดการวิ่งไล่ตามความรู้ ภูมิปัญญา เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของประเทศอื่นอยู่ฝ่ายเดียว มากกว่าที่จะวิ่งขึ้นไปแซงหรือมีบทบาทนำในการสร้างภูมิปัญญาความรู้ใหม่ให้กับโลกได้

 

ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นมากนักในประเทศมหาอำนาจของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น เนื่องจากได้รับการพัฒนาการศึกษาที่เข้มแข็งไปในทุกระดับ ทั้งระดับรากฐานและระดับปลายยอด

ตัวอย่างที่เห็นได้ก็เช่น ประเทศเหล่านี้มีความเป็นเลิศในการแข่งขันวิชาการระหว่างประเทศในทุกสาขาซึ่งรวมถึงสาขาปรัชญาด้วย

และมีนักวิชาการในระดับอุดมศึกษาที่มีศักยภาพทางวิชาการสูงมากในทุกสาขา รวมทั้งมีการบรรจุการเรียนการสอนวิชาปรัชญาหรือไม่ก็วิชาที่มีลักษณะเชิงปรัชญาให้เข้าไปอยู่ในการศึกษาระดับต่างๆ ตั้งแต่เด็กจนโตไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ทางตรงนั้นพบเห็นได้แพร่หลายทั่วไปในนานาประเทศแถบยุโรป ที่ขึ้นชื่อลือชาก็คือฝรั่งเศสซึ่งนักเรียนมีความคุ้นเคยกับทั้งวิธีการทางปรัชญา ความคิดของนักปรัชญา และเนื้อหาทางปรัชญา จนสามารถถกเถียงและเสนอความเห็นเรื่องปรัชญาที่ยากระดับเดียวกับห้องเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้

บรรยากาศภาพรวมของประเทศเหล่านี้จึงออกมาเป็น “ดินแดนของนักคิด” อันสัมผัสเห็นได้ในชีวิตประจำวันและในสื่อต่างๆ รอบตัว

 

ในบางประเทศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา แม้ไม่มีการบรรจุวิชาปรัชญาลงไปในหลักสูตรของเด็กนักเรียนโดยตรงตั้งแต่ชั้นประถม

แต่การเรียนการสอนก็สอดแทรกทั้งเนื้อหาและวิธีการทางปรัชญาอยู่เป็นระยะ

ตัวอย่างเช่น การเรียนภาษาอังกฤษก็อาจใช้หัวข้อ “What is the right thing to do? ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นหัวข้อทางปรัชญาในสาขา “จริยศาสตร์” (Ethics) ลงไปในเป็นประเด็นต่างๆ ให้ถกเถียง เด็กก็จะผลัดกันนำเสนอความคิดของตัวเองผ่านกรณีตัวอย่างที่ยกขึ้นมาให้ดีเบต

อาทิ เราควรโกหกพ่อแม่เรื่องเพื่อนที่โรงเรียนหรือไม่หากโกหกแล้วทำให้พ่อแม่สบายใจและไม่ทุกข์ ฯลฯ

นักเรียนก็จะมีโอกาสเปิดมุมมองความคิดให้กว้างขึ้น อดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง สามารถฝึกฝนการใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ที่พึงกระทำได้ด้วยตนเอง

เมื่อเด็กและเยาวชนผ่านบรรยากาศเช่นนี้ไปนานๆ เข้า พวกเขาจะมีวุฒิภาวะเร็วขึ้น เป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง เป็นคนมีเหตุมีผล มีจิตใจที่เปิดกว้าง กล้าแสดงออก ตลอดจนเมื่อเดินทางไปถึงการศึกษาขั้นสูงในระดับอุดมศึกษาแล้ว พวกเขาก็จะเข้าใจแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ได้โดยง่ายและคุ้นเคยกับการสนทนาถกเถียงในชั้นเรียน

ซึ่งต่างกับสังคมที่ใช้การศึกษาแบบวางอำนาจบังคับและอาศัยการปลูกฝังความเชื่อมากกว่ากระตุ้นให้ขบคิดที่จะส่งผลให้เด็กเติบโตมาเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ไม่มีเหตุผล จิตใจคับแคบ บ้าอำนาจ งมงายฝังหัว ไม่กล้าแสดงออก ไม่มั่นใจในตัวเอง ยอมรับและหวั่นกลัวต่อผู้มีอำนาจ

กลายเป็นคนเชื่องที่ยอมศิโรราบต่ออำนาจได้โดยง่าย หรือไม่ก็กะล่อนพลิกพลิ้วไปเลยแบบคนที่ปราศจากความหนักแน่นมั่นคงในหลักการ

 

สถานะของวิชาปรัชญาที่มีความสำคัญต่อองค์ความรู้ในโลกตะวันตกเช่นนี้ จึงทำให้หลายหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาของโลกตะวันตกบรรจุวิชาปรัชญาไว้ในฐานะที่เป็นพื้นฐานของศาสตร์ต่างๆ ซึ่งไม่ว่าแต่ละคนจะร่ำเรียนสาขาวิชาเอกอะไรต่างก็ต้องผ่านวิชาปรัชญามาแล้วไม่มากก็น้อย หรือบางหลักสูตรก็ออกแบบไว้ในฐานะที่เป็นแกนหลักของหลักสูตรเลย

ดังเช่นหลักสูตร PPE (Philosophy Politics and Economics) ที่มองว่าผู้นำทางการเมืองที่ครบเครื่องและสมบูรณ์จำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของนักปกครองทั้งสามเสา นั่นก็คือ ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์

(ผมเคยเขียนเรื่องนี้เอาไว้ในบทความเรื่อง ‘PPE’ ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรการสร้างผู้นำทางการเมืองในอุดมคติ” ตามลิงก์นี้ https://www.matichonweekly.com/column/article_704086 แต่โอกาสนี้ขออนุญาตแก้ไขข้อมูลเล็กน้อยคือหลักสูตรนี้มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย คือที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น ไม่ได้มีอยู่สองแห่งตามที่ได้เขียนไว้ในบทความข้างต้น)

อายุของวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยไทยแม้จะใหม่มาก คือเริ่มมีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2509 เท่านั้น หรือประมาณ 57 ปีที่ผ่านมานี้ (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ในบทความเรื่อง “ไม่มีปรัชญาในสังคมไทย และเหตุใดจึงต้องสร้างอโกรา” https://www.matichonweekly.com/column/article_653306)

แต่ก็นับว่านานมากแล้ว และสมควรที่จะขยับขยายไปสู่พื้นทางการศึกษาอื่นๆ ในสังคมไทยต่อไป หาใช่ลดทอนหรือตัดทิ้งแบบที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยตามหน้าข่าวในปัจจุบัน

นั่นคือควรขยายการเรียนการสอนวิชาปรัชญาลงไปในหลักสูตรระดับ “ก่อนมหาวิทยาลัย” ด้วย อาจเป็นการเรียนการสอนโดยตรงในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายปีสุดท้าย และการเรียนการสอนทางอ้อมในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายปีต้นๆ มัธยมศึกษาต้น และระดับประถมศึกษา ส่วนในรายละเอียดควรจะเป็นอย่างไร มากน้อยแค่ไหน

นี่เป็นโจทย์ที่ควรยกขึ้นมาหารือขบคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักการศึกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนต่อไปที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งใหม่ในไม่ช้านี้