ก่อนจะเละเป็น ‘โจ๊ก’

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เส้นทางชีวิตราชการ “สุรเชษฐ์ หักพาล” เจ้าของฉายา “โจ๊ก หวานเจี๊ยบ” โลดแล่นลื่นไหลและรุ่งโรจน์ชวนตะลึงพรึงเพรึด

โจ๊กจบ นรต.รุ่น 47 เริ่มรับราชการปี 2537 เป็นรองสารวัตร 6 ปีเป๊ะก็ขึ้นเป็น “สารวัตร” ด้วยความที่เป็นคนคล่องแคล่ว ใช้งานง่าย มีอัธยาศัยไมตรีเป็นที่ชื่นชอบของนายๆ ทำให้ในทุกจังหวะก้าว “โจ๊ก” ได้เลื่อนชั้นตามเกณฑ์ ขึ้นเป็นรอง ผกก. แล้วก็ขึ้นเป็น “ผกก.”

ใหญ่เบ้อเร่อที่ “สภ.หาดใหญ่” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา “ผบช.ภาค 9” ยุคนั้นน่าจะมีคำตอบ

จากนั้น “โจ๊ก” ก็โตพรวดพราด ขึ้นนั่งเก้าอี้ “รองผู้การสงขลา” พร้อมกับได้หน้าที่พิเศษเป็น “ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ส่วนหน้า” ได้นับอายุราชการทวีคูณ

ชั่วอึดใจภายหลังจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปีรุ่งขึ้น “โจ๊ก” ก็ขยับขึ้นติดยศ “พล.ต.ต.” ที่ตำแหน่ง “ผู้บังคับการ” ทำหน้าที่ประสานงานกับนายกรัฐมนตรีในปี 2558 ด้วยอายุเพียง 45 เป็นสายตรง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“โจ๊ก” หย่อนก้นแตะเก้าอี้ “ผบก.ประจำ” ได้แค่ 2 เดือนก็โยกไปนั่งเก้าอี้ “ผู้การตำรวจท่องเที่ยว” ในเดือนตุลาคม 2558

ถัดไปปีเดียว 2559 “โจ๊ก” ไปนั่งเก้าอี้ “ผู้การ 191” คุมหน่วยคอนมานโด นครบาล

ถัดไปปีเดียว 2560 “โจ๊ก” เลื่อนขึ้นเป็น “รอง ผบช.” ตำรวจท่องเที่ยว

ถัดไปปีเดียว 2561 “โจ๊ก” เลื่อนขึ้นเป็น “ผบช.” ตรวจคนเข้าเมือง ติดยศ “พล.ต.ท.” ด้วยอายุแค่ 48 ปี

 

ช่วงปี 2562 เส้นทางตำรวจ “โจ๊ก” สะดุดเล็กน้อยเพราะแตกคอกับ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ นายเก่า จนถูก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ใช้ ม.44 หยิบออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกับคำสั่งประหลาดๆ ว่า ให้รักษาจรรยาบรรณ ไม่ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงข้ามหัวผู้บังคับบัญชา

กระนั้นในปี 2564 “โจ๊ก” ก็คัมแบ๊กได้กลับไปนั่งเก้าอี้เทียบเท่า “ผู้ช่วย ผบ.ตร.” ในตำแหน่ง “ที่ปรึกษาพิเศษ สบ.9”

ถัดไปปีเดียว เดือนตุลาคม 2565 “โจ๊ก” ก็ขึ้นเป็น “รอง ผบ.ตร.”

ถัดไปอีกปี นั่นคือ ตุลาคม 2566 “โจ๊ก” ก็มีสถานะเป็น “รอง ผบ.ตร.” อาวุโสอันดับ 2 เตรียมจะขึ้นเป็น “ผบ.ตร.” ขณะที่อายุราชการยาวไกลอีก 8 ปี กว่าเกษียณก็กันยายน 2574

 

เส้นทางราชการตำรวจ “โจ๊ก” หาคนเทียบเคียงยากจริงๆ

แต่ฟ้าส่ง “โจ๊ก” มาเกิด ไฉนจึงมี “ต่อศักดิ์ สุขวิมล”

“ต่อศักดิ์ สุขวิมล” ไม่ใช่นักเรียนนายร้อยตำรวจ เดิมทำงานบริษัทน้ำมัน เพิ่งจะมารับราชการตำรวจทีหลัง

“ต่อศักดิ์” เพิ่งจะขึ้นเป็น “ผู้การ” เมื่อปี 2561 หรือภายหลัง “โจ๊ก” ถึง 3 ปี

จากนั้น…

ในปีถัดมา 2562 ขึ้นเป็น “รอง ผบช.ก”

ในปีถัดมา 2563 ขึ้นเป็น “ผบช.ก” หรือ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

ในปีถัดมา 2564 ขึ้นเป็น “ผู้ช่วย ผบ.ตร.”

ในปีถัดมา 2565 ขึ้นเป็น “รอง ผบ.ตร.” และ

1 ตุลาคม 2566 ขึ้นเป็น “ผบ.ตร.”

รวบรัด รวดเร็วราวไฮเปอร์ลูป อย่างนี้ก็มี

คำถามที่ควรจะถามกันจริงๆ “ต่อศักดิ์” มีดีอะไร หรือเหนือกว่า “โจ๊ก”

 

เพียงเวลา 5 เดือนก็พิสูจน์ชัดว่า “ต่อศักดิ์” เป็นผู้นำหน่วยตำรวจไปไม่รอด

หลังจากบริวาร “ต่อศักดิ์” ผบ.ตร. กับบริวาร “โจ๊ก” รอง ผบ.ตร. ซัดกันจนนายได้แผลเหวอะหวะ นายกรัฐมนตรีก็มีคำสั่งย้ายทั้ง 2 คนไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมมีคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

สัปดาห์ก่อนสงกรานต์ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง 1 ใน 3 กรรมการที่นายกฯ แต่งตั้ง แถลง “ปิดจ๊อบโจ๊ก” ว่า พบการฟอกเงินจากเส้นทางการเงินเว็บพนันออนไลน์มายังบัญชีม้าและเชื่อมโยงไปยัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ คณะกรรมการจึงมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันน่าเชื่อว่า 1.มีส่วนรู้ กับ 2.มีส่วนได้รับประโยชน์

พอหลังสงกรานต์ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ก็มีคำสั่ง ลงวันที่ 18 เมษายน 2567 ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พร้อมกับพวกอีก 4 คน “ออกจากราชการไว้ก่อน”

 

ย้อนไปดู “เหตุผล” นับว่าเข้าท่าทีเดียว!

“กฎ ก.ตร.” ว่าด้วย การสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการเอาไว้ก่อน พ.ศ.2547 ข้อ 3(1) ถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญา โดยผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการตำรวจ มีหน้าที่และอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา แต่กลับต้องหาว่า กระทำผิดทางอาญาเสียเอง ซึ่งเป็นคดีสำคัญ ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง

ได้โปรดเถอะ โปรดอ่านย่อหน้าข้างบนนี้ซ้ำอีกหลายครั้งก็ยังได้!

ถ้า “กฎ ก.ตร.” นี้ถูกใช้จริง และถูกใช้อย่างซื่อตรงกับทุกกรณี ใช้กับตำรวจทุกคนอย่างสม่ำเสมอและเสมอหน้ากัน วงการตำรวจจะไม่เลว ไม่เหลวแหลกดังเช่นในวันนี้

ทุกถ้อยคำในกฎ ก.ตร. ทุกสำนวนที่บัญญัติในกฎหมายตำรวจ ทุกบรรทัดความในระเบียบตำรวจที่เคยมีมา และยังคงมีอยู่ล้วนสะท้อนให้เห็น “เส้นแบ่ง” ระหว่าง “ตำรวจ” กับ “อาชญากร” ชัดเจน แจ่มแจ้งอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่คำถามก็คือ ทำไมตำรวจยังทำผิดทางอาญาร้ายแรงกันอยู่ทุกวัน ทำกันจนเป็นเรื่องปกติ ชักใยและรับเงินจากการพนันออนไลน์ รับส่วยรถบรรทุก พาลูกน้องนั่งดื่มกินบ้านผู้มีอิทธิพล ระดับนายพันชั้นสารวัตรถูกสมุนบริวารกำนันยิงตายคาโต๊ะอาหาร ตำรวจทั้งงานไม่มีใครกล้าจับมือปืนสักคน ตำรวจยังรับเงินแรงงานเถื่อน รับเงินจากธุรกิจผิดกฎหมายและยาเสพติดในพื้นที่ รับเงินจากขบวนค้ายาเสพติดอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีกรณีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่าเติบโต เจริญรุ่งเรือง เชิดหน้าชูคอ เป็นที่รักของนาย เป็นคนโปรดของผู้มีอำนาจ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะยังคง “เละตุ้มเป๊ะ” ต่อไป ลึกๆ แล้วตำรวจยังไม่กลัว “ความผิดทางอาญา” เพราะเชื่อกันว่านายยังคงโลภ โง่เขลา และขลาดกลัว

ไม่กล้าที่จะลงมือรักษา “กฎ” ไม่รักษากฎหมายอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา!?!!!