ไม่มีปรัชญาในสังคมไทย และเหตุใดจึงต้องสร้างอโกรา | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ตั้งชื่อบทความนี้ว่า “ไม่มีปรัชญาในสังคมไทย” คนอ่านก็คงงงกันเป็นแถบๆ ว่าหมายความว่าอย่างไรแน่

บางคนอาจเถียงขึ้นมาทันทีว่ามีสิ ทำไมจะไม่มี

แล้วก็ยกวาทะคำคมหรือคติสอนใจอะไรสักอย่างขึ้นมาเป็นตัวอย่างว่าคือปรัชญา เช่น “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน” “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” เป็นต้น

อีกพวกหนึ่งก็อาจจะยกหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาขึ้นมา หรืออ้างถึงพระเกจิอาจารย์จำนวนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางศาสนาพุทธ เช่น พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) หรือท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม หรือหลวงปู่ชาแห่งวัดหนองป่าพง ฯลฯ

ส่วนพวกที่เหลือก็อาจจะงงงวยหนักกว่าพวกแรก เพราะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ปรัชญา” คืออะไร หมายความว่าอย่างไร

ซึ่งก็ไม่แปลกเลย เพราะในสังคมไทยมีการใช้คำนี้ในหลายความหมาย

เมื่อเวลาใครสักคนยกคำว่าปรัชญาขึ้นมา จึงไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าหมายถึงความหมายใดกันแน่ หากไม่พิจารณาจากบริบทและเนื้อความทั้งหมด

 

สภาพเช่นนี้เป็นเรื่องที่แตกต่างอย่างมากจากโลกตะวันตก อันเป็นบ่อเกิดของปรัชญาในความหมายที่ใช้กันอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหลักสูตรการเรียนการสอนเชิงวิชาการที่มีขอบเขตถึงการแสวงหาความรู้ในปัญหาพื้นฐานซึ่งเป็นรากฐานของศาสตร์อื่นๆ ด้วย และเป็นมรดกตกทอดมาจากกิจกรรมทางปัญญาในสังคมกรีกโบราณเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว

ปรัชญาในความหมายแบบนี้นี่เองที่ชื่อบทความนี้ต้องการจะบ่งถึง

ปรัชญาในความหมายนี้แปลมาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “philosophy” ซึ่งก็มาจากภาษากรีกคือ “philosophia” อีกทอดหนึ่ง

โดยเป็นผลรวมจากคำ 2 คำ คือ philos ที่แปลว่าความรัก กับ Sophia ที่แปลว่าปัญญา (wisdom} หรือความรู้ (knowledge)

เพราะฉะนั้น คำว่า philosophy จึงความหมายว่า “love of wisdom” ส่วนปรัชญาก็แปลว่า “ความรักในปัญญาความรู้” นั่นเอง

กิจกรรมทางปัญญาเหล่านี้เกิดขึ้นในชุมชนชาวกรีกโบราณ ณ สถานที่ซึ่งเป็นย่านศูนย์กลางเมืองที่เรียกว่า “อโกรา” (Agora) หากจะเทียบกับพื้นที่เมืองในปัจจุบันก็คล้ายๆ กับย่านดาวน์ทาวน์ หรือถ้าจะเป็นสังคมไทยก็พอจะเทียบได้กับตลาด

อโกรานั้นมักจะตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่ก็มีบ้างที่ไปตั้งอยู่แถบท่าเรือตามริมทะเล

อโกราคือพื้นที่สาธารณะของเมืองที่ผู้คนมาใช้สอยร่วมกัน เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ กีฬา และศาสนา ประกอบไปด้วยตลาด โรงละคร สนามกีฬา หอประชุม ที่ว่าการเมือง โรงอาบน้ำ ฯลฯ

การที่ผู้คนออกมาใช้ชีวิตแลกเปลี่ยนสังสรรค์กันนี่เองได้ก่อให้เกิดการสนทนาในหัวข้อต่างๆ ขึ้น นับเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าปรัชญา

โดยเมืองที่มีลักษณะแบบนี้ปรากฏให้เห็นอย่างโดดเด่นที่สุดคือเอเธนส์

 

ทําให้เอเธนส์กลายเป็นอู่อารยธรรมที่สำคัญของโลกตะวันตกจากการชุมนุมกันของผู้คนที่รักในการแสวงหาปัญญาความรู้

กระทั่งในที่สุดได้พัฒนาและแตกแขนงต่อยอดกลายเป็นศาสตร์ต่างๆ อย่างในสมัยนี้

ผู้คนที่รักการแสวงหาปัญญาความรู้จึงได้ถูกเรียกว่า “นักปรัชญา” (philosopher)

และนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของกรีกก็คือโสกราตีส (Socrates) เพลโต (Plato) และอริสโตเติล (Aristotle)

ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นสามเสาหลักของปรัชญากรีก

ทั้งสามคนนี้มีความสัมพันธ์แบบครูกับศิษย์เรียงตามลำดับ โสกราตีสเป็นครูของเพลโต ส่วนเพลโตก็เป็นครูของอริสโตเติลอีกที

อย่างไรก็ตาม ทั้งสามคนนี้ไม่ได้มีความคิดเหมือนกัน ต่างคนต่างก็โดดเด่นไปในทางของแต่ละคนทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลโตกับอริสโตเติลที่มีฐานความคิดแบบกลับตาลปัตรกันเลยก็ว่าได้

การที่ศิษย์กับครูมีแนวคิดที่แตกต่างกันแต่สามารถสนทนาถกเถียงกันจนทำให้วิทยาการความรู้เจริญงอกงามได้ และยังเคารพนับถือซึ่งกันและกันอย่างมาก

ทำให้วัฒนธรรมการศึกษาแบบนี้กลายเป็นมรดกตกทอดที่ส่งต่อมาถึงวัฒนธรรมการศึกษาในโลกตะวันตกยุคปัจจุบันด้วย

มรดกตกทอดที่ว่านี้ไม่ใช่เพียงแต่ลักษณะของวัฒนธรรมการศึกษาเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่การเรียนรู้ในเชิงกายภาพ เพราะเพลโตได้ตั้งสถานศึกษาระดับสูงขึ้นเป็นกิจจะลักษณะชื่อว่าอคาเดมี (academy)

ซึ่งอิทธิพลเหล่านี้ ทั้งจากอคาเดมีเอง และบรรยากาศของสังคมอุดมปัญญาในนครรัฐกรีก ได้ส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงมหาวิทยาลัยในโลกสมัยใหม่

และทำให้วิทยาการตะวันตกเจริญก้าวหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้

ตัดฉากมาที่เมืองไทย การเรียนการสอนปรัชญาแนวตะวันตกในประเทศไทยเพิ่งถือกำเนิดมาไม่กี่สิบปีนี้เอง โดยมี ศ.ดร.วิทย์ วิศทเวทย์ ราชบัณฑิตสาขาปรัชญาผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นผู้ก่อตั้ง

เริ่มต้นจากการเปิดการเรียนการสอนเป็นรายวิชาขึ้นที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2509

ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นแผนกวิชาในปี 2514 และเป็นภาควิชาในปี 2522

ปัจจุบันนี้การเรียนการสอนวิชาปรัชญาได้แผ่ขยายไปในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ แต่ในช่วงหลังได้ถูกลดบทบาทลงตามลำดับเนื่องจากหลายสาเหตุ

ทั้งการที่ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้ให้ความสำคัญ

หรือการที่ไม่สามารถทำเงินตอบโจทย์สังคมทุนนิยมได้แบบชัดเจนทันที

หรือแม้กระทั่งการสร้างลักษณะของบัณฑิตที่ว่านอนสอนยาก คือชอบตั้งคำถาม สนทนาถกเถียง และไม่เชื่ออะไรง่ายๆ อันเป็นบุคลิกที่ผู้มีอำนาจและผู้ปกครองไม่ปลื้ม

จะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนปรัชญาในสังคมไทยนั้นเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานและดูเหมือนว่าทุกวันนี้จะไม่ได้มีอนาคตรุ่งเรืองมากนัก

ทั้งยังไม่ปรากฏว่ามีวิชานี้อยู่ในระดับโรงเรียนเลย

ซึ่งถ้าหากว่าวิชานี้เป็นความสนใจเฉพาะด้านของคนกลุ่มเล็กๆ ก็คงไม่เป็นไร

แต่ในเมื่อวิชานี้มีสถานะเป็นพื้นฐานของศาสตร์ต่างๆ ที่กำลังศึกษากันอยู่ในระบบการศึกษาแบบตะวันตกทั้งหมดก็เลยทำให้การศึกษาในสังคมไทยเป็นจำกัดอยู่เพียงการรับช่วงความรู้ที่ปลายยอดมาจากโลกตะวันตกเท่านั้น

แต่พื้นฐานความคิด ตลอดจนวัฒนธรรมในการค้นคิด ไม่ได้ถูกส่งต่อมาด้วย

ผลที่เกิดขึ้นก็ทำให้สังคมไทยเต็มไปด้วยใบปริญญาแต่หาการริเริ่มสร้างความรู้ใหม่ได้ยาก

การรับความรู้มาแบบจานด่วนจึงแก้ไขปัญหาเป็นการเฉพาะหน้า และต้องวิ่งตามไขว่คว้าความรู้ที่สังคมอื่นผลิตออกมาไปเรื่อยๆ

ครั้นเมื่อหันมามองสภากาแฟตามตลาดบ้านเราที่ดูประหนึ่งอโกราเมืองไทยก็ว่าได้ การสนทนาแลกเปลี่ยนและมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนก็ยังไม่ได้ขยับไปเป็นบ่อเกิดความรู้หรืออู่อารยธรรม

เพราะดูจะเป็นการออกความเห็นและติดตามสถานการณ์ทั่วไปแบบสัพเพเหระเสียมากกว่า

นอกจากนี้ การศึกษาที่ขาดรากฐานความเข้าใจยังส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากทั้งในสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ ที่เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในกิจการบ้านเมืองไม่ได้ตระหนักต่อพันธะทางเหตุผลอันเป็นที่มาของการตัดสินใจทางการเมืองที่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักการ

แต่อาศัยเล่ห์เหลี่ยมไหวพริบในการซิกแซ็กปรับเปลี่ยนการวินิจฉัยและออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ไปเรื่อยตามธงทางการเมือง

ความสำคัญของวิชาปรัชญาในทัศนะของผู้เขียนจึงไม่ใช่เพราะว่ามันจะทำให้เกิดรายได้อย่างปัจจุบันทันด่วนในสังคมทุนนิยม

แต่เป็นการสร้างบรรยากาศทางปัญญาที่เปิดกว้าง และวางรากฐานทางสังคมที่เอื้อต่อการค้นคว้าหาความรู้และผลิตวิทยาการต่างๆ ออกมาได้

รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้การศึกษามีหลักที่มั่นคงหนักแน่นอันส่งผลต่อศักยภาพในการคิดวิเคราะห์วิจารณ์สิ่งต่างๆ รอบตัว

นับตั้งแต่ปรัชญาตามขนบแบบกรีกอุบัติขึ้นเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว สังคมไทยก็ดูเหมือนยังไม่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมแบบนั้นออกมาได้เท่าไหร่

ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมแม้จะจบการศึกษาระดับปริญญากันเต็มประเทศ แต่ก็ยังงงงวยเมื่อได้ยินคำว่าปรัชญา และไม่เข้าใจว่าสาขานี้เขาเรียนอะไรกัน ในร้านหนังสือก็แทบไม่มีหนังสือด้านนี้

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้เขียนเลือกใช้ชื่อคอลัมน์ของตัวเองว่าอโกรา เพราะคิดว่าการสร้างชุมชนที่มีบรรยากาศแบบอโกราเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากกับสังคมไทย

แต่ครั้นจะให้ไปตั้งวิทยาลัยใหญ่โตแบบอคาเดมีของเพลโต ก็ยอมรับว่ายังไม่มีปัญญาทำได้

ดังนั้น ก็เลยใช้หน้ากระดาษและเว็บไซต์ทดแทนไปพลางๆ ก่อนก็แล้วกัน