เริ่มต้นการต่อสู้ สู่สังเวียน ‘เลือก ส.ว.’

วันที่ 30 เมษายน สื่อในเครือมติชนเพิ่งเปิดแคมเปญการทำข่าว “มติชน : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select” เพื่อเตรียมพร้อมเกาะติดกระบวนการ “เลือก ส.ว.” ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นและดำเนินไปตลอดเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคมนี้

จุดยืน-หลักการของเครือมติชน ก็คือ ในฐานะสื่อมวลชน เราพยายามจะทำให้ “การเลือก ส.ว.” มี “ความปกติ” มากกว่า “ไม่ปกติ” เป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้าง มากกว่าเป็นเรื่องปิดลับมิดชิดของคนไม่กี่กลุ่ม และเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนมีความกระตือรือร้นทางการเมือง มากกว่าจะเฉื่อยชาและปล่อยผ่านให้การเมืองเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจหยิบมือเดียว

ดังถ้อยแถลงของ “สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร” บรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ ที่ระบุเอาไว้ว่า

“ยืนยันว่าสื่อในเครือมติชน ทั้งมติชนรายวัน ข่าวสด มติชนสุดสัปดาห์ ศูนย์ข้อมูล มติชนทีวี สื่อในเครือทุกฉบับทุกเล่ม พวกเราอยากจะทำให้ความต้องการของใครก็ตาม ที่จะทำให้การเลือก ส.ว. คราวนี้ เป็น ‘การเลือกตั้ง’ ที่เงียบที่สุด แต่เราจะพยายามทำให้เสียงดังที่สุด”

ในวันแถลงข่าว “มติชน : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select” ยังได้มีผู้คนจากหลากหลายแวดวงที่สนใจและใส่ใจกับการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ มาร่วมแสดงทัศนะผ่านเวทีสนทนาแบบเปิด

โดยหลายท่านได้แสดงความห่วงใย กังวล อึดอัดใจ ไปพร้อมๆ กับการยังมีความหวังในการต่อสู้ ดังตัวอย่างความคิดเห็นต่อไปนี้

เริ่มต้นด้วย “จีรนุช เปรมชัยพร” อดีต ผอ.เว็บไซต์ประชาไท และสมาชิกเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ที่วิจารณ์กติกาการเลือก ส.ว. ไว้อย่างน่ารับฟัง

“เราเรียกมันว่าเป็น ‘กติกาที่กลัวอนาคต’ ตั้งแต่พยายามจะกีดกันไม่ให้คนที่อายุต่ำกว่า 40 ปี เข้าร่วมในกติกานี้ อันนี้เป็นอันดับแรก

“แล้วมันก็ยังเป็นกติกาที่กลัวอนาคต โดยการกำหนดข้อจำกัดในการแนะนำตัวของผู้สมัคร คือเราได้ยิน กกต.พูดว่า แนะนำตัวได้เฉพาะสิ่งที่เป็นประสบการณ์ในอดีต แต่ไม่สามารถให้เราพูดถึงสิ่งที่เราตั้งใจจะทำในอนาคต มันไม่มีอะไรอธิบายไปได้มากกว่าเขากลัวอนาคต

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำ ก็คือต้องพยายามไม่ให้เขามาปิดกั้นอนาคต อันนี้ เราคิดว่านี่คงเป็นความตั้งใจของหลายๆ คนที่เข้ามาสู่สนามการแข่งขัน ซึ่งถามว่าหลายคนเชื่อไหม? เราเชื่อว่าหลายคนไม่ได้เชื่อ แต่ทางไหนสู้ได้ ก็คงต้องสู้”

ขณะ “อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์” วิศวกรและตัวแทนผู้ผลักดันสิทธิของคนพิการ ได้แสดงความห่วงใยไปถึง กกต. ว่า

“อีกหนึ่งประเด็นเลยที่กังวลอยู่ ถ้าในวันที่มีการโหวต ไม่รู้ว่าการจัดการของ กกต. เขามีระเบียบในการจัดการดูแลกลุ่มผู้สมัครที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายอย่างไรบ้าง?

“ด้วยความพิการที่เกิดขึ้น บางคนอาจจะใช้วีลแชร์ เครื่องช่วยความพิการต่างๆ ถ้าสถานที่-สภาพแวดล้อมที่มีบันไดสูงมาก แล้วเขาให้เลือกเป็น ‘ระบบปิด’ ใช่ไหม ก็คือ (ผู้สมัคร) จะอยู่ข้างในกันเอง คราวนี้ ปัญหาหนึ่งก็คือว่าสำหรับคนที่มีข้อจำกัดมากๆ ที่จำเป็นจะต้องมีผู้ช่วยที่ต้องคอยเข้าไปช่วยเหลือ ทาง กกต.มีการรองรับหรือคุยกันไว้มากน้อยแค่ไหน?

“เช่น ถ้าเกิดผมเข้าไป แล้วอาคารนั้น ห้องน้ำมีบันไดต้องขึ้นไปอีก แล้วขณะนั้น ที่ผมอยู่ข้างใน ผมไม่รู้ต้องรออีกกี่ชั่วโมงที่จะเสร็จกระบวนการ แล้วผมต้องเข้าห้องน้ำ ผมจะเข้าอย่างไร? แล้วจะมีใครคอยช่วยดูแลจัดการ? ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย”

กระนั้นก็ตาม อรรถพลยังมีความเชื่อว่าตนเองจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในรอบนี้

“ในสถานะของประชากรคนหนึ่ง ในสถานะพลเมืองของประเทศนี้ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ว่าจะมิติไหนก็แล้วแต่ ผมว่าอันนี้มีความสำคัญ

“เพราะฉะนั้น ก็ถ้าใครคุณสมบัติได้ อายุถึง 40 ปี แล้วคิดว่าพร้อมจะทำงาน พร้อมจะเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลง อันนี้ก็ไม่ต้องลังเลใจ แต่ต้องดูเงินในกระเป๋าด้วยว่ามี 2,500 บาทหรือไม่?

“อย่างผมนี่ รู้ข่าวว่าใกล้จะหมดวาระของ ส.ว.ชุดเก่า ผมเริ่มเก็บตังค์เบี้ยยังชีพของคนพิการเดือนละ 800 บาทเลยนะ เก็บมาทุกเดือน ก็งดซื้อแพมเพิร์สไปหลายเดือนหน่อย

“ภายใต้กติกาที่มันบิดเบี้ยว หรือข้อจำกัดที่มันผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ ที่นำมาสู่การเลือก ส.ว.ในครั้งนี้ ผมคิดว่ามันอาจจะดูมีความหวังน้อย แต่คิดว่าเรายังไม่แพ้ ถ้าเรายังสู้อยู่”

เช่นเดียวกับอดีตผู้พิพากษาอาวุโสอย่าง “นคร พจนวรพงษ์” ที่ให้กำลังใจคนธรรมดาผู้ประสงค์จะลงสมัครเป็น ส.ว. ในเดือนพฤษภาคมนี้ เอาไว้ว่า

“ผมขออนุญาตพูดถึงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เขาบอกว่านักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีต ท่านได้ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่ชั่วร้ายเสมอมา ท่านต้องเสียชีวิต ท่านต้องเสียเลือดเนื้อ ท่านต้องถูกจองจำ ท่านต้องหลบหนีออกนอกประเทศ หรือต้องหลบเข้าป่า

“ซึ่ง (ใน) การปกครองระบอบประชาธิปไตยนี้ (มี) การต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การต่อสู้ฉากเดียวจบหรือม้วนเดียวจบ ขณะนี้ เราๆ ท่านๆ ก็ยังต่อสู้อยู่มิใช่รึ?” •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน