‘PPE’ ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรการสร้างผู้นำทางการเมืองในอุดมคติ

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

‘PPE’ ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์

หลักสูตรการสร้างผู้นำทางการเมืองในอุดมคติ

 

ช่วงนี้เป็นฤดูกาลเปิดเทอมของหลายมหาวิทยาลัย รวมทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผมสอนอยู่ด้วย

ในหัวก็เลยมีแต่เรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนวนเวียนอยู่เต็มสมองไปหมด

โอกาสนี้จึงขอนำแนวคิดเรื่องการผลิตผู้นำทางการเมืองในอุดมคติมาเล่าสู่กันฟังเสียหน่อย

และเป็นการนำเสนอในแบบที่ไม่ใช่การโฆษณา แต่หวังว่าจะขยายความรู้ความเข้าใจของการศึกษาในลักษณะนี้ไปสู่ประเทศไทยในวงกว้างให้มากขึ้น

เหตุผลที่คิดเช่นนั้นก็เพราะตั้งแต่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรนี้ ผมพบว่าคนไทยโดยทั่วไปแทบไม่มีใครรู้จักการเรียนการสอนโปรแกรมนี้เลย ทั้งๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับเหตุบ้านการเมืองของไทยพอสมควร

นอกจากนั้น ยังมีความเห็นจำนวนไม่น้อยที่เมื่อทราบว่านักศึกษาต้องร่ำเรียนถึง 3 สาขาวิชาในปริญญาใบเดียว ก็ยิ่งฉงนสงสัยว่าจะไม่เป็นการยำรวมแบบจับฉ่ายอย่างนั้นหรือ จะทำให้ไม่รู้ลึกในศาสตร์ใดสักอย่างหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น การได้อธิบายว่าแนวคิดของการศึกษาแบบนี้คืออะไร และเหตุใดจึงต้องเรียน 3 สาขาวิชานี้เป็นหลัก จึงน่าจะมีประโยชน์ต่อประชาชนโดยทั่วไปในสังคมไทยด้วย ไม่เพียงแต่เฉพาะนักศึกษาและผู้ปกครองบางกลุ่มเท่านั้น

 

หลักสูตรการศึกษาที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้มีชื่อเรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่า “PPE” ซึ่งย่อมาจาก “Philosophy Politics and Economics” แปลเป็นไทยในชื่อว่า “ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์”

เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษ จัดการศึกษาในแบบ “สหวิทยาการ” คือรวมสาขาวิชาหลายสาขาเข้ามารวมอยู่ในหลักสูตรเดียวกัน มีบัณฑิตที่จบสาขานี้ได้เติบใหญ่ไปเป็นผู้นำทางการเมืองคนสำคัญมากมาย

เอาแค่เฉพาะในเมืองไทยก็มีคนที่จบหลักสูตรนี้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้วถึง 2 คน คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ.2518-2519 และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ.2551-2554

ส่วนนักการเมืองรุ่นล่าสุดที่จบ PPE และเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันก็คือ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ หลานของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่นเอง

ที่น่าสังเกตคือทั้งสามคนล้วนแล้วแต่จบจากสถาบันการศึกษาเดียวกันทั้งสิ้น นั่นคือจบจาก “มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด” (University of Oxford) ประเทศสหราชอาณาจักร อันเป็นต้นกำเนิดหลักสูตรนี้เมื่อช่วง ค.ศ.1920 หรือเมื่อราวๆ 103 ปีที่แล้ว

การที่หลักสูตรนี้มองว่าวิชาปรัชญา วิชาการเมือง และวิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการเป็น “ผู้นำทางการเมือง” ที่มีศักยภาพ ครบเครื่องในมิติหลักสามด้านของการปกครองสังคมสมัยใหม่ หรือเป็นผู้นำทางการเมืองในอุดมคตินั่นเอง คือมีทักษะพื้นฐานทางปรัชญา อันได้แก่ ศักยภาพในการคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ แยกแยะ และใช้เหตุผล

ตลอดจนสมรรถภาพในการเข้าใจพื้นฐานความคิดทฤษฎีต่างๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งท้ายที่สุดแสดงออกมาให้เห็นผ่านกระบวนการสื่อสาร ทั้งพูด ฟัง อ่าน และเขียน

ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการพูด ดังนั้นนักการเมืองที่ศึกษาแบบ PPE จึงขึ้นเวทีดีเบตเก่งทุกคน เช่น ม.ร.วคึกฤทธิ์ ปราโมช อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพริษฐ์ วัชรสินธุ

หรือผู้นำทางการเมืองในต่างประเทศที่ผ่านการศึกษาหลักสูตร PPE ก็มีคุณลักษณะแบบนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น “ริชี ซูแน็ก” นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน หรือนางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรค NLD ผู้นำทางการเมืองคนสำคัญของเมียนมา

การที่บัณฑิตที่ผ่านด่าน PPE มามีความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นผู้นำทางการเมืองอย่างครบครันและครอบคลุมหลายมิติ ประกอบกับตัวอย่างของนักการเมืองมากมายที่ไม่ว่าแต่ละคนจะชอบหรือไม่ชอบเขาก็ตาม ก็จะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพวกเขาเหล่านี้เก่งและแกร่งในทางการเมือง

โดยเฉพาะอย่างเมื่อต้องขึ้นเวทีดีเบต การถกเถียง และการปราศรัย ซึ่งเป็นความสามารถที่ได้รับการบ่มเพาะมาจากการฝึกฝนในวิชาปรัชญา

 

อีกสองสาขาวิชาก็คือการเมืองกับเศรษฐศาสตร์ การเมืองนี่คงไม่ต้องขยายให้มากความอยู่แล้ว เนื่องจากชื่อก็บอกตรงๆ แต่ถึงชื่อจะบ่งบอกชัดเจนก็ต้องเข้าใจด้วยว่า “การเมือง” มีความหมายที่กว้างกว่า “รัฐศาสตร์” จึงทำให้สามารถหยิบจับทุกเรื่องขึ้นมาคิดวิเคราะห์ในเชิงการเมืองได้หมด

ส่วนเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ต้องอธิบายมากมายเช่นกัน เพราะความรู้เรื่องเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขหรือคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของผู้นำทางการเมืองในสังคมสมัยใหม่มานานนมแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อผลผลิตของ PPE จากที่ออกซ์ฟอร์ดเป็นที่เลื่องชื่อไปทั่วจึงทำให้เกิดการขยายหลักสูตรนี้ไปทั่วโลกครบทุกทวีป

มหาวิทยาลัยชั้นนำในทวีปเอเชียเองก็มีหลักสูตรนี้อยู่มากมาย เช่นที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยแห่งขาติโซล ประเทศเกาหลีใต้ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์

ส่วนในประเทศไทยมีอยู่เพียงสองแห่งเท่านั้นคือที่มหาวิทยาลัยรังสิต และที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติคนที่ผ่านหลักสูตร PPE มาก็ไม่ได้เข้าสู่แวดวงการเมืองทั้งหมด บางคนเข้าสู่แวดวงการเมืองก็จริงแต่ไม่ได้เป็นผู้นำทางการเมือง เฉกเช่นเดียวกับคนในสาขาอื่นๆ เช่น จบวิศวกรรมศาสตร์ไม่ได้ทำงานเป็นวิศวกรทุกคน คนจบนิติศาสตร์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ทำงานเป็นนักกฎหมาย

ดังนั้น สภาพการณ์นี้จึงถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเส้นทางการศึกษาที่แต่ละคนต่างก็มุ่งไปตามทางของแต่ละคน

แต่ถึงแต่ละคนจะมีเส้นทางที่แตกต่างกัน จุดมุ่งหมายของหลักสูตรก็ยังคงอยู่ และมีโอกาสได้เห็นคนที่มีศักยภาพพื้นฐานของสามสาขาวิชานี้ที่ผ่านการหลอมรวมเข้าไปอยู่ในตัวบัณฑิตแต่ละคน รอคอยเวลาที่จะเปล่งแสงแสดงพลังออกมา ผ่านการทำงานในภาคปฏิบัติ เช่น การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน เมือง หรือประเทศ การบูรณาการปัญญาความรู้ไปสู่การสร้างโครงการการพัฒนาในด้านต่างๆ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ

ซึ่งลำพังการรู้วิชาการในห้องเรียนจากสาขาวิชาเดียวอาจไม่เพียงพอ

ดังที่ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ได้กล่าวไว้ใน facebook ของตัวเองหลังจากที่มาบรรยายในวันปฐมนิเทศนักศึกษา PPE ที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันจันทร์ ที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมานี้ว่า

สำหรับผม ทั้ง 3 ศาสตร์ ใน PPE มีส่วนสำคัญในการช่วยเราในการตัดสินใจเรื่องยากๆ

Philosophy (ปรัชญา) = “หลักการ” ในการตัดสินใจ

Politics (การเมือง) = “กระบวนการ” การตัดสินใจ

Economics (เศรษฐศาสตร์) = การ “คาดการณ์” การตัดสินใจ

ในเมื่อโลกนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนทำให้คนแต่ละรุ่นเติบโตมาในโลกที่แตกต่างกันมากขึ้นและมีจุดเด่นหรือความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันมากขึ้น โลกใบนี้จำเป็นต้องถูกขับเคลื่อนโดยคนทุกรุ่น และจำเป็นต้องเปิดบทบาทให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำมากขึ้น – ดังนั้น ผมหวังว่าในเร็วๆ นี้ที่หลายคนจะเติบโตมาเป็นผู้นำในสาขาอาชีพของตนและต้องเผชิญสถานการณ์ยากๆ ที่ต้องตัดสินใจในเรื่องที่กระทบคนจำนวนมาก

สิ่งที่ทุกคนได้เรียนในสาขา PPE เกี่ยวกับศาสตร์แห่งการตัดสินใจ จะเป็นประโยชน์ในการช่วยนำทางให้ทุกคนตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและอย่างมีหลักการ ในการเลือกสิ่งที่ “ถูกต้อง” สำหรับประชาชน