ภูมิทัศน์ใหม่เหนือสาละวิน! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หลังจากกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ประสบความสำเร็จในการทำสงครามเพื่อผลักดันกำลังรบของกองทัพพม่าออกไปจากพื้นที่ภาคเหนือของประเทศแล้ว สถานการณ์สงครามขยับตัวลงใต้ตามแนวตะเข็บชายแดนไทยอย่างชัดเจน และกลายเป็น “ความท้าทายทางยุทธศาสตร์” ที่สำคัญทั้งต่อรัฐบาลไทยและรัฐบาลทหารเมียนมา อันเป็นผลของพลวัตทางการเมืองและการทหารที่ถูกขับเคลื่อนควบคู่กันไป ด้วยชัยชนะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการสู้รบในหลายพื้นที่ หรือที่อาจกล่าวในภาพรวมได้ว่า รัฐบาลทหารและกองทัพเมียนมากำลังตกอยู่ในภาวะ “ถดถอยทางยุทธศาสตร์” อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ในสถานการณ์ปัจจุบัน การถดถอยทางยุทธศาสตร์เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากการสูญเสียเมืองหลักที่มีความสำคัญทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจคือ “เมืองเมียวดี” … กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเข้าควบคุมเมือง และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คือ การชักธงชาติกะเหรี่ยงเหนือเมืองเมียวดี ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นหลักของกองทัพรัฐบาล อันมีนัยทางยุทธศาสตร์ในอีกด้านว่า ตลอดแนวลุ่มน้ำสาละวินนั้น อำนาจรัฐกำลังถูก “เปลี่ยนมือ” จากพื้นที่ที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร กลายเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์แทน

การเปลี่ยน “ภูมิทัศน์” ทางการเมืองของลุ่มน้ำสาละวิน ย่อมมีผลกระทบทางยุทธศาสตร์ทั้งต่อรัฐบาลทหารที่เนปิดอร์ และรัฐบาลพลเรือนที่กรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นความท้าทายต่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย อันอาจกล่าวได้ว่า เรากำลังเห็น “ภูมิทัศน์การเมืองใหม่” ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเข้าควบคุมเมืองเมียวดีเท่านั้น หากแต่เป็นพื้นที่ใหม่ทางการเมืองตลอดแนวลุ่มน้ำสาละวินที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลางในแบบเดิม

สำหรับรัฐบาลทหารแล้ว การเปลี่ยนภูมิทัศน์เช่นนี้มีทางแก้ไขได้ประการเดียวคือ การส่งกำลังรบเพื่อยึดเมียวดีกลับคืนให้ได้ หรือคำถามสำคัญในทางยุทธศาสตร์ทหารคือ “การตอบโต้กลับทางทหาร” ของกองทัพเมียนมา (counteroffensive ) จะประสบความสำเร็จจริงเพียงใด หรือว่า สิ่งที่ปรากฎในสื่อไทยบางส่วนคือ เหยื่อการปล่อยข่าวเพื่อผลทางจิตวิทยาของทหารเมียนมา ในแบบของงาน ปจว. ว่า พวกเขากำลังเปิดการเข้าตีใหญ่เพื่อเอาเมียวดีคืน

คำถามในทางยุทธการคือ ความต้องการในยุทธศาสตร์ทหารที่จะรุกตอบโต้เอาเมียวดีคืนนั้น เป็นความจริงเพียงใด เนื่องจากกองทัพเมียนมาอิดโรยจากการรบอย่างมาก และเกิดภาวะเสียขวัญกำลังใจอย่างมาก จากความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ตลอดรวมถึงการที่ผู้นำทหารระดับสูงถูกโจมตีด้วยโดรน หรือการโจมตีโรงเรียนนายร้อย ส่งผลให้ทหารเกิดความกลัวไม่อยากรบ และเกิดการหนีทหารเป็นจำนวนมาก

ภาวะเช่นนี้ ทำให้ความต้องการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารเมียนมา ที่จะ “พลิกเกมส์” ชิงเอาเมียวดีคืน พร้อมกับกระชับอำนาจรัฐทหารตลอดแนวลำน้ำสาละวินในปัจจุบันนั้น อาจเป็นเพียง “ฝันกลางแดด” ในฤดูร้อนหลังสงกรานต์เท่านั้นเอง!

ภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่เหนือลุ่มน้ำสาละวินย่อมมีนัยทางยุทธศาสตร์โดยตรงต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในมิติด้านความมั่นคง เพราะเป็นพื้นที่ของ “ยุทธศาสตร์แนวกันชน” เดิม ที่รัฐบาลและกองทัพไทยในยุคหนึ่งถือเป็นแนวนโยบายหลัก อันส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อย่างลึกซึ้ง แต่นโยบายนี้ถูกทิ้งไปไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว ด้วยการที่รัฐบาลกรุงเทพมองว่า ทิศทางไทยจะถือเอารัฐบาลทหารเป็นจุดหลักของนโยบายเท่านั้น และไม่ใส่ใจกับความสัมพันธ์แบบเก่าที่มีการเชื่อมต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์

การมาของภูมิทัศน์ใหม่เช่นนี้ เป็น “เสียงนาฬิกาปลุก” ที่ผู้นำรัฐไทยในระดับสำคัญและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเตรียมพิจารณา “ยุทธศาสตร์ไทย” ต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและความมั่นคงในเมียนมา เพราะสถานการณ์กำลังเปลี่ยนไปจากความคุ้นเคยในแบบเดิมของผู้นำไทยอย่างสิ้นเชิง

ชุดกระบวนทัศน์เก่าทางยุทธศาสตร์ของผู้นำไทยอาจจะต้องนำมาพิจารณาทบทวนอย่างจริงจัง และจะต้องไม่ใช่การสร้าง “ความเพ้อเจ้อทางยุทธศาสตร์” ในแบบของผู้นำทหารหลังรัฐประหาร 2557 ทำขึ้นภายใต้แนวคิด “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” เพราะยุทธศาสตร์ฉบับนั้นล้มละลายไปหมดแล้ว นับตั้งแต่เจอกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 และยิ่งต้องเผชิญกับภูมิทัศน์ทางการเมืองของยุค “สงครามเย็นใหม่” และการมาของสงครามการเมืองเมียนมา ที่กำลังสร้าง “วิกฤตมนุษยธรรม” ชุดใหญ่ในภูมิภาคด้วยแล้ว “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ก็เป็นเพียง “สินค้าตกยุค” ไปทันที

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่มีความผันแปรจากเงื่อนไขสงครามในประเทศเพื่อนบ้านที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยแล้ว การจัดวาง “ยุทธศาสตร์ไทย” เป็นหัวข้อสำคัญที่ผู้มีอำนาจของรัฐไทยควรจะต้องนำมาพิจารณาด้วยความใคร่ครวญ เพราะไม่ใช่เพียงการเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากการเข้ามาของผู้หลบภัยสงครามเท่านั้น หากยังต้องพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบในทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว และทั้งมีปัญหาการขยายอิทธิพลของกลุ่ม “จีนเทา” ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นโจทย์ความมั่นคงอีกส่วนที่ท้าทายรัฐบาลไทย และกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเจ้าของพื้นที่อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ภูมิทัศน์ใหม่เหนือลุ่มน้ำสาละวินคือ คำตอบในตัวเองที่บอกแก่เราว่าถึงเวลาแล้ว ที่รัฐไทยจะต้องคิดเรื่องนี้ด้วยกระบวนทัศน์ทางยุทธศาสตร์ใหม่ … หลักการทางยุทธศาสตร์มีคำตอบประการเดียวว่า ภูมิทัศน์ใหม่ไม่สามารถตอบได้ด้วยยุทธศาสตร์เก่า !