เวนิสตะวันตก ความเป็นตะวันตกที่มาไม่ถึงตะวันออก (1)

Venice historical regatta (1950s) โดย Giorgio de Chirico แสดงที่ Museo Carlo Bilotti. กรุงโรม

ถึงแม้เวนิสจะเป็นแรงบันดาลใจให้เมืองเวนิสตะวันออกมากมาย รวมทั้งเวนิสตะวันออกแบบไทยๆ อย่างกรุงเทพฯ

แต่จะมีสักกี่เวนิสตะวันออกกัน ที่จะเอาจริงเอาจังกับการเรียนรู้ ซึมซับ รับเอาจิตวิญญาณชาวตะวันตกแบบเวนิส

เรื่องราวของเวนิสที่เป็นที่รู้จักกันในสังคมไทยส่วนหนึ่งมาจากพระราชนิพนธ์เรื่อง เวนิสวาณิช ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงถ่ายทอดมาจากบทละคร The Merchant of Venice ของวิลเลียม เช็กสเปียร์ (William Shakespeare, 1564-1616)

บทละครนี้เล่าเรื่องพ่อค้ากับสหายที่มีกิจการค้าขายทางเรือแล้วไปเป็นหนี้นายทุนเงินกู้ชาวยิวจนคดีความกัน ท้ายที่สุดก็มีการขึ้นศาลต่อสู้คดีกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ เช็กสเปียร์เองนั้นไม่เคยได้เดินทางไปเวนิสด้วยตนเองเลย

เขาไม่เคยไปที่ไหนในอิตาลีเลยด้วยซ้ำ หากแต่เขาได้แต่งบทละครที่มีอิตาลีเป็นสถานที่ดำเนินเรื่องถึงอย่างน้อย 9 เรื่อง

มากพอๆ กับเรื่องที่มีอังกฤษเป็นสถานที่ดำเนินเรื่อง และมากถึง 1 ใน 3 ของบทละครทั้งหมดของเขา

เวนิสวาณิชเป็นหนึ่งในนั้น ที่รู้จักกันดีอื่นๆ ก็เช่น โรมิโอกับจูเลียต โอเธลโล

 

ไม่ว่าจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงเลือก เวนิสวาณิช มาถ่ายทอดเป็นไทย

สาระที่ผมคิดว่าน่าสนใจส่วนหนึ่งคือ

ข้อแรก การที่ เวนิสวาณิช เล่าถึงความเป็นนักแสวงโชคด้านการค้าทางทะเลของชาวเวนิส

ข้อสอง การเล่าถึงชาวยิวในเวนิสยุคร่วมสมัยกับเช็กสเปียร์เอง คือช่วงศตวรรษที่ 16 อันเป็นช่วงที่ชาวยิวในเวนิสมิได้มีอิสระแบบกลุ่มชนอื่นๆ ที่นับถือศาสนาคริสต์หรืออิสลาม ชาวยิวที่เป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในเรื่องนั้นต้องเป็นผู้หนึ่งที่ถูกกักกันอยู่ใน “เก็ตโต”

และข้อสาม การที่ระบบการปกครองของเวนิสนั้นเป็นสาธารณรัฐ ทำให้การฟ้องร้องดำเนินคดีทำผ่านกระบวนการยุติธรรมที่มิได้อยู่ใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของกษัตริย์

ถ้าพูดแบบวิชาการสักหน่อยแล้ว แท้ที่จริง เวนิสวาณิช มีฉากหลังเป็นพหุสังคมหลากชนชาติ (plural society) อันเนื่องมาจากการเป็นเมืองการค้า (mercantilism) และมีระบอบการเมืองการปกครองแบบสาธารณรัฐ (republic) ความเป็นเวนิสด้านการค้านำมาซึ่งความเป็นเมืองพหุชาติพันธุ์ไปโดยปริยาย

เวนิสเป็นตัวอย่างของ “คตินิยมพลเมืองโลก” (cosmopolitanism) ที่เปิดกว้างต่อผู้คนอันหลากหลาย

นอกจากการอยู่ตรงกลางระหว่างเอเชียกับยุโรปแล้ว เวนิสยังเป็นดินแดนเชื่อมต่อระหว่าง 3 ศาสนาสำคัญของโลกสมัยใหม่

ได้แก่ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนายิว

ด้านในของสุเหร่า 2 แห่ง แห่งหนึ่งของชาวยิวลิแวนต์ อีกแห่งของชาวยิวสเปน

ว่ากันเฉพาะชาวยิว ก่อนหน้าศตวรรษที่ 14 ชาวยิวไม่ได้รับอนุญาตให้พำนักที่เวนิส

หากแต่เมื่อบทบาทด้านการค้าของชาวยิวเอื้อต่อประโยชน์ของเวนิสมากขึ้น เวนิสจึงยินยอมให้เกิดชุมชนชาวยิวขึ้น เพียงแต่พวกเขาต้องถูกจำกัดบริเวณอยู่ในย่านหนึ่ง

ชุมชนชาวยิวที่เวนิสจึงนับได้ว่าเป็นชุมชนชาวยิวที่เป็นที่มาของพื้นที่กักกันชาวยิวแห่งแรกในโลกที่เรียกในภาษาเวนิสว่า “เก็ตโต” (ghetto) ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16

คำว่าเก็ตโตมาจากคำว่า “เจ็ตโต” (getto) ในภาษาเวนิส ที่หมายถึงการหล่อโลหะ เนื่องจากถิ่นนั้นเป็นที่ทิ้งและหลอมโลหะของเมือง ชาวยิวเองก็ประกอบอาชีพหล่อโลหะเช่นกัน

แต่เมื่อชาวยิวถูกกักบริเวณที่นั่น แล้วชาวยิวกลุ่มแรกที่มาอยู่คือชาวยิวเยอรมัน ที่ออกเสียงแบบเวนิสไม่ได้ จึงแผลงคำนี้เป็น “เก็ตโต”

แล้วคำนี้จึงกลายมาเป็นคำเรียกที่กักกันชาวยิว จนภายหลังภาษาอังกฤษแบบอเมริกันก็รับคำนี้ไปใช้หมายถึงย่านที่พักอาศัยของคนจนเมือง

แรกทีเดียวในต้นศตวรรษที่ 16 เก็ตโตเป็นอาณาบริเวณจำกัด ก่อนการล่มสลายของสาธารณรัฐเวนิสใน ค.ศ.1797 ย่านที่พักของชาวยิวแห่งนี้มีการปิดทางเข้าออกในยามวิกาล โดยมีพวกคริสเตียนคอยลอยเรือควบคุมการเข้าออกอยู่ในคลองรายรอบชุมชนชาวยิว

การกักกันนี้เนื่องมาจากข้อตกลงระหว่างเมืองเวนิสกับศาสนจักรคริสต์ ที่ต้องการกีดกันอำนาจของชาวยิวด้วยเงื่อนไขทางศาสนา

ชาวยิวในเวนิสหลั่งไหลมาจากหลายถิ่นในยุโรปในหลายรุ่นด้วยกัน เช่น ชาวยิวอัชเกน มาจากดินแดนที่กลายเป็นประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส

พวกเขาเป็นกลุ่มแรกที่ตั้งถิ่นฐานที่เวนิสนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14

จากนั้นชาวยิวจากฝรั่งเศสก็อพยพตามมา หลังจากนั้นชาวยิวจากในอิตาลีตอนกลางและเหนือ ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก ก็ย้ายเข้ามาอยู่ในเก็ตโตเช่นกัน กลุ่มที่ค่อนข้างมีอิทธิพลทางการค้ามากกว่า ทว่า ย้ายเข้ามาในภายหลัง คือชาวยิวลิแวนต์ (Levant คือดินแดนเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก) และชาวยิวจากสเปน

ชาวยิวทั้ง 5 กลุ่มต่างอาศัยอยู่ในย่านเก็ตโตและต่างก็มีสุเหร่ายิว (synagogue) ของชาวยิวแต่ละกลุ่มถึง 5 แห่งด้วยกัน

สุเหร่าชาวยิวเยอรมันด้านนอก อาคารที่มีหน้าต่างโค้งมนด้านบนคืออาคารสุเหร่า