E-DUANG : บทเรียน สมาชิก วุฒิสภา จากปี 2562 มาถึงปี 2567

ยิ่งระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือก”สมาชิกวุฒิสภา”มีความเข้มข้นมากเพียงใด ยิ่งทำให้ภาพแห่งการเลือก”สมาชิกวุฒิสภา”เมื่อปี 2562 มีความน่าสนใจมากเพียงนั้น

แม้ว่ากกต.จะรับผิดชอบเพียงการเลือก 50 คน เป็นเพียงส่วนประกอบเมื่อเทียบกับอีก 200 ในมือ ”คสช.”แต่การได้มาของ 50 สว.ในกระบวนการ”เลือก”ก็สำคัญ

อย่างน้อยแต่ละกระบวนการที่กกต.เข้าไปมีส่วนก็ได้กลายมาเป็นบทเรียนอย่างทรงความหมายสำหรับการเลือก 200 สมาชิกวุฒิสภาในปี 2567

เพราะว่าอยู่ในความรับผิดชอบของ”คณะกรรมการการเลือก ตั้ง” หรือ”กกต.”โดยสมบูรณ์

เหตุใดบทสรุปที่ว่าการเลือก”สมาชิกวุฒิสภา”เมื่อปี 2562 เป็น”การเลือกที่เงียบที่สุด”จึงเป็นบรรยากาศที่กกต.พยายามรักษาเอาไว้อย่างเต็มที่

หากไม่มีการเคลื่อนไหวของ”ภาคประชาชน” ไม่ว่าจะเป็นไอลอว์ ไม่ว่าจะเป็นคณะก้าวหน้า เป้าหมายในการอนุรักษ์”การเลือกที่เงียบที่สุด”คงไม่ถูกท้าทาย

ภาพการเลือก”สมาชิกวุฒิสภา”เมื่อปี 2562 เป็นอย่างไร

 

หากไปถามพรรคเพื่อไทย หากไปถามพรรครวมไทยสร้างชาติ หากไปถามพรรคพลังประชารัฐ หากไปถามพรรคภูมิใจไทย หาก ไปถามพรรคชาติไทยพัฒนา คงไม่ได้คำตอบ

ยิ่งพรรครวมไทยสร้างชาติ ยิ่งไม่สนใจ ยิ่งพรรคพลังประชารัฐยิ่งไม่สนใจ

เพราะทุกอย่างอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แม้ว่าใน 52 อำเภอไม่มีผู้สมัคร  679 อำเภอมีผู้สมัครไม่ครบ

แม้ว่าใน 5 จังหวัดมีผู้สมัครไม่ครบ จึงเข้ารอบทั้งหมด แม้ว่ามีเพียง 10 จังหวัดมีการเลือกกันเองครบทั้ง 10 วิชาชีพ

มีจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 7,210 คน ผ่านระดับอำเภอ ผ่านระดับจังหวัดเข้าสู่ระดับประเทศ 2,746 คน คิดแล้วเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนผู้สมัคร

กระบวนการทั้งหมดกกต.ตั้งงบประมาณ 1,303 ล้านบาทเพื่อให้ได้”การเลือกตั้งที่เงียบที่สุด”มา

 

หากมองจากสถานการณ์การเลือกตั้ง”บอร์ดประกันสังคม”ก็จะเห็นเป้าหมายที่เหมือนกับการเลือก”สมาชิกวุฒิสภา”

บนฐานแห่ง”รัฐธรรมนูญ”ที่ DESIGN เพื่อ”พวกเรา”

ทำไมการจัดการเลือกตั้ง”บอร์ดประกันสังคม”จึงเริ่มต้นภายในความเงียบ ทำไมบทบาทของกกต.ต่อการเลือก”สมาชิกวุฒิสภา”ต้องการจำกัดวง จำกัดกรอบ

ทั้งหมดอยู่บนเจตจำนงอันปรากฏผ่าน”รัฐธรรมนูญ”ทั้งๆที่บทบาท”วุฒิสภา”มีความสำคัญในการกำหนดทิศทาง”อำนาจ”