ข้อเรียกร้อง ‘สุรชาติ บำรุงสุข’ สิ่งที่ ‘เศรษฐา-รัฐไทย’ ควรทำ ต่อสถานการณ์ใน ‘เมียนมา’

(Photo by YE AUNG THU / AFP)

“ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ให้สัมภาษณ์รายการ “The Politics” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เมื่อวันที่ 8 เมษายน

ถึงประเด็นสถานการณ์การสู้รบล่าสุดในเมียนมา

และท่าทีที่รัฐไทยพึงแสดงต่อสถานการณ์ดังกล่าว

“ประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์ต่อปัญหาเมียนมาจริงๆ โจทย์ที่มันใหญ่คือการออกแบบยุทธศาสตร์

“วันนี้ สมมุติสถานการณ์การเมืองในเมียนมามันเบาบางลง การเปิดการเจรจาต้องเริ่ม ผมคิดว่าผมอยากเห็นรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพ (หรือ) เป็นคนกลางก็แล้วแต่ แต่ขอไม่ใช้ว่าเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผมไม่ชอบคำนั้น

“เราจะต้องคุยกับทุกฝ่ายให้ลงตัว ด้วยการจับทุกฝ่ายมารวมกัน แล้วในการจับทุกฝ่ายมารวมกัน เราต้องการการสื่อสารระยะใกล้ คือการพูดคุยกับทั้งจีนและอินเดีย เพราะชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ทางฝั่งจีนและอินเดีย

“แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า โจทย์สันติภาพในเมียนมาเกี่ยวข้องกับรัฐมหาอำนาจ ก็อาจจะต้องมีสหรัฐ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวแสดงสำคัญในพม่ามาตลอด รวมถึงออสเตรเลีย แปลว่าเราอาจจะต้องดึงตัวละครภายนอกมามากขึ้น รวมทั้งอันหนึ่งที่ทิ้งไม่ได้คืออาเซียน

“เราต้องเล่นบทว่าไทยคือตัวแทนอาเซียน ไทยจะต้องดึงประธานอาเซียนคือลาวเข้ามาร่วมด้วย ผมยืนยันเสมอว่าเราจะไม่ทิ้งลาว ไม่ทิ้งอาเซียน เราเล่นบทเป็น ‘เด็กแว้น เด็กเกเร’ ในอาเซียนในช่วงรัฐบาลก่อน เราต้องหยุดพฤติกรรมอย่างนั้น

“พอเป็นอย่างนี้ เราจะดึงอาเซียนเข้ามาภายใต้ ‘ฉันทามติห้าประการ’ ที่อาเซียนเปิด เราจะใช้กรอบนั้น อาเซียนจะต้องรับรู้ในการเดินนโยบายทางการทูต

“ถึงจุดหนึ่ง คิดแบบทางการทูต ต้องมี ‘ผู้ค้ำประกันสันติภาพ’ ในเมียนมา

“วันนี้ เราในฐานะที่มีแนวชายแดนยาว (ติดกับเมียนมา) แนวชายแดนฝั่งเหนือเขาสงบ ทางอินเดีย ผมว่าสงครามฝั่งโน้นน่าจะเบากว่าเรา สงครามกำลังเริ่มขยับออกจากฝั่งทางบ้านเรา

“ถ้าเราสามารถเปิดการเจรจา ผมคิดว่าเงื่อนไขใหญ่ที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงฝั่งประชาธิปไตยในเมียนมา คือ ‘เอ็นยูจี’ อยากเห็นที่สุด คือ อยากเห็น ‘มิน อ่อง ลาย’ ถอนตัวออกไป แล้วเปิดการเจรจา ตราบเท่าที่ ‘มิน อ่อง ลาย’ ยังอยู่ ผมคิดว่าเป็นอุปสรรคในตัวเอง

“พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง รัฐบาลพลัดถิ่นฝั่งประชาธิปไตยหนึ่ง พร้อมที่จะเจรจากับรัฐบาลทหารไหม? พร้อม แต่ไม่พร้อมบนเงื่อนไขที่ ‘มิน อ่อง ลาย’ ยังนั่งเป็นผู้คุมเกมทั้งหมด…”

 

“ถ้าสมมุติเรายังเอางานพวกนี้ไปแปะไว้กับกระทรวงโน้นกระทรวงนี้ ที่ยังต้องทำงานในภาวะปกติ ผมว่างานพวกนี้เดินไม่ออก มันจะถูกครอบหรือพบกับอุปสรรคด้วยระบบราชการแบบไทยๆ ถ้าต้องสร้างความคิดใหม่ๆ เราจะเอาภารกิจอย่างนี้ไปไว้กับรัฐราชการแบบเดิมไม่ได้

“ความเห็นผม ถ้าเป็นในตะวันตก งานมันจะถูกตัดออกมาเพื่อทำงานอีกชิ้นหนึ่ง เพื่อไม่ให้กระทรวงหรือรัฐบาลบางส่วนต้องมารับผิดชอบกับงานที่เข้ามาใหญ่ เป็นงานภายนอกอีกชุดหนึ่ง ผมอยากเห็นการตั้ง ‘ทีมเมียนมาของรัฐบาลไทย’ หรือ ‘ไทยแลนด์ทีม’ ก็แล้วแต่ เพื่อรับภาระส่วนนี้

“ภาระส่วนนี้มันจะมีง่ายๆ การเจรจาเป็นเรื่องใหญ่เราต้องคิด ต้องอยู่กับกระทรวงไหม? กระทรวงต้องมีบท ปฏิเสธไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันเป็นงานการเมืองที่สูงกว่าระดับของกระทรวงการต่างประเทศ

“นึกถึงตอนยุคนายกฯ ชาติชาย (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) กลุ่มบ้านพิษณุโลกเป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่มาก ผมพูดเสมอว่านโยบายต่างประเทศไทยที่เป็นนโยบายเชิงรุกมีเพียงแค่สองยุค ยุคนายกฯ ชาติชาย กับยุคนายกฯ ทักษิณ (ชินวัตร) สังเกตไหมครับ? การดำเนินนโยบายเชิงรุกในสองรัฐบาลมันมีตัวละครซ้ำ

“ยุคนายกฯ ชาติชาย คือ บ้านพิษณุโลก วันนี้ทุกคนรู้จักอาจารย์พันศักดิ์ (วิญญรัตน์) กับอาจารย์สุรเกียรติ์ (เสถียรไทย) พี่โต้ง อาจารย์ไกรศักดิ์ (ชุณหะวัณ) เสียไปแล้ว รวมทั้งอาจารย์สุขุมพันธุ์ (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) ในยุคนั้น เพราะฉะนั้น เราจะเห็นตัวละครเชิงรุกในมิติต่างประเทศ

“พอถึงยุคนายกฯ ทักษิณ ตัวละครสำคัญสองคนคืออาจารย์พันศักดิ์กับอาจารย์สุรเกียรติ์ก็ยังมีบทบาท เราเห็นชัด นโยบายมันสูงกว่าระดับกระทรวง แต่กระทรวงต้องเดิน อาจจะต้องจัดงานอะไรอย่างนี้

“สำหรับผม (นี่) คือการออกแบบโครงสร้างหรือคนที่ต้องรับมอบภารกิจ หรือประมาณ ‘ไทยแลนด์ทีม’ ที่จะต้องรับภาระอย่างนี้เข้ามา นอกจากงานเจรจา…”

 

“ผมคิดว่าโจทย์ที่ใหญ่ของกองทัพ (ไทย) คือกองทัพไม่มียุทธศาสตร์ที่จะมองปัญหาแนวชายแดนตะวันตก

“ผมกำลังเรียกร้องให้คิด ‘ยุทธศาสตร์ของรัฐไทย’ เพราะสถานการณ์ในเมียนมาเปลี่ยนเร็ว แล้วถ้า (ตาม) แนวชายแดน (ติดกับไทย) ‘เอสเอซี’ (รัฐบาลทหารเมียนมา) ถูกผลักออกไปทั้งหมด รัฐบาลไทยต้องเริ่มคิดนะครับ เรากำลังเห็นภูมิทัศน์ทางการเมืองชุดใหม่ เกิดจริงๆ แล้ว

“เราจะนั่งเฉยๆ หรือจะคิดสบายๆ แบบที่ กต. (กระทรวงการต่างประเทศ) และ ทบ. (กองทัพบก) ทำกันมาก่อนหน้านี้ จะไม่เป็นประโยชน์กับประเทศไทยเลย ผมยืนยัน ผมวิจารณ์บนพื้นฐานผลประโยชน์แห่งประเทศไทย เราไม่สามารถนั่งด้วยความฝันอย่างเดียว ที่เชื่อว่าเราฝันได้เรื่อยๆ ฝันไม่เป็นจริง ถ้าเราไม่ออกแรง

“วันนี้ พี่น้องชนกลุ่มน้อย พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ออกแรงแล้ว รัฐบาลไทยต้องมีคำตอบด้วย…”

 

“เรายังไม่มีไกด์ไลน์ที่จะตอบนายกฯ ผมไม่โทษนายกฯ เศรษฐา (ทวีสิน) เลยนะ พูดจริงๆ ไม่ได้มาปกป้องให้ด้วย แต่โดยกระทรวงการต่างประเทศหรืออะไรก็แล้วแต่ จะต้องออกไกด์ไลน์ว่าอะไรคือนโยบายและจุดยืนของประเทศไทย จนบัดนี้ เรายังไม่มีคำตอบนะครับ

“อย่าตอบผมนะว่าประเทศไทยจะ ‘เป็นกลาง’ เลิกเสียทีเถอะ ภาษาที่ไม่มีความหมายและไร้สาระที่สุดในนโยบายต่างประเทศไทย คือ คำตอบว่า ‘ไทยจะเป็นกลาง’ คำว่าไทยเป็นกลาง คือไทยยืนกับเอสเอซี (รัฐบาลทหารเมียนมา) ไม่ได้เกินกว่านั้น หรือไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกแบบที่อาเซียนพูด

“แปลว่าเราจะสนับสนุนรัฐประหาร รัฐบาลทหาร เหมือนอย่างที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ทำ หลังรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ (2564) ในเมียนมา

“เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้น เรายังไม่เห็นตัวนี้เลย อะไรคือไกด์ไลน์ที่นายกฯ ต้องพูด วันนี้โดยสถานะของสถานการณ์ รัฐบาลไทยในความหมายคือนายกรัฐมนตรีไทยต้องแถลงจุดยืนของไทยแล้ว

“จุดยืนนี้โดยหลักการต้องถูกร่างโดยกระทรวงการต่างประเทศ จะผ่านกระบวนการอะไรก็แล้วแต่ ผมยังไม่ได้ยินเลย ตกลงใครจะรับผิดชอบประเทศไทย? ใครจะรับผิดชอบนโยบายไทย?

“สถานการณ์วันนี้เร็วมากแล้ว ตื่นเถอะ”