“พิธา” เยือน มศว บรรยายพิเศษหัวข้อซอฟต์พาวเวอร์ จัดห้องเรียนแบบ Flipped classroom นิสิตแลกเปลี่ยนถามตอบ

“พิธา” เยือน มศว บรรยายพิเศษหัวข้อซอฟต์พาวเวอร์ จัดห้องเรียนแบบ Flipped classroom นิสิตแน่นห้อง-แลกเปลี่ยนถามตอบเพียบ

วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล บรรยายพิเศษหัวข้อ “Soft Power ไทยจะไปต่ออย่างไรในเวทีโลก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีนิสิตให้ความสนใจรับฟังจนเต็มห้องประชุมชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มศว

พิธากล่าวว่า วันนี้เป็นการมาพูดที่ มศว ครั้งแรก ไม่ได้ต้องการมาเลกเชอร์หรือบรรยายฝ่ายเดียว แต่ต้องการเป็น Facilitator (กระบวนกร) ที่นำกระบวนการเรียนรู้ ในห้องเรียนที่เป็น Flipped classroom ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน การแลกเปลี่ยนและการถาม-ตอบ แต่ละคำตอบไม่มีถูกหรือผิด

เนื้อหาการบรรยายของพิธาแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ (1) หาความหมายของ Power และประเภทของ Power ความแตกต่างระหว่าง Hard Power กับ Soft Power และ Soft Power กับ Pop Culture (2) Orange Economy คืออะไร และ (3) อนาคตของซอฟต์พาวเวอร์ไทย โดยพิธาตั้งคำถามให้นิสิตตอบและแลกเปลี่ยนกัน ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้คือการสนับสนุนระดับอุตสาหกรรมเป็นรายอุตสาหกรรม เช่น กีฬา การท่องเที่ยว อาหาร แต่สิ่งที่ควรจะเป็นคือการยกระดับเป็น Orange Economy หรือซอฟต์พาวเวอร์เช่นเดียวกับที่ประเทศเกาหลีใต้ทำ ซึ่งสร้างด้วย content, creativity และ culture

พิธากล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์คือเป้าหมาย (Ends) ไม่ใช่วิธีการ (Means) เป็นเรื่องระยะยาวมากกว่าระยะสั้น และคำนึงถึงเรื่องคุณค่าทางการเมือง (Political Values) ของประเทศมากกว่าเรื่องมูลค่า เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและนโยบายต่างประเทศ เช่นในความเห็นของตน ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยคือความหลากหลาย (Diversity) ตนอยากให้คนทั่วโลกจดจำว่าไทยคือประเทศแรกๆ ในเอเชียที่ผ่านกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” คืนสิทธิและศักดิ์ศรีให้คู่รักทุกเพศแต่งงานกันได้

โดยหากตนและพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล บทบาทของรัฐเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ ต้องทำให้เกิด 4ส ประกอบด้วย (1) เสรีภาพ คือการปล่อยของเพื่อลองผิดลองถูกในสังคมที่อดทนอดกลั้นได้ เช่น แก้ไขกฎหมายที่กดทับการแสดงออก (2) สวัสดิการ คือการให้คนในวงการสามารถคิด ทำ สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ เช่น สัญญาแรงงานต้องเป็นธรรม (3) ส่งเสริม เช่น ไทยควรสนับสนุนงบประมาณด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกประมาณ 10 เท่า และ (4) ศึกษา คือการสนับสนุนการศึกษาด้านศิลปะ เพื่อเพิ่มผู้มีความสามารถหรือผู้มีพรสวรรค์ (Talent) ในวงการให้มากขึ้น

จากนั้นช่วงท้ายเป็นการถามตอบ มีนิสิตถามคำถามอย่างหลากหลาย พิธากล่าวชื่นชมและระบุว่าการประเมินว่าห้องเรียนนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ ตนไม่ได้มองจาก Performance ว่าผู้เรียนตอบคำถามถูกต้องหรือไม่ แต่มองจาก Participation คือผู้เรียนมีส่วนร่วมในห้องเรียนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งห้องเรียนในวันนี้เป็นหนึ่งในห้องเรียนที่ตนรู้สึกประทับใจมาก