1 ทศวรรษ ‘คสช.’ DNA ‘บิ๊กตู่’ ใน ‘รทสช.’ กลายพันธุ์?

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

การลาออกของนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ จากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตามมาติดๆ ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อให้เกิดความสงสัยทางการเมืองระดับสูง

นายกฤษฎายังร่อนจดหมายเปิดผนึก ให้เหตุผลการลาออกอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นเพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ “ไม่ให้เกียรติต่อกัน” ในการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม

นั่นจึงทำให้คนย้อนไปขุดที่มาที่ไป พบปัญหาความบาดหมางส่วนตัว ระหว่างนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลังคนใหม่ สมัยนายกฤษฎาเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง แล้วเคยสั่งสอบนายพิชัย ที่ขณะนั้นเป็นผู้บริหารบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งในประเด็นเกี่ยวกับ “หุ้น”

แต่อีกกระแส ที่ถอยออกไปมองในภาพรวม กลับเห็นว่าไม่ใช่เรื่องส่วนตัวซะทีเดียว

แต่เป็นการ “รุก” ในทางการเมือง ที่ฝ่ายเพื่อไทย-นายทักษิณ กระทำต่อพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

เดิมนายกฤษฎาก็ไม่ได้ผูกพันกับคนในพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่เพราะเคยเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ทำงานด้านการคลังภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มานานจนเป็นที่ชื่นชอบ

เมื่อพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติตั้งรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นแกนนำ จึงเชิญนายกฤษฎานั่งเก้าอี้ รมช.คลังตามโควต้าที่พรรคเพื่อไทยมอบให้

8 เดือนผ่านไป มีการปรับ ครม.เกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยดัน “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” ขึ้นแท่น รมช.คลัง คู่กับ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” กลายเป็นกระทรวงการคลังมีรัฐมนตรีช่วยถึง 3 คน ซึ่งก็เลี่ยงไม่ได้ที่เพื่อไทยจะต้องแบ่งกรม-หน่วยงานในสังกัดให้รัฐมนตรีช่วยดูแล

นั่นคือที่มาของความไม่พอใจ เพราะนายกฤษฎา ในฐานะ รมช.คลัง ถูกยึดอำนาจการดูแลออกไปเยอะ

คิดเล่นๆ ว่าเป็นนายกฤษฎา ก็คงไม่อยู่

อย่าลืมว่านายนายกฤษฎาไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ ไม่มีฐานการเมืองใดๆ นอกจากการเคยร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นลูกหม้อกระทรวงการคลัง ดูแลหน่วยงานต่างๆ มากมาย เติบโตจนมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้บริหารที่ปกครองข้าราชการทั้งกระทรวง

เจอการแบ่งงานของเพื่อไทย ยึดเอาหน่วยงานสำคัญที่เคยดูแลไป มีหรือจะอยู่ต่อ?

แต่อีกความสงสัยหลักๆ ก็คือ เกิดอะไรขึ้นในพรรครวมไทยสร้างชาติ?

 

ต้องกลับไปดูที่รากฐาน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายทหารที่เป็นผู้นำการยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง สืบทอดอำนาจมาแล้ว 2 สมัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเองยาวนานกว่า 9 ปี ปลุกปั้นพรรคนี้ขึ้น เพื่อหวังแชร์อำนาจทางการเมืองในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566

หากทำสำเร็จก็จะอยู่ต่อในอำนาจได้เป็นวาระที่ 3

แต่ลึกๆพล.อ.ประยุทธ์ก็รู้ว่าไม่มีทางชนะการเลือกตั้งได้ การตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงมีเป้าหมายคว้าเก้าอี้ให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็น “อำนาจต่อรอง” ในการเข้าร่วมรัฐบาลที่ต้องไม่มีพรรคก้าวไกลคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญที่สุด อยู่ในสมการ

หลังการแพ้เลือกตั้งอย่างราบคาบ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศวางมือทางการเมือง ลงจากหลังเสือแบบผู้แพ้ แต่ก็ยังทิ้งมรดกคือพรรครวมไทยสร้างชาติไว้ต่อรองในรัฐบาลใหม่ โดยสามารถเข้ายึดเก้าอี้สำคัญได้ ทั้งรองนายกฯ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และตำแหน่ง รมช.คลัง

เป็นการต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายได้อีกนิด

 

แต่หลังการยินดีร่วมรัฐบาลได้ไม่นาน สัญญาณปัญหาใหญ่ทางการเมืองในพรรคก็เริ่มขึ้น นั่นคือสัญญาณแห่งความไม่เป็นเอกภาพ เพราะขาดผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค

ต้องพูดแบบนี้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ คือสัญลักษณ์ทางความคิดและเป็นหัวเรือใหญ่การต่อสู้ของพลังอนุรักษจารีตนิยมในการเมืองไทยตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่ช่วงยึดอำนาจ และยังทิ้งมรดกไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560

พล.อ.ประยุทธ์คือผู้นำทางการเมืองที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับ “พลังความคิดใหม่” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

เมื่อพล.อ.ประยุทธ์สร้างพรรคเพื่อลงมาเล่นใน “สนามเลือกตั้ง” จึงเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของผู้คนที่มีความคิดใกล้เคียงกัน จับมือกันมาอยู่ใน “รวมไทยสร้างชาติ”

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์วางมือทางการเมือง ก็เริ่มต้นนับถอยหลังสู่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

ย้อนกลับไปดูความคิดของ “ชินภัสร์ กิจเลิศสิริวัฒนา” รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ลาออกจากพรรค ช่วงธันวาคม ปี 2566

ใจความสำคัญที่เขาวิจารณ์พรรครวมไทยสร้างชาติ คือ “ถ้ายังไม่เปลี่ยนระบบภายใน เเละยังทํางานเเบบเดิม ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้ ฝ่ายอนุรักษ์ต้องมีมากกว่าปกป้องสถาบัน และห้ามเเตะ 112 ไปวันๆ หากฝ่ายอนุรักษ์ไม่ปฏิรูปตัวเอง ฝ่ายอนุรักษ์จะไม่มีพื้นที่เหลือในอนาคต”

นั่นคือความเห็นของคนที่เคยเป็น “คนใน” ที่ทิ้งระเบิดลูกใหญ่เอาไว้

หรือจะเป็นการลาออกของคนทำงานในพรรค อย่าง ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรครวมไทยสร้างชาติ เปลี่ยนมายืนเคียงข้างนายเศรษฐา ทวีสิน ในตำแหน่ง “ผู้แทนการค้าไทย”

ทำให้วันนี้ขั้วอำนาจในพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีอำนาจในพรรค เหลือเพียง 3 ขั้ว ประกอบด้วย

ขั้วอำนาจเก่าฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ นำโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ที่ปัจจุบันมีตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน

ต่อมาคือขั้วลุงกำนัน ที่นำเดินเกมโดย ขิง-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งกุมเสียง ส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรคไว้

ส่วนขั้วอำนาจสุดท้ายคือกลุ่มทุนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ช่วงเป็นนายกฯ มาจนถึงเลือกตั้ง

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศวางมือลงจากหลังเสือแบบสวยๆ แต่อนาคตของพรรครวมไทยสร้างชาติไม่สวยตาม

ไม่ว่านายพีระพันธุ์จะประกาศในการประชุมใหญ่สามัญของพรรคเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ย้ำหนักแน่นว่า พล.อ.ประยุทธ์คือดีเอ็นเอของพรรค แม้ “ลุงตู่” ไม่อยู่กับพรรคแล้ว แต่ “สปิริตแบบลุงตู่” จะยังอยู่

สุดท้ายก็ไม่สามารถฝืน “รอยร้าวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องสะสม” สะท้อนออกมาจากการลาออกของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ นั่นเอง

 

ถ้าพูดในมุมความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย ก็ต้องบอกว่าหน้าเวทีดูดี แต่หลังเวทีเหมือนจะเป็นอีกแบบ

มีการต่อสู้ ต่อรอง ขับเคี่ยวกันในทางความคิด และทางนโยบายสูงมาก โดยเฉพาะกรณีราคาพลังงาน การใช้เงินกองทุนสำรองฯ จนใกล้จะถึงเส้นระดับ “ความขัดแย้ง” หลายครั้ง

นั่นคืองานหนักของนายพีระพันธุ์ที่นอกจากจะบริหารความต้องการในพรรค ก็ยังต้องรักษาจุดยืนของตัวเองและพรรคเอาไว้ ไม่ให้ถูกข้อคิดและแนวทางนโยบายของพรรคเพื่อไทย “กลืน” หมด

แต่ไม่ว่าขั้วอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ในพรรคจะอ่อนกำลังลงมากเพียงใด นายพีระพันธุ์ก็ยังมีความสำคัญในฐานะทายาททางความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ยังคงอยู่ ขณะที่ “ขั้วลุงกำนัน” เหมือนจะเข้มแข็ง มี ส.ส.ในมือ แต่ยังไม่มีอำนาจ ส่วนขั้วกลุ่มผู้สนับสนุน แม้มีกระแสว่าเริ่มไม่พอใจบทบาทหัวหน้าพรรค แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ด้วยความเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ พล.อ.ประยุทธ์

การประกาศปิดฉากทางการเมืองของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในโควต้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อเนื่องด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรคของหัวเรืออย่างนายสุพัฒนพงษ์ จึงสะท้อนความเป็นไปใน “พรรคมรดก พล.อ.ประยุทธ์” แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

 

ในโอกาสครบรอบ 1 ทศวรรษของการยึดอำนาจที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ในสัปดาห์นี้ พร้อมๆ ไปกับการเมืองร้อนแรงที่เกิดขึ้นในพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของ “มรดกรัฐประหาร”

10 ปีผ่านไป การสืบทอดอำนาจรอบที่ 3 ของผู้ทำรัฐประหารล้มเหลวสิ้นเชิง แม้จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อหวังต่อรองทางอำนาจ อยู่ในอำนาจต่อ ก็เต็มไปด้วยปัญหา

ความพยายามจะเป็นหมุดหมายของ “อนุรักษนิยมใหม่” ในการเมืองไทย เพื่อต่อสู้กับ พลังความคิดใหม่-ฝ่ายก้าวหน้า ก็ยังพลาดเป้า

ไม่สามารถยึดกุมวาระ หรือมีสภาพนำทางความคิดในฝ่ายอนุรักษนิยมได้ ง่ายๆ ก็ดูจากยอดผู้ติดตามในโซเชียลของเพจทางการของพรรค ที่ตั้งพรรคมาปีกว่ายังอยู่ในระดับหลักหมื่น ไม่แอ๊กทีฟ

แม้มีอำนาจรัฐ กุมกระทรวงสำคัญอย่างพลังงานได้ แต่ก็ไร้พลัง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างโฆษณา

ตำแหน่ง รมช.คลัง ล่าสุดก็ถูกพรรคแกนนำรัฐบาลบีบกระชับอำนาจ จนต้องหนี รับไม่ได้กับการไม่ให้เกียรติ

250 ส.ว. มรดกคณะรัฐประหาร ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เพื่อไทยต้องมาจับมือ พล.อ.ประยุทธ์ กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็หมดวาระไปแล้วในเดือนนี้ ทีนี้ระทึกกันใหญ่ เพราะเพื่อไทยจะยิ่งรู้สึกฮึกเหิม ในฐานะแกนนำรัฐบาลมากขึ้น

 

บางคนบอกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพรรครวมไทยสร้างชาติตอนนี้คือสภาวะการรอเปลี่ยนผ่าน “ผู้นำของพรรค” แต่ถ้าถอยออกมามองภาพกว้าง ดูแล้วอาจไม่ใช่แค่เปลี่ยนหัวขบวน แต่เป็นการนับถอยหลังสู่สิ่งที่เสียหายกว่านั้น

22 พฤษภาคม 2567 ครบรอบสิบปีการยึดอำนาจด้วยปากกระบอกปืน สู่การกลายพันธุ์เป็น “พรรคการเมือง” วันนี้จึงสะท้อนความล้มเหลว

ได้ครองอำนาจรัฐต่อลมหายใจอีกนิดจริง แต่ก็เริ่มสั่นคลอน

ส่วนเรื่องครองใจคน ไม่ต้องพูดถึง ผลเลือกตั้งก็ชี้ให้เห็นอยู่ว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ครองใจคนได้แค่ไหน?