ระวังศัตรูแค่แกล้งตาย | คำ ผกา

คำ ผกา

ฉันยอมรับว่าคาดการณ์ผิดไปมาก

เมื่อเห็นว่าพรรคฝั่งประชาธิปไตยสองพรรคจับมือกันชนะได้เสียงเกินสามร้อย

นั่งฝันหวานว่าเขาจะตั้งเป้าแถลงข่าวการจับมือกันเป็นรัฐบาล ช่วยกันไปหาเสียงทั้งจาก ส.ว. และ ส.ส.จากทุกพรรคให้ช่วยกันโหวตพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ

ไม่ใช่เพื่อพิธา ไม่ใช่เพื่อพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อให้หลักการประชาธิปไตยมันอยู่ในร่องในรอย

ประกาศให้โลกรู้ว่าเราพร้อมเดินหน้าเป็นสังคมประชาธิปไตย

และหากทำอย่างเต็มที่แล้ว ยังไม่ได้เสียงถึง 376 เสียงเพื่อโหวตนายกฯ ก็จะได้ตอกย้ำว่า เพราะอะไร เราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่วางกับดักให้ทุกอย่างหลังการเลือกตั้งมันยากไปหมด

และทั้งหมดนี้ ฉันไม่อยากจะย้อนกลับไปพูดว่า “เข้าใจหรือยังว่าทำไมเพื่อไทยถึงวิงวอน ขอร้องให้เลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์”

 

เมื่อประชาชนแสดงเจตจำนงออกมาแล้วว่าไม่ต้องการให้เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแบบมีเสียงสามร้อยบวกๆ และฉันทามติของประชาชนให้เพื่อไทย 141 ที่นั่ง ให้ก้าวไกล 151 ที่นั่ง เสียงที่หนีกันแค่ 10 เสียงนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พรรคเพื่อไทยมีอำนาจต่อรองค่อนข้างมาก และเราควรยอมรับข้อเท็จจริงนี้ ด้วยเสียงที่เขามีอยู่เขาต่อรองได้จริง เพราะปราศจากเพื่อไทย ก้าวไกลขยับตัวต่อไปไม่ได้เลย

และอาจเป็นเพราะทุกคนรู้ว่า 141 เสียงจากเพื่อไทยสำคัญมากต่อการจัดตั้งรัฐบาล เกม “ปั่น” ทางการเมืองจึงถล่มเข้าหาพรรคเพื่อไทยจากทุกสารทิศ

เริ่มจากชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่สร้างผังการตั้งรัฐบาลโดยเพื่อไทย ผลักก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

หรือการปั่นมาจากคนแดนไกลชื่อสมศักดิ์ เจียมฯ ที่ตอกย้ำวันละสี่เวลา เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ว่า เพื่อไทยมีแผนจะเป็นรัฐบาลเสียเอง แพทองธาร ชินวัตร ก็ไปหาทักษิณ ชินวัตร พวกเพื่อไทยมันมีแผนชั่วแน่ๆ

มิไยที่พรรคเพื่อไทยจะยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ว่าจะไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง แต่ดูเหมือนว่า ข่าวปั่นจะขายดี และ “เข้าปาก” กองเชียร์ทั้งหลายมากกว่า

 

สําหรับฉัน สิ่งที่น่าผิดหวังคือ บุคคลที่มีต้นทุนทางสังคมสูง นักคิด นักประวัติศาสตร์ นักเขียน ปัญญาชนสาธารณะ นักวิจารณ์การเมือง นักวิชาการ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อประชาชนผู้ปรารถนาจะออกจากมรดกของการรัฐประหาร แทนที่จะออกมาเตือนสติสังคมไม่ให้เชื่อในข่าวลือ และประคองบรรยากาศ สถานการณ์ให้พรรคร่วมรัฐบาลเกิดเสถียรภาพ ไปช่วยกันหาเสียงมาเติมให้ครบ 376 เสียง

กลับกลายเป็นว่า ทั้งสื่อ ทั้งผู้นำทางปัญญาในบ้านเรากลับไปช่วยกระพือข่าวปั่นให้วุ่นวายหนักข้อขึ้น

เราไม่จำเป็นต้องเข้าข้างหรือสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่ฉันคิดว่าอย่างน้อยที่สุด เราทุกคนควรช่วยกันหยุดยั้งการสร้างข่าวปลอม ข่าวปั่น ข่าวโคมลอย

ส่วนพรรคเพื่อไทยจะมีความสามารถในการรับมือกับเรื่องเหล่านี้ได้ดีแค่ไหน หรือทำให้มันพังหนักกว่าเดิม ก็เป็นสิ่งที่พรรคต้องรับผิดชอบ

แต่อย่างน้อยที่สุด เราต้องมั่นใจว่า เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ข่าวปลอมมันระบาดหนักขึ้น หรือกระพือโหมความบาดหมางของสองพรรคให้มันหนักกว่าเดิม

จนมาถึงเรื่องการทำ MOU ที่ฉันเห็นว่า ไม่ควรมีรายละเอียดอะไรที่ผูกมัดกันและกันขนาดนั้น เพราะเอาเข้าจริงๆ ภารกิจของพรรคร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้มีแค่การทำประชามติให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ MOU ควรมีแค่ทุกพรรคจะโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ ทุกพรรคจะเดินหน้าไปสู่การทำรัฐธรรมนูญ เพื่อนำกติกาประชาธิปไตยสากลกลับสู่สังคมไทย

ส่วนประเด็นยิบย่อยทางนโยบาย ให้เป็นเรื่องหลังจากนั้น

อย่าลืมว่า ภาวะขาดเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องปกติธรรมดาหากมีพรรคร่วมมากกว่า 4 พรรค

การทะเลาะเบาะแว้ง การถกเถียงว่าใครควรได้รับผิดชอบตำแหน่งไหน กระทรวงไหน มันเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ตำแหน่งประธานสภาก็เช่นกัน เมื่อพรรคเพื่อไทยมีเสียงน้อยกว่าแค่ 10 เสียง เขาก็มีความชอบธรรมที่จะต่อรองเอาตำแหน่งนี้

และหากพรรคก้าวไกลเห็นว่า ให้ตำแหน่งนี้กับเพื่อไทยไม่ได้ก็ต้องเจรจากันให้ถึงที่สุด เอาหน้าตักของแต่ละฝ่ายมาเดิมพันกัน

ย้ำว่านี่เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ไม่ใช่เรื่องความกระหายในอำนาจ ความฉ้อฉล น่ารังเกียจอะไรเลย

เพราะคงไม่มีโหวตเตอร์พรรคการเมืองไหน โหวตให้พรรคเพื่อไปนั่งเป็นใบ้ ไม่มีปากไม่มีเสียง

และในหลายครั้งเกมการเจรจาต่อรองก็มีไว้เพื่อทำให้โหวตเตอร์เห็นว่า ฉันไม่ได้นิ่งนอนใจนะ ฉันทำเต็มที่นะ ฉันปกป้องผลประโยชน์ให้กับทุกเสียงที่เลือกฉันเข้าไปนะ

แต่ถ้าทำเต็มที่แล้ว ต่อรองไม่สำเร็จ ก็ดีกว่าไม่ต่อรองเลย

 

คนไทยอาจจะอยู่กับเผด็จการมายาวนาน และถูกล้างสมองมาให้เห็นว่าการต่อรองเก้าอี้ ตำแหน่งเป็นเรื่องเลวร้าย จนลืมไปว่า วัตถุประสงค์ของการตั้งพรรคการเมือง การลงเลือกตั้ง คือความปรารถนาที่จะชนะการเลือกตั้ง มีเสียง ส.ส.มากที่สุด เพื่อจะได้ไปครองเก้าอี้ ครองตำแหน่ง จะได้เข้าไปทำงานให้สำเร็จตามที่หาเสียงเอาไว้

ไม่ลงเลือกตั้งเพื่อจะชนะแล้วจะลงทำไม หรือได้เสียงมาจำนวนหนึ่ง แล้วนั่งยิ้มหวาน บอกว่าเราเป็นคนดี เราจะไม่แก่งแย่งอะไรจากใครทั้งนั้น เรามาตรงนี้เพื่อเสียสละ

ดังนั้น การทะเลาะ ขัดแย้ง ต่อรองเรื่องตำแหน่ง เก้าอี้ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกรีดร้องโวยวายแต่อย่างใด

แต่การทะเลาะ ขัดแย้งนี้ไม่ได้แปลว่าทำงานด้วยกันไม่ได้ ลงเรือลำเดียวกันไม่ได้ เท่ากับที่การลงเรือลำเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องรักกัน เพราะทุกพรรคย้อมมีวาระ ผลประโยชน์ มีฐานเสียงของตนเองที่ต้องดูแล

ย้อนกลับมาถามว่า ภารกิจร่วมกันของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลคือ ไปหาเสียงมายกมือให้พิธาให้ครบ 376 เสียง เราจะฝ่าด่านนี้ไปด้วยกันได้อย่างไร?

 

เรามีเวลาถึงเดือนสิงหาคมอย่างช้าที่สุด ที่ กกต.จะประกาศรับรองสถานะของ ส.ส. ผลการเลือกตั้ง คณะทำงานของพรรคร่วมต้องคุยเรื่องนี้ ต้องหาหนทางที่จะได้มาซึ่งเสียงสนับสนุน และต้องคิดเผื่อไว้เลยว่า หากได้เสียงไม่ครบจะทำอย่างไร?

ฟังหลายๆ คนที่ฮึกเหิมมาก บอกว่า ถ้าไม่ยกมือให้จะเจอตีนแน่ จะเจอม็อบแน่ จะเจอความโกรธแค้นของสังคมอย่างมหาศาลแน่ๆ

ฟังดูคึกคักดี แต่ในความเป็นจริงคือ ในสภาวะที่คนไทยส่วนใหญ่บอบช้ำเหน็ดเหนื่อยจากการสู้กับเผด็จการมายาวนาน เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าขนาดนี้ ม็อบไม่น่าจะปลุกขึ้น หรือถึงปลุกขึ้น ก็ยืนระยะได้ไม่ยาว

ทางที่ดีที่สุด พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ควรเร่งตั้งสมัชชาเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย โดยมีตัวแทนจากนักวิชาการ นักธุรกิจ ภาคประชาสังคม เครือข่ายเยาวชน รวมไปถึงตัวแทนจากพรรคการเมืองทุกพรรค (ย้ำว่าทุกพรรค) เพื่อโน้มน้าวให้สังคมไทย และรัฐสภาไทย ทั้ง ส.ส. ส.ว. โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ และให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการตัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

สมัชชานี้มีหน้าที่เป็น “คนกลาง” อธิบายให้สังคมเข้าใจให้ได้ว่า คุณไม่จำเป็นต้องนิยมในตัวพิธา ไม่จำเป็นต้องนิยมในพรรคก้าวไกล ไม่จำเป็นต้องนิยมในพรรคเพื่อไทย

แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งได้เกิดขึ้น และจบลงแล้ว มันมีตัวเลขนับได้เป็นที่ประจักษ์ว่า สิบสี่ล้านเสียงเลือกพรรคก้าวไกล และสิบล้านเสียงที่เลือกเพื่อไทยนั้นตกลงใจแล้วว่าจะสนับสนุนพิธาและพรรคก้าวไกล

หากเราอยากอยู่กับระบอบประชาธิปไตย เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเคารพเสียงข้างมาก

หากเราไม่เคารพเสียงข้างมากนี้แล้ว เราคนไทยทุกคนจะอยู่ในสภาวะ เดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ เพราะพรรคภูมิใจไทยไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา และพรรคอื่นๆ รวมเสียงกันแล้วก็ไม่พอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้

ทางเลือกที่เหลืออยู่คือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการไปเรื่อยๆ ประชาชนเบื่อหน่าย ไร้ความหวัง ระหว่างที่ชักเย่อกัน อาจมีพรรคหัวใสไล่ซื้อ ส.ส.งูเห่ามาเข้าพรรค ทอดเวลานานออกไป พรรคขั้วตรงข้ามอาจพลิกมีเสียงสองร้อยห้าสิบปริ่มๆ เพราะซื้องูเห่าสำเร็จ

ถามใจตัวเองดีๆ ว่า รับได้ไหม? ถึงวันนั้น พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยจะได้จับมือกันเป็นฝ่ายค้านสมใจคนอยากมี MOU advance

ฉันไม่แน่ใจว่า ถ้าแปดพรรคร่วมรัฐบาลไม่พยายามหา “โซ่ข้อกลาง” ในนามสมัชชาอะไรสักอย่าง ไปเชื่อมเพื่อหาเสียงจาก ส.ว. และ ส.ส.กลุ่มขั้วอำนาจเดิมมาโหวตให้

เราจะใช้วิธีไหนให้ได้มาซึ่ง 376 เสียง

 

บทเรียนจากประวัติศาสตร์สอนว่าอย่าดูเบาหรือประเมินฝ่ายอำนาจเก่าต่ำเกินไป

พวกเราฝ่ายประชาธิปไตยนี่แหละที่มักโหวกเหวกโวยวาย

หลายครั้งมองไม่เห็นว่าคู่ต่อสู้แค่แกล้งตายให้เราตายใจ

พอสบโอกาสเหมาะเจาะก็แค่ให้เราทำลายกันเองก่อน

จากสองเหลือหนึ่งแล้วค่อยกินรวบ

สิ่งนี้เกิดขึ้นในกรณีของพิบูลกับปรีดี เกิดขึ้นเมื่อสิบสี่ตุลาฯ ก่อนจะจบด้วยหกตุลาฯ ฉันก็ได้แต่หวังว่าเราจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์บ้าง

หลังการเลือกตั้ง ยิ่งทอดเวลาไปนาน ฝั่งประชาธิปไตยยิ่งอ่อนแอ

ยิ่งทอดเวลาไปนาน ความ “ถือดี” ก็ยิ่งทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ

เพราะประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการสะสมเสียงสนับสนุนให้ได้มากที่สุด มากกว่าการประกาศว่าฉันดีกว่าใคร สะอาดกว่าใคร ถูกต้องดีงามกว่าใคร