เกษียร เตชะพีระ : Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (ตื่นเถิดชาวไทย โปสเตอร์ต้านคอมมิวนิสต์)

เกษียร เตชะพีระ

อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (8)

ย้อนอ่านตอน (7)  (6)

การทำแผนที่ควบกรีธาทัพไปลากเส้นเขตแดนกำหนดรูปลักษณ์ที่แน่นอนของรัฐชาติสยามขึ้นในลูกโลกเคียงข้างรัฐอาณานิคม/รัฐชาติอื่นที่รายรอบสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในภาวะที่ไม่เคยมีเส้นเขตแดนและรูปลักษณ์ดังกล่าวดำรงอยู่มาก่อนในทางภาววิสัยที่เป็นจริง ทำให้ปฏิบัติการดังกล่าวมีลักษณะอัตวิสัยและยึดเจตจำนงเป็นที่ตั้ง (subjective & voluntaristic)

ดังที่ ธงชัย วินิจจะกูล บรรยายว่าการทำแผนที่เป็น “เครื่องมือพิฆาตเพื่อทำให้ความมุ่งมาดปรารถนา (ของชนชั้นนำสยาม) ปรากฏเป็นรูปธรรมขึ้นบนพื้นผิวโลก” (“a lethal instrument to concretized the projected desire on the earth”s surface” Siam Mapped, pp. 129-30)

ทว่า ในทางกลับกัน การทำแผนที่ก็หาได้เป็นเพียง “เครื่องมือ” หรือ “วัตถุ” (“instrument”/”object”) ไร้วิญญาณที่ถูกมนุษย์ช่วงใช้มาสนองเจตจำนงของตนอย่างเป็นฝ่ายถูกกระทำถ่ายเดียวเท่านั้น

การณ์กลับกลายเป็นว่าพอมนุษย์เรียนรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการทำแผนที่ปุ๊บ มนุษย์เองก็กลับถูกพลังตรรกะแห่งความรู้หรือวาทกรรมเรื่องแผนที่ครอบงำปั๊บบัดเดี๋ยวนั้น

จนคนเป็นๆ พลิกกลับตาลปัตรกลายเป็นเครื่องมือเชื่องๆ ให้การทำแผนที่เป็นองค์ประธาน (subject) ผู้ศักดิ์สิทธิ์ทรงมหิทธานุภาพ คอยบงการขับไสผู้คนไปบรรลุตรรกะเป้าหมายของมันเองเสียฉิบ

ในเนื้อความ 2 ตอนที่น่าตื่นตะลึงพรึงเพริดของบทที่ 7 Geo-Body หรือ ภูมิกายา ธงชัยได้บรรยายวาทกรรมการทำแผนที่ในลักษณาการเดียวกับที่มาร์กซ์บรรยายสินค้าซึ่งผู้คนซื้อขายแลกเปลี่ยนกันว่ามันกลับกลายเป็นประหนึ่งวัตถุบูชาศักดิ์สิทธิ์ที่สำแดงอิทธิฤทธิ์ครอบงำบงการความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างคนไปเสียฉิบ (map fetishism ในทำนองเดียวกับ commodity fetishism ของมาร์กซ์) ดังนี้ :

“…วาทกรรมแผนที่ได้กลายเป็นกระบวนทัศน์ซึ่งทั้งการปกครองและการทหารขึ้นต่อและรับใช้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือแผนที่เปลี่ยนการปฏิบัติทั้งสองด้านนั้นให้กลายเป็นเพียงกลไกของมันเพื่อทำให้สิ่งที่มันคาดหมายเป็นความจริงขึ้นมา ทำ “วาทะ” ของมันให้เป็นตัวเป็นตน แผนที่เปลี่ยนมนุษย์ทุกชาติและปฏิบัติการของพวกเขา ไม่ว่าจะกล้าหาญหรือป่าเถื่อน ทรงเกียรติหรือสามานย์ ให้กลายเป็นพนักงาน (agent) ของมันเพื่อทำให้เทศะแบบแผนที่ปรากฏตัวขึ้น สยามมีเส้นขอบล้อมรอบ ภูมิกายาอุบัติขึ้น แผนที่ได้สร้างสยามอย่างใหม่ขึ้นมา เป็นตัวตนใหม่ที่มีภูมิกายาซึ่งไม่เคยดำรงอยู่มาก่อน”

(กำเนิดสยามจากแผนที่, น.211)

“มาถึงตรงนี้เราคงตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นระหว่างแผนที่กับเทศะ/พื้นที่ คงยากที่จะจำกัดให้แผนที่เป็นแค่ภาพแทนของเทศะ/พื้นที่ มันเดินทางออกไปไกลจากจุดกำเนิดทางเทคนิคเกินกว่าที่จะกลับไปหานักทำแผนที่ผู้สร้างมันขึ้นมาได้อีกแล้ว นักทำแผนที่มิได้เป็นเจ้าของแผนที่อีกต่อไป พวกเขาสูญเสียอำนาจการควบคุมมันแล้วโดยสิ้นเชิง เมื่อแผนที่เป็นอิสระจากเทศะ/พื้นที่และจากมนุษย์ผู้สร้าง แผนที่จึงกลายเป็นสาธารณสมบัติของวาทกรรมว่าด้วยความเป็นชาติ”

(กำเนิดสยามจากแผนที่, น.223)

แผนที่ราชอาณาจักรสยามฉบับสำเร็จแรกสุดของแม็กคาร์ธี พ.ศ.2431
คัดลอกจาก SiamMapped

หากจะจำลองกระบวนการขยับเคลื่อนของวาทกรรมแผนที่ (mapping discourse) ตามคำบรรยาย map fetishism ข้างต้น จากสภาพที่แผนที่เป็นเพียงวัตถุเครื่องมือ (object) ของมนุษย์ จนมันกลายไปเป็นองค์ประธาน (subject) ผู้ดลบันดาลชักนำกำกับพฤติกรรมของมนุษย์เสียเอง ก็จะได้ทำนองนี้คือ :-

[MAP AS OBJECT -> REIFICATION/THINGIFICATION -> ALIENATION -> FETISHIZATION -> MAP AS SUBJECT]

[แผนที่ในฐานะวัตถุเครื่องมือของมนุษย์ -> แผนที่กลายเป็นสิ่งของตัวตน -> แผนที่แปลกแยกจากคนผู้สร้างแผนที่ -> แผนที่ประหนึ่งทรงไว้ซึ่งพลังวิเศษศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์ -> แผนที่กลายเป็นองค์ประธานผู้กลับมาครอบงำกำกับมนุษย์เสียเอง]

ภูมิกายาสยาม (the Geo-Body of Siam) อันเป็นร่างทรงของรัฐชาติสยามในทางพื้นที่ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากวาทกรรมแผนที่ ก็ผ่านกระบวนการเดียวกันนี้จนมีพลังวิเศษกายสิทธิ์ในการกำกับพฤติกรรมของผู้คน โดยอาศัยที่วาทกรรมแผนที่ได้เข้าสอดผสานและอุ้มชูป้อนเลี้ยงซึ่งกันและกันกับวาทกรรมที่ทรงพลังทางการเมืองวัฒนธรรมอื่นๆ ในสังคมไทย

ได้แก่ :-

-วาทกรรมแผ่นดิน – อันเป็นสภาวะธรรมชาติธรรมดาของโลกอยู่แล้วอย่างนั้นเอง (Siam Mapped, pp. 132-33)

– วาทกรรมพระราชอาณาเขต – อิงฐานคติเชิงวัฒนธรรมเดิมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ (Siam Mapped, pp. 133-34)

– วาทกรรมประเทศชาติ – ชาตินิยม (Siam Mapped, pp. 134-35)

กระทั่งภูมิกายาหรือแผนที่แห่งชาติมีสถานะเป็นอภิสัญญะ (metasign) กล่าวคือ เป็นสัญญะที่สามารถก่อกำเนิดความหมาย, คุณค่า, ความรู้ได้โดยตัวของมันเอง มิจำเป็นต้องอ้างอิงถึงอาณาเขตของประเทศชาติแต่อย่างเดียว

หากอธิบายด้วยแนวคิดพื้นฐานของวิชาสัญศาสตร์ (semiotics) อันได้แก่ :-

– signifier (สัญญะ ซึ่งพอเปรียบได้กับ ถ้อยคำในภาษา เช่น “โต๊ะ”)

– signified (สิ่งที่ถูกสัญญะสื่อถึงในทางแนวคิด ซึ่งพอเปรียบได้กับความหมายที่เกิดขึ้นในหัวในใจของเราเมื่อได้ยินได้อ่านคำว่า “โต๊ะ” นั้น)

ก็จะได้ความว่าจากสภาพสัญญะธรรมดาที่ [ภูมิกายา/แผนที่ประเทศไทย] เป็น signifier -> สื่อความหมายถึง [อาณาเขตประเทศไทยบนผิวโลก] signified

ไปสู่การที่ [ภูมิกายา/แผนที่ประเทศไทย] กลายเป็นอภิสัญญะซึ่ง… (Siam Mapped, pp. 138-39) :-

1) แค่เราวาดรูปขวานหยาบๆ ลอยๆ ขึ้นมา ไม่ต้องลงรายละเอียดพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวง ระบุชื่อประเทศรายรอบข้างเคียงหรือชื่อจังหวัดในประเทศ (maplike signs) เท่านั้น มันก็สามารถทำหน้าที่เป็น signifier สื่อถึง [ภูมิกายา/แผนที่ประเทศไทย] ที่บัดนี้กลายเป็น signified ได้

2) ตัว [ภูมิกายา/แผนที่ประเทศไทย] แสดงได้ 2 บทบาทฐานะ คือทั้งเป็น signified ให้แก่รูปขวานข้างต้น, ขณะเดียวกันตัวมันเองก็เป็น signifier สื่อต่อไปถึง [อาณาเขตประเทศไทยบนผิวโลก] อันเป็น signified ด้วย

3) ยิ่งไปกว่านั้น [ภูมิกายา/แผนที่ประเทศไทย] ยังแถมเล่นบทเป็น signifier สื่อความหมายนอกเหนือไปจากเรื่องอาณาเขตล้วนๆ หากสามารถก่อให้เกิดความหมาย คุณค่า ความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับความเป็นชาติ เช่น ความเป็นไทย, ความรักอิสระเสรีภาพ, ต่อต้านคอมมิวนิสต์, ต่อต้านรัฐบาลคอร์รัปชั่น ฯลฯ เป็น signifieds พิเศษต่างหากงอกเงยออกไป

ดังในภาพโปสเตอร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ “ตื่นเถิด ชาวไทย” ข้างต้น