เกษียร เตชะพีระ : อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (ว่าด้วยการการสร้างรัฐชาติสยาม)

เกษียร เตชะพีระ

อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (6)

ย้อนอ่าน ตอน (5)  (4)

การสร้างรัฐชาติสยามในแง่หนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจกับบรรดาประเทศราชชายขอบแต่เดิม จากความสัมพันธ์แบบบรรณาการ (tributary relationship) ที่สยามเป็นอธิราชย์ (suzerainty) ไปเป็น -> ความสัมพันธ์แบบดินแดนใต้การปกครองโดยตรงภายในเส้นพรมแดนรายรอบขอบชิดของรัฐชาติที่สยามเป็นองค์อธิปัตย์ (sovereignty) หรือแบบหัวเมืองขึ้นภายใน (internal colonialism) ต่อเมืองหลวงกรุงเทพฯ ก็ว่าได้

ดังข้อความตอนหนึ่งจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานพระยาราชสัมภารากรในโอกาสได้รับแต่งตั้งไปเป็นข้าหลวงสามหัวเมืองทางเหนือ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2426 ว่า :-

“…การซึ่งเปนข้าหลวงสามหัวเมืองนี้ ต้องถือว่าเปนผู้รักอำนาจแลรักษาคำสั่งกรุงเทพฯ ที่จะให้เปนไปได้ตามคำสั่งทุกประการ แลต้องรู้ความประสงค์ของกรุงเทพฯ ว่าเราถือว่าเมืองเชียงใหม่ยังไม่เปนพระราชอาณาเขตของเราแท้ เพราะยังเปนประเทศราชอยู่ตราบใด แต่เราก็ไม่ได้คิดจะรื้อถอนวงษตระกูลมิให้เปนประเทศราช เปนแต่อยากจะถือจะยึดเอาอำนาจที่จริง คือการอันใดจะเปนไปได้ ก็ให้เปนไปได้เฉพาะที่เรายอมให้เปน คือให้ข้าหลวงมีอำนาจจะสั่งให้ทำอันใด จะห้ามไม่ให้ทำอันใดโดยตรงๆ เปนการเปิดเผยในที่ควรเปิดเผย ฤๅเป็นการลับๆ โดยเปนการแนะนำสั่งสอนลาวต้องทำตาม ในการที่ไม่ควรจะเปิดเผย

“เมื่อจะว่าโดยย่อแล้วให้ลาวเปนเหมือนหนึ่งเครื่องจักร ซึ่งเราจะหมุ่นให้ไปข้างน่าฤๅให้มาข้างหลังก็ได้ตามใจชอบ ดังนั้นแล้ว เปนถูกต้องกับความปรารถนาของกรุงเทพฯ แต่เปนการจำเปนที่จะต้องทำการอย่างนี้ด้วยสติปัญญา เปนมากกว่าอำนาจกำลัง ต้องอย่าให้ลาวเหนว่าเปนการบีบคั้นกดขี่ ต้องใช้ให้เหนในการที่เปนประโยชน์ แลไม่เป็นประโยชน์เปนพื้น

“พระยาราชสัมภารากรต้องถือว่า ถ้าพูดกับฝรั่งฝ่ายหนึ่ง ลาวฝ่ายหนึ่ง ต้องถือว่าฝรั่งเปนเขา ลาวเปนไทย ถ้าพูดกับลาวฝ่ายหนึ่ง ไทยฝ่ายหนึ่ง ต้องถือว่าลาวเปนเขา ไทยเปนเรา อย่าให้ถือตามแบบเก่าๆ ซึ่งข้าราชการประพฤติชั่วเหมือนอย่างพระยาราชเสนาเปนต้นดังนี้ เหนนายของตัวเองเปนเขา จะทำอันใดก็ตั้งใจปิดนาย ฝ่ายคนอื่นเขาจะรู้ซึ่งเปนไร ดังนี้ใช้ไม่ได้ เปนความคิดของคนหัวด้วน…”

(หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.5 สารบาญสมุดพิเศษ เล่ม 8 ร. ที่ 168/45)

โดยวิธีการหลักในการสร้างรัฐชาติของสยามได้แก่ การ [ส่งคณะออกสำรวจบริเวณชายขอบชายแดนเพื่อปักปันเขตแดนทำแผนที่+ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองควบคุมดินแดน+เจรจาต่อรองทางการทูตบนโต๊ะประชุม] ควบคู่ขนานกันและแก่งแย่งแข่งขันกันไปกับมหาอำนาจจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและอังกฤษ

สำหรับอังกฤษซึ่งเข้ายึดครองพม่าและมลายูนั้น สยามใช้การเจรจาต่อรองทางการทูตและร่วมกันปักปันเขตแดนทำแผนที่ทางใต้และตะวันตกเป็นหลัก

แต่ส่วนฝรั่งเศสซึ่งเข้ายึดครองอินโดจีนทางตะวันออก สยามใช้การส่งกำลังทหารเข้ายึดครองควบคุมดินแดนลาวควบคู่กับคณะทำแผนที่เข้าปักปันเขตแดนเป็นสำคัญ จึงนำไปสู่ความขัดแย้งกับทหารและนักการทูต-นักสำรวจฝรั่งเศส (ฌ็อง มารี โอกุสต์ ปาวี, ค.ศ.1847-1925) ถึงขั้นปะทะรบพุ่งกัน กองเรือรบฝรั่งเศสได้เข้าปิดอ่าวไทย บีบคั้นให้สยามต้องยอมอ่อนข้อตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสในการพิพาทเรื่องดินแดนลาวในที่สุด ดังที่เรียกกันว่า “วิกฤตการณ์ ร.ศ.112” (พ.ศ.2436/ค.ศ.1893) (ดู ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผนที่, บทที่ 5 ชายขอบ และ บทที่ 6 แผนที่ : เทคโนโลยีใหม่ของพื้นที่/ภูมิ)

การจำลองภาพและตีความร่วมสมัยลงมาถึงชั้นหลังส่วนใหญ่ มองวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ว่าเป็นเรื่องของ “หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม” ซึ่งมหาอำนาจอาณานิคมยุโรปรังแกชาติเอกราชเล็กๆ ในเอเชียอาคเนย์จนฝ่ายหลังต้องเสียดินแดนไป

(อาทิ แพทริค ทัก, หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม : ภัยคุกคามของฝรั่งเศสต่อความเป็นเอกราชของสยาม ปี ค.ศ.1858-1907)

ทว่า ต่อเรื่องนี้ ธงชัย วินิจจะกูล มองต่างมุม เขาตีความกรณีขัดแย้งนี้ใน Siam Mapped โดยวางมันไว้ในบริบททางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของกระบวนการก่อกำเนิดชาติสยามจากแผนที่ ซึ่งทั้งรัฐอาณานิคมฝรั่งเศสกับรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สยามต่างกำลังพยายามแย่งชิงผนวกรวมประเทศราชต่างๆ ในดินแดนลาวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเขตอำนาจรัฐตน ระหว่างที่เส้นพรมแดนแห่งสองรัฐยังไม่ทันขีดลากลงตัว แผนที่ยังไม่ทันทำเสร็จเรียบร้อย และ “ภูมิกายา” (geo-body) หรือนัยหนึ่งจินตนากรรมในทางพื้นที่ของชาติสยามยังไม่ทันจุติดี ธงชัยอธิบายว่า :

“สิ่งที่เรียกว่าการเสียดินแดน แท้จริงคือการเสียอำนาจเหนือเขตอิทธิพลรอบนอกๆ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่ใช่ของสยาม แต่เป็นเขตของเจ้าประเทศราชนั้นๆ เอง

“การเสียดินแดนจึงหมายถึงการหมดสิทธิอ้างอำนาจเหนือดินแดนเหล่านั้นอีกต่อไป”

(อ้างใน http://www.sujitwongthes.com/2010/08/ให้-“จำ”-เรื่อง-“เสียดิน/)

ที่เรียกว่า “เสียดินแดน” เอาเข้าจริงจึงเป็นเรื่องที่สยามแพ้ในการแย่งชิงประเทศราชกับฝรั่งเศส

ดังนั้น หากจะเปรียบฝรั่งเศสเป็น “หมาป่า” แล้ว ผู้ที่ตกอยู่ในฐานะ “ลูกแกะ” ก็ไม่น่าใช่สยาม หากได้แก่บรรดาประเทศราชลาวทั้งหลายที่ตกเป็นเป้าการแย่งชิงระหว่างสองฝ่ายต่างหาก

สยามไม่ได้เป็น “ลูกแกะ” หากเล่นบทเป็น “หมาป่า” เหมือนฝรั่งเศสนั่นแหละ ชั่วแต่ว่าเราตัวเล็กกว่า จึงพ่ายแพ้เสียประเทศราชลาวทั้งหลายให้แก่หมาป่าตัวใหญ่ไปเท่านั้นเอง

ฉะนี้แล้ว จะว่าไม่มีความแตกต่างอะไรระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในความขัดแย้งแย่งชิงประเทศราชลาว ร.ศ.112 นี้เลยหรือ?

ธงชัยตอบประเด็นนี้โดยอ้างอิงถึงวาทกรรมตัวเรา-ของเรา/คนใน (We-self/Insider discourse) มาปรับประยุกต์มองในทำนอง We-colonialism ว่า :

“แน่นอนว่าผู้ปกครองสยามย่อมไม่คิดว่าตนเป็นเหมือนจักรวรรดินิยมตะวันตก ความแตกต่างสำคัญที่สุดในทัศนะของพวกเขาก็คือ ฝรั่งเศสและมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ เป็นคนต่างด้าวหรือคนต่างชาติ หรือเป็น “เขา” (They) แต่สยามเป็น “เรา” (We) สำหรับคนพื้นถิ่นในภูมิภาค หากคำว่า “ล่าอาณานิคม” ฟังดูรุนแรงเกินไป ก็อาจพูดใหม่ได้ว่าการพิชิตยึดครองมีได้สองแบบ คือโดย “พวกเรา” กับโดย “พวกเขา” ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นความแตกต่างอันทรงพลังที่ทำให้การพิชิตโดย “พวกเรา” ดูเหมือนจะมีความชอบธรรมและควรค่าแก่การเฉลิมฉลองมากกว่า ขณะที่การพิชิตอีกแบบหนึ่งสมควรถูกประณาม แต่แน่นอนว่าผู้คนของเมืองไล แถง หรือแม้กระทั่งหลวงพระบางคงไม่ได้เห็นว่าสยามเป็น “พวกเรา” มากเท่ากับเป็น “พวกเขา””

(กำเนิดสยามจากแผนที่, น.176)