เกษียร เตชะพีระ : อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (การสำรวจรังวัดทำแผนที่ช่วงก่อนเสียดินแดน)

เกษียร เตชะพีระ
  • อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (7)

ย้อนอ่าน ตอน  (6)  (5)

การทำแผนที่ไม่ใช่เรื่องเทคนิคการสำรวจรังวัดพื้นที่และอื่นๆ เท่านั้น

ธงชัย วินิจจะกูล ได้ชี้ไว้ในบทที่ 6 Mapping : A New Technology of Space (แผนที่ : เทคโนโลยีใหม่ของพื้นที่/ภูมิ) ในหนังสือ Siam Mapped (ค.ศ.1994) ว่าในบริบทของการเมืองการปกครองต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 4 และ 5) การทำแผนที่ยังสะท้อนและคล้องจองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนรูปรัฐสยามจาก รัฐราชูปถัมภ์เดิมไปเป็น -> รัฐอาณาเขตแบบใหม่ (old patrimonial state -> modern territorial state) ด้วย

กล่าวคือ เปลี่ยนจากรัฐราชูปถัมภ์เดิมซึ่งตั้งอยู่บนฐานความสัมพันธ์แบบเหลื่อมล้ำเป็นลำดับชั้นแต่ดั้งเดิมในหมู่เจ้าบ้านผ่านเมืองทั้งหลาย (the traditional hierarchical relationships of rulers) จากพระมหากษัตริย์ ผ่านเอกอัครมหาเสนาบดี สู่อำมาตย์ใหญ่น้อย ลงไปจนถึงเจ้าประเทศราชและไพร่ข้าตามทำเนียบศักดินา

ไปเป็นรัฐอาณาเขตแบบใหม่ อันเป็นการบริหารจัดการรัฐกิจแบบใหม่บนพื้นฐานอาณาเขตหรือดินแดนเป็นที่ตั้ง (the new administration on a territorial basis) และฉะนั้น เพื่อให้การบริหารรัฐกิจแบบใหม่ทำได้และมีประสิทธิภาพจึงต้องยึดพื้นที่เป็นหน่วยบริหาร (หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ราชธานี) แทนที่จะยึดตัวผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์เป็นหลักเกณฑ์ดังแต่เดิมมา (พระมหากษัตริย์ -> วังหน้า สมุหกลาโหม สมุหนายก เจ้าเมืองหัวเมืองชั้นใน/ชั้นนอก เจ้าประเทศราช ลดหลั่นกันลงไป เป็นต้น)

เพื่อประโยชน์แห่งการบริหารรัฐอาณาเขตแบบใหม่ การทำแผนที่ประเทศละเอียดลงไปในชั้นจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ฯลฯ พร้อมทั้งสำรวจสำมะโนครัวประชากร (mapping & census) จึงจำเป็นและสำคัญ เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถกุมสภาพความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ รู้จำนวน อาชีพ เพศ วัย ฐานะของประชากรในแต่ละเขต คาดคำนวณผลผลิตทางเศรษฐกิจ รายได้ ประเมินและตามเรียกเก็บภาษีอากรเข้าคลังหลวง รวมทั้งกะเกณฑ์ผู้คนเป็นพลรบในยามสงคราม และในทางกลับกัน ก็คาดคะเนรายจ่ายงบประมาณที่หลวงต้องใช้เพื่อสนองบริการขั้นพื้นฐานแก่ประชากรในแต่ละเขตพื้นที่ ตั้งแต่ถนนหนทาง สาธารณูปโภค การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข ฯลฯ

การทำแผนที่จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นแก่โครงการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยของยุคนั้น (modernization mapping) ดังที่ธงชัยอธิบายว่า :

“การทำแผนที่และการสำรวจภูมิประเทศดูจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปรับปรุงกรุงเทพฯ และหัวเมืองบางแห่งให้ทันสมัย บทบาทนี้ขยายมากยิ่งขึ้นในรัชสมัยต่อมาอันเป็นยุคที่สยามมุ่งสู่ความทันสมัยอย่างรวดเร็ว การเติบโตของเมืองและโครงการก่อสร้างต่างๆ ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนน ทางรถไฟ และโทรเลข จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีแผนที่ทั้งในแง่ความรู้ ช่างเทคนิคและอุปกรณ์ต่างๆ”

(กำเนิดสยามจากแผนที่, น.192)

ก็แลการทำแผนที่และการสร้างรัฐอาณาเขตแบบใหม่ เพื่อบรรจุรัฐชาติสยามลงไปในลูกโลกอันรายรอบด้วยรัฐชาติและรัฐอาณานิคมอื่นๆ ในอาณาบริเวณที่ไม่เคยมีเส้นรูปรอยพรมแดนของรัฐต่างๆ อย่างแน่ถนัดชัดเจนมาก่อนนั้น ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งแก่งแย่งกันเป็นธรรมดา โดยเฉพาะแถวพื้นที่ชายขอบ (margins) อันเป็นที่ตั้งของบรรดาเมืองประเทศราชแต่เดิม ว่าจะลากเส้นแบ่งพรมแดนกันตรงไหนอย่างไรในแถบพื้นที่กว้างคั่นกลางระหว่างรัฐชาติสยามกับรัฐอื่นๆ รายรอบนั้น

ดังนั้น ประเด็นเส้นเขตแดน (boundary) อันไม่เคยเป็นปัญหาให้ต้องพิพาทแก่งแย่งกันระหว่างรัฐราชูปถัมภ์เก่าทั้งหลายแหล่มาแต่เดิม โดยอยู่ร่วมกันอย่างฉันมิตรประเทศเพื่อนบ้านบ้าง ทะเลาะเบาะแว้งรบพุ่งกันบ้างท่ามกลางความคลุมเครือของเขตแดน บัดนี้กลับกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่มิอาจปล่อยให้คลุมเครืออีกต่อไป หากแต่ต้องทำให้ชัดเจนแน่นอนแม่นยำขึ้นมาถึงขั้นระบุเส้นรุ้งเส้นแวงตำแหน่งที่ตั้งกี่ลิปดากี่ผิลิปดา เพื่อกำหนดจุดลากเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างรัฐชาติสยามกับรัฐเพื่อนบ้านลงบนแผนที่โลกให้จงได้ ในฐานที่ต่างก็กำลังพัฒนาคลี่คลายกลายเป็นรัฐอาณาเขตแบบใหม่ (modern territorial state) ด้วยกันทั้งนั้นทั้งสิ้น

ฉะนั้น การสำรวจรังวัดทำแผนที่ (mapping) ของรัฐชาติสยามและรัฐอาณานิคมที่รายรอบ โดยเฉพาะของฝรั่งเศสทางตะวันออกที่กำลังพยายามแย่งชิงดินแดนประเทศราชทั้งหลายในลาวกับสยาม จึงต้องดำเนินควบคู่กันไปกับการกรีธาทัพใช้กำลังทหาร (military force) ไปแย่งยึดปักปันดินแดนแข่งขันกันอย่างดุเดือดเป็นกระบวนการเดียวกัน ชนิดที่ต่างฝ่ายต่างก็เดินทัพไป ยึดพื้นที่ไป สำรวจรังวัดปักปันดินแดนลากเส้นเขตแดนบนแผนที่ไป

แผนที่ราชอาณาจักรสยามฉบับสำเร็จแรกสุดของแม็กคาร์ธี พ.ศ.2431
คัดลอกจาก SiamMapped

จนบางทีคณะทำแผนที่ก็ถึงแก่ล่วงหน้าไปสำรวจรังวัดปักปันดินแดนลากเส้นเขตแดนบนแผ่นกระดาษแผนที่ขึ้นก่อน แล้วกำลังทหารค่อยตามหลังไปยึดครองพิทักษ์รักษาดินแดนดังที่ลากเส้นนำร่องไว้ในแผนที่นั้นอีกทีหนึ่ง ในทำนองการทำแผนที่เป็นหัวหอกออกหน้าการยึดครองพื้นที่ทีเดียว (“Mapping spearheaded the conquest.” Siam Mapped, p.126)

และบนพื้นที่แถบกว้างของเหล่าประเทศราชที่อยู่กึ่งกลางระหว่างรัฐอาณาเขตที่กำลังสร้างและสถาปนาเส้นเขตแดนของตนสองรัฐนั้น จะลากเส้นเขตแดนลงไปตรงไหนในพื้นที่แถบกว้างดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่เปิดปลายแก่การโต้แย้งพิพาทกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะทุกๆ เส้นเขตแดนที่ต่างฝ่ายต่างทึกทักลากขึ้นบนพื้นที่แถบกว้างที่ว่า ก็ล้วน “ชอบธรรม” หรือ “ถูกต้อง” (และในทางกลับกัน ก็ “ไม่ชอบธรรม” หรือ “ผิดพลาด”) พอๆ กันทั้งสิ้น

เพราะเส้นเขตแดนดังกล่าวมันไม่เคยดำรงอยู่มาก่อนในรัฐราชูปถัมภ์แบบเก่านั่นเอง!

อุปมาเสมือนหนึ่งเด็กสองคนที่เรียนหนังสืออยู่ด้วยกันบนโต๊ะคู่ในห้องเรียน โดยไม่เคยมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งอะไรกันมาก่อน แล้วจู่ๆ วันหนึ่งเกิดผิดใจกัน จึงต่างคนต่างเอานิ้วลากเส้นเขตแดนที่มองไม่เห็นแบ่งโต๊ะเรียนกันขึ้น นี่เขตฉัน นั่นเขตเธอ ห้ามล้ำเขต เอาสมุดหนังสือยางลบไม้บรรทัดของเธอออกไป อย่ายื่นแขนล้ำเส้นเข้ามา แล้วก็หยิกตีกันเป็นพัลวัน ฯลฯ

ทว่า เส้นแบ่งเขตโต๊ะเรียนที่เด็กทั้งสองลากควรจะอยู่ตรงไหน อย่างไร ไม่มีใครบอกได้ เพราะทุกๆ เส้นที่ต่างคนต่างลากขึ้นตรงนั้นตรงนู้นตรงนี้ก็ล้วน “ชอบธรรม/ถูกต้อง” หรือ “ไม่ชอบธรรม/ผิดพลาด” พอๆ กันทั้งสิ้น เนื่องจากมันไม่เคยดำรงอยู่มาก่อนบนโต๊ะเรียนตัวนั้นในตอนที่เด็กทั้งสองยังถูกคอกันดีนั่นเอง

ในที่สุด ข้อพิพาทสืบเนื่องจากการทำแผนที่ควบกรีธากำลังทัพเข้ายึดครองดินแดนประเทศราชในลาวของรัฐชาติสยามกับรัฐอาณานิคมฝรั่งเศสก็นำไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสยกเรือรบมาปิดปากน้ำล้อมกรุงเทพฯ ไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5

และด้วยแสนยานุภาพที่ด้อยกว่า สยามจึงตกลงยอมสละการอ้างสิทธิอธิปไตย (แบบรัฐเขตแดนสมัยใหม่) เหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่รัฐอาณานิคมฝรั่งเศสไป