เกษียร เตชะพีระ : อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (ความรู้ทางภูมิศาสตร์ในช่วงรัชกาลที่ 4)

เกษียร เตชะพีระ

อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (5)

ย้อนอ่านตอน  (4)  (3)

ความรู้ภูมิศาสตร์แบบใหม่ที่มาถึงสยามในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2394-2411) ได้เข้าปะทะปรับเปลี่ยนโลกทัศน์เชิงพื้นที่ของไทย ในกระบวนการที่มีลักษณะเผชิญหน้า หักล้าง ปั่นป่วนและเจ็บปวด หากมิใช่ในลักษณะเชื่องช้า ราบรื่น ค่อยเป็นค่อยไปแต่อย่างใด

โดยแก่นสารสาระแล้ว มันนำเสนอ [ลูกโลกทรงกลม ซึ่งบนพื้นผิวกอปรไปด้วยนานาประเทศชาติที่มีเส้นพรมแดนแบ่งเขตจากกันแน่ชัด รายรอบประชิดติดกันอยู่]

การจัดการให้ [ชาติสยาม] ในหัวหรือจินตนากรรมของชนชั้นนำยุคนั้น เข้าไปจุติบังเกิดสมทบเป็นภาคีสมาชิกใหม่แห่งประชาคมนานาชาติอยู่บนแผนที่ลูกโลกดังกล่าว เรียกร้องต้องการการคิดใหม่เกี่ยวกับหน่วยระเบียบอำนาจแต่เดิมของสยาม ในประเด็น เส้นพรมแดน/เส้นเขตแดน, อำนาจอธิปไตย และชายขอบ ที่ต่างไปจากการคิดเข้าใจแต่เดิมมา

ทว่า การคิดเข้าใจแต่เดิมดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ง่ายที่คนสมัยใหม่อย่างเราจะทำความเข้าใจ เพราะเราได้หลุดพ้น – เลิกคิดเลิกเข้าใจ หน่วยระเบียบอำนาจแบบเดิมก่อนรัฐชาติ มานมนานแล้ว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายภาพกับคณะอาคันตุกะชาวตะวันตกหน้าพลับพลา
ที่ประทับค่ายหลวง ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในการเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง 18
สิงหาคม พ.ศ.2411

ตรงกันข้าม ตั้งแต่อ้อนแต่ออก พอเราเริ่มเรียนรู้ที่จะคิดและเข้าใจหน่วยระเบียบอำนาจในโลก เราก็คิดเข้าใจมันในแบบใหม่ที่เป็นรัฐชาตินานาประเทศบนพื้นผิวลูกโลกทรงกลมที่เรา “เห็น” ผ่านการดูแผนที่มาตลอด จนแม้หลับตาเราก็ยังนึกเห็นได้

(อันที่จริงทางเดียวที่เราจะมอง “เห็นชาติ” โดยรวมอย่างเป็นรูปธรรมได้คือดูมันบนแผนที่ หรือไม่ก็หลับตานึกเอาเท่านั้น ไม่มีทางอื่น)

ขณะที่หน่วยอำนาจแบบเดิมตามที่ ธงชัย วินิจจะกูล บรรยายใน Siam Mapped (บทที่ 3-5) นั้นแตกต่างออกไปทั้งในแง่เส้นพรมแดน, อำนาจอธิปไตยและชายขอบ จนนึกภาพเห็นได้ยากยิ่ง

ธงชัยบรรยายหน่วยระเบียบอำนาจแบบเดิมของสยามและนานาประเทศในภูมิภาคนี้ก่อนยุครัฐชาติสมัยใหม่ว่า :-

– เป็น nonbounded kingdom หรือ ราชอาณาจักรที่ไร้เส้นรอบขอบชิด

– ที่มี discontinuous boundaries หรือ เส้นพรมแดนที่ไม่ต่อเนื่อง

– และมี a corridor border หรือ พรมแดนที่เป็นแถบหรือระเบียง

– “a kingdom was composed of political-territorial patches with a lot of blank space in between” (p.75) หรือ “ราชอาณาจักรประกอบไปด้วยชิ้นส่วนทางการเมือง-อาณาดินแดนต่างๆ ที่มาปะติดปะต่อกันเป็นหย่อมๆ โดยมีที่ว่างระหว่างกลางอยู่จำนวนมาก” (คำแปลของผมเอง คำว่า “ชิ้นส่วนทางการเมือง-อาณาดินแดนต่างๆ” ก็คือเมืองต่างๆ ในราชอาณาจักร)

– “a discontinuous, patchy arrangement of power units” (p.79) “หน่วยอำนาจต่างๆ ที่มาปะติดปะต่อเข้าเป็นหย่อมๆ โดยไม่ต่อเนื่องกัน” (คำแปลของผมเอง “หน่วยอำนาจต่างๆ” ก็คือเมืองต่างๆ ในราชอาณาจักร)

ถ้าลองนึกภาพราชอาณาจักรเดิมก่อนรัฐชาติของสยามดู ก็จะออกมาแปลกประหลาดและพิลึกพิสดารมาก กล่าวคือคล้ายพรม (เช็ดเท้า) ที่ทำจากผ้าหลากสีมาเย็บเข้าด้วยกัน (ดูภาพประกอบ) ชั่วแต่ว่าไม่ติดต่อแนบเนื่องกันเป็นผืนเดียว หากมีรูแหว่งโหว่ขาดวิ่นระหว่างกลางอยู่จำนวนมากนั่นเอง

เป็นเรื่องจนด้วยเกล้าที่ผมจะหาภาพประกอบหรือวาดมันขึ้นให้ใกล้เคียงกับความคิดเข้าใจดังที่ธงชัยวิเคราะห์บรรยายมากกว่านี้, คงต้องอาศัยพลังจินตนาการของท่านผู้อ่านเอง

ในแง่อำนาจอธิปไตยของหน่วยระเบียบอำนาจแบบเดิมก่อนรัฐชาติ นั้นก็แตกต่างไปจากคติอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติสมัยใหม่ กล่าวคือมันเป็น อำนาจอธิปไตยที่เหลื่อมซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ (a sovereignty of hierarchical layers) โดยมีลักษณะคุณสมบัติแตกต่างจากคติสมัยใหม่ดังนี้คือ (ประมวลจากคำคุณศัพท์ที่ธงชัยใช้บรรยายอำนาจอธิปไตยทั้งสองแบบ) :-

ลักษณะอำนาจอธิปไตยแบบเก่าจะเห็นได้ชัดหากพิจารณาระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบบรรณาการ (tributary relationship) ระหว่างราชอาณาจักรแบบเดิม (สมัยกรุงศรีอยุธยามาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์) กับเมืองประเทศราชชายขอบทั้งหลาย (ไม่ว่าหัวเมืองมลายูทางใต้ หัวเมืองลาวทางเหนือและล้านนา)

กล่าวคือ ประเทศราชเหล่านั้นมีอำนาจทับซ้อนเหลื่อมล้ำกันอยู่หลายชั้น ทั้งอำนาจของเจ้าเมืองประเทศราชเอง และอำนาจเหนือของราชอาณาจักรใหญ่ในฐานที่เป็นผู้รับความสวามิภักดิ์ที่เรียกว่า “อธิราชย์” (suzerainty ดูพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวยากร, “คำเกี่ยวกับอำนาจในการปกครอง”, ศัพท์สนธิสัญญาและการเมือง, พ.ศ.2481, น.107) ซึ่งอาจมีองค์อธิราชย์เหนือประเทศราชแห่งเดียวมากกว่าหนึ่งก็เป็นได้ เช่น เขมรมีทั้งสยามและเวียดนามเป็นอธิราชย์ เป็นต้น จึงเรียกประเทศราชเหล่านี้ว่า “เมืองสองฝ่ายฟ้า” บ้าง “เมืองสามฝ่ายฟ้า” บ้าง

ปกติอธิราชย์จะไม่เข้าไปปกครองประเทศราชโดยตรง เพียงรอรับดอกไม้เงินดอกไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการที่เจ้าเมืองประเทศราชส่งมาถวายแสดงความสวามิภักดิ์ตามวาระประจำ และกะเกณฑ์ข้าวปลาอาหารกำลังคนจากประเทศราชมาหนุนช่วยในยามอธิราชย์เผชิญศึกสงครามใหญ่ แลกกับการรับรองฐานะอำนาจอันชอบธรรมของเจ้าเมืองประเทศราช

อธิราชย์จะส่งกำลังทัพเข้าไปยังประเทศราชก็ต่อเมื่อเจ้าประเทศราชแข็งข้อก่อการกำเริบเอาใจออกห่าง ไม่ส่งบรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทองมาตามประเพณี หรือบิดพลิ้วไม่ส่งข้าวปลาอาหารกำลังคนให้เมื่อกะเกณฑ์ แต่กลับไปสวามิภักดิ์อธิราชย์อื่น

หรือมิฉะนั้นก็อาจส่งกำลังทัพเข้าไปตามที่ถูกร้องขอเพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองในยามประเทศราชนั้นถูกราชอาณาจักรอื่นหรือโจรผู้ร้ายคุกคาม หรือเพื่อแทรกแซงเมื่อเกิดความวุ่นวายจลาจลแย่งชิงอำนาจกันในเมืองประเทศราช

จนเมื่อจัดแจงให้ประเทศราชสงบ มีเจ้าประเทศราชที่อธิราชย์เห็นชอบรับรองขึ้นครองเมืองแล้ว ก็ยกทัพกลับปล่อยให้ปกครองดูแลกันเองต่อไป คืนสู่สภาพความสัมพันธ์แบบเดิม

ความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบบรรณาการเชิงอธิราชย์-ประเทศราชนี้จึงหลวมๆ (สัมพันธ์แบบเหลื่อมล้ำระหว่างอำนาจใหญ่-อำนาจเล็ก ต่างมีพันธกรณีเชิงแลกเปลี่ยนต่อกัน แต่ไม่ใช่ปกครองโดยตรงแบบเมืองขึ้น) และกำกวม (จะว่าประเทศราชสมัครใจขอสวามิภักดิ์เพื่อพึ่งพระบรมโพธิสมภารของอธิราชย์มาปกป้องคุ้มครองก็ได้ หรือจะว่าอธิราชย์ใช้กำลังเหนือกว่าบังคับยัดเยียดให้ประเทศราชสยบยอมก็ได้ มันเป็นความจริงทั้งคู่ แล้วแต่สภาพการณ์ บริบท การตีความ ฯลฯ)

มันเป็นความสัมพันธ์อันมีพลวัตที่พลิกผันบิดพลิ้วเปลี่ยนแปรไปได้ขึ้นกับดุลกำลังอำนาจสัมพัทธ์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแอลงแตกต่างกันไปตามสภาวการณ์ เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจทาง (ค่อนข้าง) ไกลที่ให้ทั้งหลักประกันความมั่นคงแน่นอนในระดับหนึ่ง แต่ก็สะดวกคล่องตัวพอที่จะพลิกพลิ้วผ่อนผันได้ตามความจำเป็นแล้วแต่กรณี

หัวเมืองประเทศราชทั้งหลายก็มีความสัมพันธ์แบบนี้กับสยาม ควบคู่ขนานทับซ้อนกับพม่าและเวียดนาม, สยามเองก็มีความสัมพันธ์แบบ “จิ้มก้อง” นี้กับราชอาณาจักรจีน ตั้วเฮียหรือมหาอำนาจใหญ่ในภูมิภาค

เช่นเดียวกับที่เรามักเห็นการจำลองสภาพความสัมพันธ์แบบนี้บ่อยๆ ในหนังประวัติศาสตร์ย้อนยุคระหว่างอธิราชย์จีนกับประเทศราชเกาหลี (เช่น ราชวงศ์หยวนกับอาณาจักรโครยอ, ราชวงศ์หมิงกับอาณาจักรโชซ็อน) เป็นต้น