เกษียร เตชะพีระ : อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (3)

เกษียร เตชะพีระ

ย้อนอ่าน เกษียร เตชะพีระ : อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ ตอน (1) (2)

หลังจากรื้อถอน “ความเป็นไทย” ในวาทกรรมตัวเราของเรา/คนใน (We-self/insider discourse) ในบทนำจนไม่เหลือหลอแล้ว บทตอนถัดๆ มาของหนังสือ Siam Mapped ก็เล่าเรื่องไล่เรียงไปตามลำดับตรรกะทำนองนี้ :-

บทที่ 1 ภูมิของคนพื้นถิ่นและแผนที่โบราณ : ว่าด้วยวาทกรรมหรือโลกทัศน์ในทางพื้นที่ของคนโบราณ/ก่อนสมัยใหม่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นพื้นฐานและกรอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกในทางพื้นที่ของพวกเขา

บทที่ 2 ภูมิศาสตร์แบบใหม่กำลังมา : ว่าด้วยการมาถึงสยามของภูมิศาสตร์แบบใหม่ ในฐานะส่วนหนึ่งของการปฏิรูปทางการเมือง-ภูมิปัญญาของชนชั้นนำไทยภายใต้อิทธิพลลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก ซึ่งเข้าปะทะประสาน เบียดขับและแทนที่ความรู้และโลกทัศน์ในทางพื้นที่แบบโบราณ ผ่านกระบวนการแปล/แปร

บทที่ 3 เส้นเขตแดน, บทที่ 4 อำนาจอธิปัตย์, บทที่ 5 ชายขอบ : ว่าด้วยแง่มุมสำคัญด้านต่างๆ ของภูมิศาสตร์แบบใหม่เกี่ยวกับรัฐชาติ ซึ่งเข้าปะทะ เบียดขับและแทนที่แนวคิดแบบเก่าเกี่ยวกับรัฐ ความสัมพันธ์ทางอำนาจ และพื้นที่เขตแดนของรัฐ ผ่านความรู้ การปฏิบัติ และการใช้อำนาจรัฐทางการเมือง การทหารและการทูต ของสยามกับรัฐอาณานิคมรายรอบ

บทที่ 6 แผนที่ : เทคโนโลยีใหม่ของพื้นที่/ภูมิ : บทบาทใจกลางของเทคโนโลยีการทำแผนที่ในกระบวนการเปลี่ยนรูปรัฐสยามจากรัฐราชูปถัมภ์แบบเดิมไปเป็นรัฐอาณาดินแดนแบบใหม่ ผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างแผนที่ การปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย กำลังทหารและการทูต

บทที่ 7 ภูมิกายา : การจุติของชาติออกมาเป็นภูมิกายาหรือนัยหนึ่งองคภาวะจินตนากรรมในทางพื้นที่ผ่านอำนาจวาทกรรมแผนที่ แผนที่ในฐานะองค์ประธานของกระบวนการสร้างภูมิกายาที่แท้จริงโดยมีคนเป็นเครื่องมืออย่างไร้สำนึก การอุ้มชูป้อนเลี้ยงและยืมพลังถ่ายทอดพลังระหว่างวาทกรรมภูมิกายากับวาทกรรมทรงพลังอื่นๆ ได้แก่ วาทกรรมชาติ วาทกรรมแผ่นดิน และวาทกรรมกษัตริย์ บทบาทและพลังของแผนที่ในฐานะอภิสัญญะ

บทที่ 8 ภูมิกายาและประวัติศาสตร์ : การเขียนอดีต/ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำทางอำนาจให้กลมกลืนต่อเนื่องราวภูษิตไหมฟ้าไร้รอยตะเข็บเพื่อข้ามผ่านกลบเกลื่อนกดทับรอยปริแยกแตกร้าวในระเบียบอำนาจครั้งสำคัญต่างๆ เช่น กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง, วิกฤต ร.ศ.112, และการปฏิวัติ 2475 และพลังของภูมิกายาในการย้อนยุคกลับไปเขียนอดีตใหม่ให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ชาตินิยมแห่งการเสียดินแดนที่ผิดกาละผิดยุคสมัยเพื่อมารับใช้ปัจจุบัน นำไปสู่โครงเรื่องแม่บทของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาก้าวหน้าเปลี่ยนแปลง

และอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องของภัยคุกคามภายนอกและการต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชเอาชาติรอดผ่านการปฏิรูปเรื่อยมา

ผมขอวกกลับไปอ่านต่อบทที่ 1 ภูมิของคนพื้นถิ่นและแผนที่โบราณ

ความยากในการทำความเข้าใจเนื้อหาบทที่ 1 (รวมทั้งบทที่ 3, 4, 5) ของ Siam Mapped อยู่ตรงผู้เขียนพยายามสื่อสารให้เราเข้าถึงจินตนาการและการมองโลกเชิงพื้นที่ของคนโบราณ/ก่อนสมัยใหม่ ซึ่งคนสมัยใหม่หรือหลังสมัยใหม่อย่างเราไม่เคยมีอยู่ในหัว

เพราะเราได้เสียตัวเสียหัวหรือเสียพรหมจรรย์ทางความคิดให้แก่จินตนาการและการมองโลกเชิงพื้นที่แบบใหม่ไปหมดแล้ว

เราได้ถูกความรู้ภูมิศาสตร์สมัยใหม่ “เปิดบริสุทธิ์” ไปเรียบร้อยตั้งนานแล้ว

จินตนากรรมโลกทรงกลมซึ่งบรรจุแน่นขนัดไปด้วยรัฐชาตินานาประเทศได้จับจองจินตนาการเรื่องพื้นที่ของเราจนเต็มเพียบแล้ว ไม่ค่อยเหลือที่ที่จะเบียดเสียดเล็ดลอดไปเล็งเห็นหรือนึกออกซึ่งโลกทัศน์เชิงพื้นที่ในแบบเก่าได้อีก

ดังนั้น เราอาจต้องลองเริ่มพยายามคิดย้อนยุคเชิงพื้นที่ดังกล่าวโดยเทียบเคียงกับจินตนาการและการมองโลกเชิงเวลา

อย่างหนึ่งที่เราท่านมักทำเป็นประจำเวลาหยิบสื่อสิ่งพิมพ์มาอ่านคือดูคอลัมน์คำทำนายโชคชะตาประจำวัน/สัปดาห์/เดือน/ปี แล้วแต่กรณี

ผมจำได้ว่าสมัยเด็กนั้น คำทำนายโชคชะตาส่วนใหญ่มากับหนังสือปกอ่อนเล่มเล็กๆ ที่แม่ซื้อเข้าบ้านหรือรายการวิทยุที่แม่เปิดฟังเป็นประจำ โดยจะดูดวงตามวันเกิด 7 วันของสัปดาห์ เช่น ดวงของท่านที่เกิดวันจันทร์ (วันเกิดของผม) กำลังดียิ่ง ขอทำนายว่าในสัปดาห์/เดือนต่อไปนี้ ชีวิตการงานความรักโชคลาภของท่านจะ… ส่วนดวงของท่านที่เกิดวันอังคารไม่สู้ดีนัก ขอทำนายว่า… ไปเรื่อยๆ

พอโตขึ้นสักหน่อยย่างเข้าวัยหนุ่ม กระแสนิยมเปลี่ยน คำทำนายโชคชะตาหันไปอิงปีนักษัตร 12 ราศีแทน ว่าท่านที่เกิดปีชวด หรือฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน ขอทำนายว่าในปีหน้านี้ ชีวิตการงานความรักโชคลาภของท่านจะ … ดังที่คลี่คลายแตกแนวมาเป็นความเชื่อเรื่อง “ปีชง” ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าปีเกิดนักษัตรของใครตรงกับปีชงปีนี้ ก็จะต้องไปทำพิธีแก้ชงหรือสะเดาะเคราะห์ตามศาลเจ้า เพื่อให้ผ่านพ้นปีชงปีนี้ไปอย่างปลอดภัย

แต่มาชั้นหลัง ถ้าดูตามหนังสือพิมพ์นิตยสารไทย-อังกฤษ คำทำนายโชคชะตาแทบทั้งหมดไม่ได้อิงความเชื่อเรื่องปีนักษัตรแล้ว แต่หันไปนิยมอิง Zodiac Signs ของโหราศาสตร์ตะวันตกแทน

โดยแบ่งปีหนึ่งเป็น 12 ช่วง (เหลื่อมกับเดือนปกติ) วันเกิดใครตรงกับช่วงของ Zodiac Sign ไหน (ของผมนั้น หมอทรัพย์ สวนพลู จัดให้เกิดอยู่ในราศีธนูหรือ Sagittarius แต่หมอดู Jeraldine Saunders แห่ง Bangkok Post จัดเป็นราศีมังกรหรือ Capricorn)

ก็ทำนายว่าวันนี้หรือสัปดาห์/เดือน/ปีถัดไป โชคชะตาจะเป็นอย่างไร ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าในเวลารูปธรรมหนึ่งๆ มีกรอบจินตนาการให้เรามองและให้ความหมายกับช่วงเวลาหนึ่งๆ นั้นไปได้หลายแบบ อาจเป็นวันของสัปดาห์, ปีนักษัตร, หรือ Zodiac Signs และแต่ละกรอบจินตนาการก็ให้ความหมาย/ทำนายนัยต่อชีวิตของช่วงเวลารูปธรรมเดียวกันไปได้ต่างๆ นานา-ฉันใด

ในสมัยโบราณ/ก่อนสมัยใหม่ ยามที่คนสมัยนั้นมองพื้นที่รูปธรรมที่รายรอบตัวและเห็นได้ พวกเขาก็ไม่ได้มองมันด้วยตาเปล่า เฉยๆ หากมองมันไปเชื่อมโยงกับโลกที่พ้นสายตาออกไปผ่านชุด [ระเบียบโลกทัศน์ศักดิ์สิทธิ์] – ซึ่งอาจเป็นแบบไตรภูมิกถาของทางพุทธศาสนา, แบบพุทธประวัติ, หรือแบบความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นต่างๆ –

พวกเขามองผ่านชุดระเบียบโลกทัศน์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ไปเห็น ไปจัดระเบียบตกแต่งและให้ความหมายแก่โลกพื้นที่รูปธรรมวัตถุธรรมภายนอก-ฉันนั้น

เช่น สมมุติว่าคนโบราณมายืนอยู่ที่สนามหลวง ในทางพื้นที่รูปธรรมเขาย่อมมองเห็นวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ฯลฯ เป็นต้น

แต่เขาไม่ได้ “เห็น” แค่นั้น

เขายัง “เห็น” ล่วงเลยออกไปโดยเชื่อมโยงมันเข้ากับระเบียบโลกทัศน์ศักดิ์สิทธิ์ที่เขามองไม่เห็น แต่คิดนึกจินตนาการเป็นกรอบในทางพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ว่าสนามหลวงและสถานที่รายรอบต่างๆ สัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างไรกับ ชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป เขาพระสุเมรุ อุทยานลุมพินีอันเป็นที่ประสูติ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธอันเป็นที่ตรัสรู้ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันอันเป็นที่แสดงธรรมปฐมเทศนา และเมืองกุสินารา แคว้นมัลละอันเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า สวรรค์ นรก ฯลฯ

นี่คือโลกเชิงพื้นที่ที่เขาเห็น + “เห็น” ทับซ้อนเหลื่อมกลืนเชื่อมโยงกันอยู่ มันทั้งหลายประกอบกันเข้าเป็นโลกเชิงพื้นที่ที่มีความหมายสำคัญสำหรับเขาและเป็นที่อยู่ที่ยืนรายล้อมชีวิตเขา

แผนที่โบราณ/ก่อนสมัยใหม่ที่ดูแปลกพิลึกพิสดารหรือไขว้เขวผิดเพี้ยนหากถือตามเกณฑ์ตรรกะสมจริงของภูมิศาสตร์ปัจจุบัน (ดูตัวอย่างภาพแผนที่โบราณข้างต้น) จึงสะท้อนโลกความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ที่คนโบราณมองเห็น + “เห็น” ดังกล่าว อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างภูมิลักษณะของโลกที่เป็นจริง (ภูเขา แม่น้ำ วัด เมือง ตำบล หมู่บ้าน ฯลฯ) กับโลกในจินตนาการแบบไตรภูมิกถา พุทธประวัติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่น ฯลฯ โดยมีสัญลักษณ์ทดแทนต่างๆ เชื่อมต่อมันเข้าด้วยกันเป็นหน่วยเดียว ทับซ้อนกันอยู่

เอาล่ะนะครับ ลองลุกขึ้นยืน ชายตามองออกไปไกลๆ รอบตัว

คุณเห็นอะไรบ้าง?

และคุณ “เห็น” อะไรบ้าง?

สิ่งที่คุณเห็นและ “เห็น” เหล่านั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงทับซ้อนเป็นหน่วยเดียวกันรายล้อมตัวคุณอย่างไร?