‘กากแคดเมียม’ ใครซื้อ?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เกิดเป็นคำถามมากมายในทันทีที่มีข่าวโรงงานแอบขุดกากแคดเมียมจากจังหวัดตากเอามาซุกในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ ปริมาณมากมหาศาลถึง 13,882 ตัน หรือเท่ากับ 13.882 ล้านกิโลกรัม

คำถามแรกสุดทำไมจึงปล่อยให้วัตถุอันตรายเช่นแคดเมียมเคลื่อนย้ายอย่างง่ายดายเหมือนขนผักขนปลา?

การอนุญาตให้ขนย้าย “กากแคดเมียม” ที่มีปริมาณมากขนาดนี้ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่แค่ระดับจังหวัดเท่านั้น แต่รัฐบาลจะต้องรู้เพราะกากแคดเมียมมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นสารก่อมะเร็ง

การพิจารณาให้ขุดขนย้ายจึงต้องเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบตามมาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

โรงงานต้องแจ้งกับทางจังหวัดว่าทำไมต้องขุดกากแคดเมียมขึ้นมาจากหลุมกลบฝังอีก จะเอาไปทำอะไรที่ไหนอย่างไร วิธีการขุด ขนย้ายทำด้วยกระบวนการใด

อุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนว่า แคดเมียมคือวัตถุอันตราย และการขนย้ายด้วยจำนวนมโหฬารเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

หากอุตสาหกรรมจังหวัดมีอำนาจตัดสินใจอนุญาตให้โรงงานขุดขนย้ายเพียงลำพังก็นับเป็นเรื่องน่าพิศวงอย่างยิ่ง

หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านสาธารณสุขในระดับจังหวัดทราบหรือไม่ว่าจะขุดขนย้ายกากแคดเมียม

ถ้าทราบทำไมจึงไม่มีมาตรการควบคุมป้องกันการขนย้ายหรือแจ้งให้อุตสาหกรรมจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดรับรู้และเตรียมการวางแผน?

หรือหากไม่มีหน่วยงานใดยกเว้นอุตสาหกรรมจังหวัดได้ทราบว่าจะขนย้ายกากแคดเมียม 13,832 ตันออกจากพื้นที่ นั่นก็แสดงว่า การเคลื่อนย้ายสารอันตรายในบ้านเรามีช่องโหว่อย่างมาก

 

ตามข่าวบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเก่า บริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) จ.ตาก ได้รับอนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดให้ขนย้ายกากแคดเดียมจำนวน 15,000 ตัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 และเริ่มขนย้ายระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 จนถึง 9 กรกฎาคม 2567 ไปยังโรงงานบริษัท เจแอนด์บี เมททอล จำกัด อำเภอเมืองสมุทรสาคร

การขนย้ายกากแคดเมียมเที่ยวสุดท้ายมีขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 อุตสาหกรรมจังหวัดตากอ้างว่ากระบวนการขุดขนย้ายเป็นไปตามคู่มือของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการอนุญาตในระบบอิเล็กทรอนิกส์

“คู่มือการอนุญาตของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ใน 76 จังหวัดเหมือนกันหมด มีรหัสของสารตรงกับคู่มือ และปลายทางมีใบอนุญาตถูกต้องคือมีประเภท 106 และมีโรงหลอมที่ตรงกับประเภทจากต้นทาง สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และเมื่อตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ก็มีข้อมูลที่ตรงกันหมดไม่มีการรั่วไหลระหว่างทาง”

นี่เป็นคำแถลงของอุตสาหกรรมจังหวัดตากที่ทำให้เกิดคำถามตามมาเป็นระลอก

 

ย้อนกลับไปดูรายงานประจำปี 2565 ของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ชี้แจงว่า บริษัท ผาแดง อินดัสทรี ยุติทำเหมืองแร่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อปี 2559 เนื่องจากปริมาณแร่สำรองหมด ในปี 2561 ยุติการถลุงโลหะสังกะสีและโลหะแคดเมียม

ระหว่างปี 2561-2566 กากแคดเมียมฝังกลบอยู่ในบ่อทั้งหมด 7 บ่อบริเวณพื้นที่ของโรงงานตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัดตาก

ระบบฝังกลบกากแคดเมียมนั้นทางบริษัทอ้างว่าเป็นไปตามมาตรการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (EIA : Environmental Impact Assessment)

รายงานประจำปีบอกให้รู้ว่า การถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียมของบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนด์ ปิดฉากตั้งแต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

ส่วนบริษัทผาแดงฯ ในอดีตเคยมีข้อกล่าวหาว่าเป็นตัวการปล่อยน้ำเสียจากเหมืองแร่ลงในแม่น้ำแม่ตาว และกองทิ้งหางแร่ในพื้นที่กลางแจ้งจำนวนมาก เมื่อฝนตก น้ำฝนชะเอาสารปนเปื้อนลงในดินและแหล่งน้ำ

ระหว่างปี 2545-2546 สถาบันบริหารจัดการน้ำนานาชาติ (International Water Management Istitute) นำตัวอย่างในดินและพืชผลเกษตรที่ชาวบ้านปลูกบริเวณห้วยแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ไปวิเคราะห์พบว่า พืชผลเกษตรและดินมีสารปนเปื้อนแคดเมียมสูงเกินค่ามาตรฐาน

นอกจากนี้แล้ว ยังมีผลการตรวจเลือดชาวบ้านในพื้นที่ใกล้กับเหมืองแร่ของผาแดงฯ พบมีสารแคดเมียมในระดับสูงผิดปกติทำให้ไตวายและป่วยเป็นโรคมะเร็ง

ชาวบ้าน 114 คนที่ได้รับผลกระทบยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัทผาแดงฯ

 

นายปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมียม อ.แม่สอด แถลงระบุสาเหตุของการปนเปื้อนเกิดจากการทำเหมืองแร่

แต่ท้ายสุด การตรวจสอบกรณีสารแคดเมียมรั่วไหลมีผลสรุปออกมาว่า “ไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดได้”

มาในปี 2550 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อนุมัติให้บริษัทผาแดงฯ ใช้พื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอและบี กว่า 500 ไร่ ตามด้วยการอนุมัติของนายสุวิทย์ คุณกิตติ ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่สังกะสีใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 25 ปี

“ผาแดงฯ” ประกาศยุติการทำเหมืองสังกะสีและแคดเมียมหันมาทำธุรกิจด้านพลังงานทดแทน และธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจการจัดการกากของเสีย ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนด์ ในปี 2564

ต่อมาปี 2566 บริษัทเบาด์ฯ วางแผนขุดกากแคดเมียมที่ฝังกลบในจังหวัดตากขึ้นมาขายเพื่อหารายได้

การขุดขายแคดเมียมแม้จะเป็นสิทธิของบริษัทบาวด์ฯ เพราะปัจจุบันแคดเมียมมีมูลค่าสูง แต่คำถามอยู่ที่กระบวนการขุดกากแคดเมียมเพื่อเอาไปขายนั้น เป็นเรื่องปกติถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยสุขภาพสิ่งแวดล้อมหรือไม่?

อย่าลืมว่ากากแคดเมียมถูกฝังกลบไปนานแล้ว การขุดจากหลุมฝังกลบต้องแจ้งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะดูแลควบคุมสารพิษอันตรายและมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมโดยตรง

หรืออาจจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพราะปริมาณการขุดมีมากกว่า 13,000 ตัน การขุดจากบ่อฝังกลบต้องเจอปัญหาการปนเปื้อนของสารอันตรายซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

คำถามคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับทราบหรือไม่ว่าบริษัทเบาด์ฯ ได้ขออนุญาตขุดแคดเมียมเอาไปขาย?

ถ้าหากอุตสาหกรรมจังหวัดตากอนุญาตให้บริษัทเบาด์ฯ ขุดกากแคดเมียมขึ้นมาจากบ่อฝังกลบ ถามว่า อุตสาหกรรมจังหวัดใช้อำนาจตามกฎหมายข้อใด?

หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า บริษัทเบาด์ฯ แอบขุดเอามาขายโดยไม่มีฝ่ายใดรู้ล่วงหน้าจนกระทั่งยื่นขอขนย้าย?

 

บริษัทเบาด์ฯ แจ้งกับอุตสาหกรรมจังหวัดตากว่า จะส่งกากแคดเมียมไปยังโรงงานเจแอนด์บี เมททอล จำกัด ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 13,882 ตัน เป็นน้ำหนักที่ต่างกับข้อมูลในเอกสารที่แจ้งกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 15,000 ตัน

แต่เจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นโรงงานเจแอนด์บีฯ พบกากแคดเมียมแค่ 6,491 ตันเท่านั้น ที่เหลือซุกอยู่ในโรงงานอื่นๆ ที่จังหวัดชลบุรี สมุทรสาคร และโรงงานในย่านบางซื่อ กรุงเทพมหานคร รวมแล้ว 12,535 ตัน ยังไม่พบอีกกว่า 1,300 ตัน

โรงงานเจแอนด์บีฯ เดิมนั้นมีเพียงใบอนุญาตหลอมแท่งอะลูมิเนียม แต่ไม่มีใบอนุญาตหลอมแคดเมียม เพิ่งยื่นขออนุญาตติดตั้งเครื่องจักรเพื่อหลอมแคดเมียมเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

ถึงแม้จะมีใบอนุญาตให้หลอมแคดเมียม ทางโรงงานเจแอนด์บีฯ ต้องแจ้งกับอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครให้เข้ามาตรวจสอบระบบจัดการสิ่งแวดล้อม เครื่องจักร ปริมาณโลหะหรือกากแร่ แต่หลังเกิดเหตุซุกกากแคดเมียมอื้อฉาว เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพบว่า โรงงานไม่มีความพร้อมหรือมีศักยภาพในการหลอมกากแคดเมียม

ประเด็นที่น่าสงสัยคือกระบวนการขนส่งกากแคดเมียมจากจังหวัดตากมายังจังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร

ระยะทางจากจุดฝังกลบกากแคดเมียมที่มีมากถึง 13,000 ตันในตัวเมืองตากถึงโรงงานเจแอนด์บีฯ เฉียดๆ 500 กิโลเมตร ถ้าใช้รถบรรทุกพ่วงขนาดไม่เกิน 50 ตัน ต้องขนถ่ายเกือบ 300 เที่ยว

ทำไมการขนย้ายวัตถุอันตรายอย่างกากแคดเมียมจึงทำได้ง่ายดายมาก?

คำถามย้อนกลับไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดที่อ้างว่าตรวจสอบปลายทางขนย้ายแคดเมียมเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายแล้วหรือ?

ถ้าหากโรงงานเจแอนด์บีฯ ใช้กระบวนการหลอมกากแคดเมียมที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน แน่นอนว่า ก๊าซพิษหรือของเหลวจะเกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบ

สารแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการหายใจและการกิน โอกาสสะสมเป็นมะเร็งปอด กระดูกผุ

ถึงวันนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า โรงงานเจแอนด์บีฯ หลอมกากแคดเมียมแล้วหรือยัง มีปริมาณมากน้อยแค่ไหน?

 

ผลการเก็บตัวอย่างสารแคดเมียมในปัสสาวะของพนักงานโรงงานเจแอนด์บีฯ 11 คน เมื่อวันที่ 4 เมษายน พบว่ามีสารแคดเมียมสูงเกินมาตรฐาน 8 คน

อีกโรงงานที่น่าจับตามอง เป็นโรงงานตั้งอยู่ใน ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า ซุกกากแคดเมียม 6,772 ตัน เป็นของนายทุนจีน รับซื้อกากแคดเมียมจากโรงงานที่ จ.สมุทรสาครอีกต่อหนึ่ง

โรงงานแห่งนี้เปิดกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นโรงงานรับซื้อซากพลาสติกและของเสียไม่อันตรายเพื่อนำไปแปรรูป แต่ไม่มีใบอนุญาตให้หลอมแคดเมียม ก่อนหน้านี้ เจ้าของโรงงานเคยถูกดำเนินคดีฐานซุกกากตะกั่วโดยไม่ได้รับอนุญาต

คำถามทำไมโรงงานในพื้นที่คลองกิ่วจึงซุกกากแคดเมียมมากถึง 6 พันกว่าตัน และมีเป้าหมายเอากากแคดเมียมไปทำอะไร?

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมวิเคราะห์ว่า โรงงานดังกล่าวนำกากแคดเมียมไปหลอมเป็นแท่งเพื่อส่งขายไปจีนซึ่งจะได้ราคาสูงมาก เพราะแคดเมียมเป็นที่ต้องการในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมการบิน รถยนต์ ทำเม็ดสี ใช้ประโยชน์ในการฉาบผิวเหล็ก ทองแดง วัสดุอุดฟัน หลอดเรืองแสง ฯลฯ

ถ้าหากโรงงานที่คลองกิ่วเป็นจุดหลอมกากแคดเมียมดังที่ตั้งข้อสงสัย พื้นที่คลองกิ่วจะเป็นจุดเสี่ยงเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

ประเด็นที่รัฐบาลต้องตรวจสอบนอกเหนือจากโรงงานเถื่อนซุกกากแคดเมียม นั่นคือการรุกคืบของทุนจีนในอุตสาหกรรมรีไซเคิลของบ้านเรา

เนื่องจากโรงงานนายทุนจีนหลายแห่งไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง และกระบวนการผลิตมีผลกระทบกับชุมชนทั้งการปล่อยของเสีย น้ำปนเปื้อนมลพิษและปล่อยควันอันตราย

เมื่อก่อนนี้ จีนเป็นศูนย์กลางขยะพิษที่ส่งมาจากทั่วโลก สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชาวจีนอย่างมาก รัฐบาลจีนทนไม่ไหวต้องออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะพิษต่างด้าว ส่งผลให้บรรดานายทุนจีนแห่มาตั้งโรงงานรีไซเคิลในเมืองไทยและประเทศอื่นๆ ในย่านอาเซียน

กรณี “กากแคดเมียม” ที่ซุกในโรงงานที่คลองกิ่ว จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องค้นหาเบื้องลึกและเร่งปราบปราม

เพื่อป้องกันภาพลักษณ์เมืองไทยไม่ให้เป็นศูนย์กลางขยะพิษโลกแทนจีน •