E-DUANG : สถานะ ไทยรักไทย ในอดีต สถานะ เพื่อไทย ในปัจจุบัน

ปัญหาอันมาจากผลสะเทือนในการปรับคณะรัฐมนตรี ถือได้ว่าเป็นปัญหาแท้ๆในความรับผิดชอบของรัฐบาล

ไม่ว่ามองผ่าน”เพื่อไทย” ไม่ว่ามองผ่าน”พลังประชารัฐ”

ในเมื่อพรรคภูมิใจไทยยืนยันว่าไม่ต้องการปรับ ในเมื่อพรรคชาติไทยพัฒนายืนยันว่าไม่ต้องการปรับ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ จึงยังอยู่ที่เดิม

นายวราวุธ ศิลปะอาชา จึงรักษากระทรวงพัฒนาสังคมและความเป็นมนุษย์ ไว้อย่างเหนียวแน่น

ไม่มีใครไปแตะ ไม่มีใครไปขยับ

การเลือก นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ก็เป็นเรื่องของพรรคพลังประชารัฐ การเลือก นายสุชาติ ชมกลิ่น ก็เป็นเรื่องของพรรครวมไทยสร้างชาติ

เช่นเดียวกับการเอา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ไปแทนที่ นพ.ชล น่าน ศรีแก้ว ในกระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับการโอนตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีของ นายปานปรีย์ พหิทธนานุกร ไปให้คนอื่น

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย เป็นเรื่องของพรรคพลังประชารัฐ เป็นเรื่องของพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

ปฏิกิริยาอันมาจากเพจ”หมอชลน่าน FC ไม่มีดราม่า”จึงเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย ใบลาออกของ นายปานปรีย์ พหิทธนานุกร ก็เป็นงานของพรรคเพื่อไทย

เป็นความไม่พอใจต่อพรรคเพื่อไทย เป็นปฏิกิริยาโดยตรงต่อการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย

แม้ว่า”ชลน่านพลีชีพโดดเดี่ยวโดนกระทืบ ผู้คนหนีเข้าซอกหลืบหลบมุมไหน  หรือผ่านพ้นผู้คนตะเกียกตะกาย เหมือนยื้อแย่งเป็นใหญ่ไร้ยางอาย”

แม้ว่า”ในเมื่อทำงานในตำแหน่งหนึ่งด้วยความเรียบร้อย ซื่อ สัตย์ สุจริต และมีผลงานประจักษ์ชัดเจน แล้ววันดีคืนดีกลับถูกโยกย้ายไปตำแหน่งที่น้อยกว่าเดิม เหมือนว่าผมทำอะไรไม่ถูกต้อง หรือเปล่า”

กระนั้นคนที่จะต้องตอบย่อมเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย่อมเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

 

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์ที่เห็นและเป็นอยู่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในยุคพรรคไทยรักไทย

ข้อสังเกตนี้เป็นคำถามและเป็นคำตอบในเวลาเดียวกัน

ถามว่าความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยมีผลดีต่อพรรคเพื่อไทยหรือไม่อย่างไร และความสำเร็จนี้สามารถสร้างความเชื่อมั่นสร้างความศรัทธาต่อพรรคเพื่อไทยหรือไม่อย่างไร

สถานการณ์อันเกิดขึ้นจาก”การปรับครม.”ในเดือนเมษายน 2567 เป็นคำตอบได้ดีที่สุดสำหรับพรรคเพื่อไทย