เกษียร เตชะพีระ : อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (1)

เกษียร เตชะพีระ

การกลับไปอ่านหนังสือดีๆ เล่มหนึ่งก็เหมือนได้กลับไปพบปะสนทนากับเพื่อนเก่าที่คุ้นเคย มันให้ความรู้สึกอบอุ่น เป็นมิตร ไว้วางใจ และในขณะเดียวกันก็แปลกปีติกับการค้นพบข้อเท็จจริงและความหมายใหม่ที่แฝงไว้หรือเล็ดลอดหูตาไปในการอ่านครั้งก่อนๆ ไม่รู้เหนื่อยหน่าย

เป็นเวลา 7 ปีสืบต่อกันมาแล้ว ที่ผมได้มีโอกาสกลับไปอ่านหนังสือ Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation (ค.ศ.1994) ของ “ไอ้ธง” หรือ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน รวมทั้งประธานสมาคมเอเชียศึกษาแห่งสหรัฐ และปัจจุบันมาเป็นหัวหน้านักวิจัยอาวุโสอยู่ที่สถาบันประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Institute of Developing Economies – IDE-JETRO) ประเทศญี่ปุ่น – ประมาณปีละครั้ง ค่าที่ผมบรรจุหนังสือสำคัญและโด่งดังของเขาเล่มนี้ไว้ในรายการหนังสืออ่านสำหรับนักศึกษาเพื่อถกอภิปรายในชั้นเรียนวิชาสัมมนาการเมืองการปกครองไทยระดับปริญญาโท-เอก ที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

และเวลานักศึกษาบ่นว่าอ่าน Siam Mapped เข้าใจไม่ง่าย (แม้หลังมีฉบับแปลภาษาไทยออกมาเมื่อปี พ.ศ.2556 แล้วก็ตาม ดู กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ แปลโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์, พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์) ทั้งมีเวลาอ่านถกมันน้อยเกินไปแค่ 3 คาบการเรียน (คาบละ 3-4 บท) ผมก็จะปลอบใจพวกเขาแบบติดตลกว่าเอาเถอะ เพราะเคยได้ยินมาว่าตอนที่อาจารย์โยะเนะโอะ อิฌิอิ ปรมาจารย์อาวุโสด้านไทยศึกษาของญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ (ค.ศ.1929-2010) สอนหนังสือเล่มนี้ที่มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นนั้น ท่านเปิดเป็นวิชาต่างหากให้นักศึกษาอ่านทำความเข้าใจ Siam Mapped เล่มเดียวตลอดภาคการศึกษาเลยทีเดียว

ดังนั้น พวกเราใช้เวลาแค่ 3 คาบนับว่าแน่มากแล้ว

หนังสือ Siam Mapped เล่มที่ผมมีเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาวาย จำได้ว่าธงชัยถือติดมือมายื่นให้ผมบริเวณที่นั่งพักหน้าลิฟต์ชั้น 3 ของตึกคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมข้อความเป็นที่ระลึกในหน้าแรกว่า :

“เกษียร เพื่อนรัก มอบให้สำหรับมิตรภาพในอดีต ปัจจุบันและอนาคตตลอดไป ธงชัย วินิจจะกูล 1 มิ.ย. 37”

แต่ด้วยภาระงานพันตัวยุ่งเหยิงต่างๆ กว่าผมจะได้อ่าน Siam Mapped เป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกก็อีก 3 ปีให้หลังระหว่างนอนป่วยหนักด้วยโรคชิคุนกุนยาอยู่ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวถึงสองสัปดาห์ระหว่างไปสัมมนาแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และได้มาอ่านซ้ำทำความเข้าใจอย่างเข้มข้นต่อเนื่องก็เมื่อใช้เป็นหนังสืออ่านสัมมนากับนักศึกษาในชั้นเรียนดังกล่าวข้างต้น

ในวาระครบรอบ 41 ปีเหตุการณ์ฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ผมจึงอยากจะเขียนเล่าสู่ท่านผู้อ่านไปตามลำดับโดยสังเขปว่าผมอ่านพบเจออะไรบ้างที่สำคัญๆ และประทับความคิดจิตใจใน Siam Mapped ตามการตีความและความเข้าใจของผม

อย่างแรกที่ผมบอกกับนักศึกษาจากการอ่านคำนำ (Preface, pp. ix-xi) ของ Siam Mapped ก็คือ โดยสาระสำคัญที่สุดแล้ว นี่เป็นการเอาคืนทางปัญญาต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

ความจริงคนรุ่นผมและธงชัยที่เป็นพวกเดนตายรอดชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ต่างก็ทำงานทางปัญญาต่อเนื่องในฐานที่เป็นการใช้หนี้ชีวิตและจิตวิญญาณให้แก่บรรดาเหยื่อผู้ถูกสังหารในเหตุการณ์ครั้งนั้นทั้งสิ้น ไม่ในแง่มุมใดก็แง่มุมหนึ่ง ตามที่แต่ละคนมองเห็นและให้ความสำคัญจากประสบการณ์ของตน เช่น

อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง The Communist Movement in Thailand และ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของตัวแสดงและสถาบันสำคัญๆ ในการเมืองไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ก็รวบรวมปากคำพยานและทำงานวิจัยต่อเนื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และประวัติการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาประชาชนในอดีต

ส่วนผมเองก็ทำเรื่อง Commodifying Marxism : The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958, ประวัติความเป็นมาและการเมืองวัฒนธรรมของความเป็นไทยและลูกจีนในเมืองไทย รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมไทยและโลก เป็นต้น

ดังที่ผมเคยปรารภเรื่องนี้กับเจ้าธงว่า :

Kasian : “Someone may be tempted in a not too distant future to summarize this debate among the old left as follows : Somsak blames it on monarchism; Thongchai blames it on nationalism; Kasian blames it on capitalism.”

Thongchai : “This summary is fantastic. I think it captures lots of questions, differences, problems, strength and weakness of one another.”

Personal e-mail correspondence, 7/19/2008

(อ้างใน เกษียร เตชะพีระ, “มองการเมืองไทยจากมุมคนเดือนตุลา”, วารสารสถาบันพระปกเกล้า, 6 : 3 (ก.ย.-ธ.ค. 2551)

http://kpi.ac.th/media/pdf/M7_140.pdf

อย่างไรก็ตาม ในความรู้สึกส่วนตัวของผม งาน Siam Mapped ของธงชัยเป็นการเอาคืนทางปัญญาต่อ 6 ตุลาฯ ที่เต็มตัวที่สุด ลึกซึ้งที่สุด และขุดรากถอนโคนที่สุดกว่างานชิ้นอื่นเล่มอื่นของคนรุ่นเดียวกัน

สำหรับหนังสือประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษที่แหวกแนวเชิงความคิดทฤษฎี ยาว 10 บท หนากว่า 240 หน้านั้น การจะมาอ่านถกกันเพื่อเก็บเกี่ยวทุกประเด็นอย่างละเอียดในชั้นเรียน 3 คาบ 9 ชั่วโมง เฉลี่ยบทละราวหนึ่งชั่วโมง ย่อมเป็นสิ่งเหลือวิสัย

ดังนั้น วิธีที่ผมจัดการกับ Siam Mapped ก็คือพอจัดสรรแบ่งปันบทต่างๆ ให้นักศึกษาแต่ละคนรับผิดชอบไปอ่านและมานำเสนอในชั้นเรียนแล้ว ผมก็กำหนดให้พวกเขานำเสนอเฉพาะประเด็นที่ตัวเองคิดว่าสำคัญที่สุด 3-4 ประเด็นในแต่ละบทไปตามลำดับ แล้วผมก็คอยช่วยเสริมขยายประเด็นส่วนที่ผมเห็นว่าขาดหกตกหล่นระหว่างถกอภิปรายกัน

หลังจากนั้นใครยังติดขัดคับข้องใจสงสัยประเด็นอื่นใดก็หยิบยกขึ้นมาถามและคุยกันเพิ่มเติม ที่เหลือไปอ่านทวนกันเอาเอง

เริ่มจาก “บทนำ : การดำรงอยู่ของความเป็นชาติ” (Introduction : The Presence of Nationhood, pp. 1-19)

ส่วนตัวผมคิดว่าเรื่องหลักของบทนำ Siam Mapped คือการจัดการปัญหา “ความเป็นไทย” (Thainess) โดยประเด็นสำคัญที่สุดได้แก่ :

– การปักป้ายความเป็นไทย/ไม่ไทยเพื่อบอกเขตห้ามเข้าทางความคิด (negative identification)

– Thainess as Thing หรือความเป็นไทยในฐานะสิ่งของ

– Orientalism & We-self/Insider discourse (บูรพคดีศึกษา กับ วาทกรรมตัวเราของเรา/คนใน)

– epistemological narcissism (การหลงรูปโฉมตัวเองทางญาณวิทยา)

– Thai studies as self-mirror (ไทยศึกษาในฐานะกระจกส่องเห็นเงาตัวเอง)

ผมขอเริ่มจากประเด็นแรก การปักป้ายความเป็นไทย/ไม่ไทยเพื่อบอกเขตห้ามเข้าทางความคิด (negative identification)

ธงชัยเริ่มจากการตั้งข้อสังเกตพื้นเพทั่วไปว่าชนชั้นนำไทยมักพูดถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยเสมอไม่หยุดหย่อน เพื่อมาชี้นำกำกับและเรียกร้องเคี่ยวเข็ญให้ “คนไทย” ปฏิบัติแสดงเอกลักษณ์ไทยตามนิยามความเป็นไทยที่ตนนำเสนอ

ทว่า ปัญหาก็คือนิยามความเป็นไทยหรือเอกลักษณ์ไทย (ลักษณะแห่งชาติอันคนไทยพึงมีร่วมกัน หรือ positive identification) ที่ชนชั้นนำระบุบอกนั้นมีเนื้อหาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตรงกันบ้าง ต่างกันบ้าง หดลงบ้าง ขยายเพิ่มบ้าง มีความหลากหลายคลุมเครือจนยากจะกำหนดชัดแน่นอนตายตัวได้ แม้ว่าจะพยายามกำหนดเช่นนั้นไม่หยุดหย่อนก็ตาม

เขาพลิกมุมมองกลับให้หันไปเพ่งเล็งสนใจสิ่งที่ถูกนิยามว่าไม่เป็นไทยหรือไม่ใช่ไทยหรืออยู่ข้างนอกความเป็นไทยแทนบ้าง (negative identification) บางทีสิ่งสำคัญอาจจะอยู่ตรงความไม่เป็นไทยหรือ un-Thainess ต่างหาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือสิ่งที่ถูกกำหนดนิยามในแต่ละยุคสมัยโดยชนชั้นนำแต่ละกลุ่มของยุคสมัยหนึ่งๆ ว่าเป็นศัตรูของความเป็นไทย ที่ต้องถูกกีดกันเบียดขับผลักไสไล่ส่งให้ออกไปจากพื้นที่แห่งความเป็นไทยเสีย อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันไม่ได้

ในทำนองว่า… ถ้าไม่ทำอย่างนี้อย่างนี้ หรือถ้าไม่คิดอย่างนั้นอย่างนั้น ก็ไม่ใช่คนไทย และควรออกไปจากที่นี่ซะ มิไยว่าจะสืบสายเลือด ยีน ดีเอ็นเอไทยแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือถือบัตรประชาชนพลเมืองสัญชาติไทยอย่างไรก็ตาม ไอ้นั่นไม่นับและไม่เกี่ยว

ในความหมายนี้ ความเป็นไทยจึงเหมือนป้ายอันหนึ่ง ที่ปักหราบอกเขตพื้นที่แห่งความเป็นไทยเอาไว้ให้คนทั้งหลายรู้ แน่นอนว่าเมื่อมีป้ายปักบอกเขตพื้นที่ความเป็นไทย ก็ย่อมมีพื้นที่ส่วนอื่นนอกเขตออกไปซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความไม่เป็นไทยอยู่หลังป้าย/นอกป้าย

หน้าที่สำคัญของป้ายความเป็นไทยที่ชนชั้นนำปัก จึงเป็นการบ่งบอกมุมกลับว่าพื้นที่แห่งความไม่เป็นไทยอยู่ตรงไหน อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น, ฝ่ายมหาชนรัฐหลังรัฐประหาร 2490, พวกแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ทุนนิยมสามานย์และพวกเสื้อแดง, หรือพวกอาจารย์นักศึกษาสื่อมวลชนตามก้นประชาธิปไตยตะวันตกและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน

ซึ่งล้วนเป็น “เขตห้ามเข้าทางความคิด” สำหรับคนไทย

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)