คนไทย ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม เกลียดสังคมที่ยุติธรรม เป็นมายาคติในโลกออนไลน์

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
(Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีประเด็นเรื่องราวถกเถียงในโลกออนไลน์ จากประเด็นปรัชญาพื้นฐานว่า “มนุษย์เท่าเทียมกันหรือไม่”

โดยนักวิชาการด้านปรัชญาได้ตั้งข้อสังเกตว่าทุกครั้งที่คนกลุ่มที่สนับสนุนความไม่เท่าเทียมมักจะให้เหตุผลคือ “นิ้วมือยังไม่เท่ากันเลย แล้วคนจะเท่ากันได้อย่างไร” ซึ่งเป็นคำอธิบายอมตะเพื่อปฏิเสธการสร้างสังคมที่ยุติธรรม

เมื่อคลิปการสนทนาดังกล่าวเผยแพร่ออดไป ผมเองก็แปลกใจไม่น้อยที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์คลิปดังกล่าว ในลักษณะ “การสนับสนุนความไม่เท่าเทียม” หรือมองว่า “ความไม่เท่าเทียมกันเป็นเรื่องปกติ” โดยปรากฏความเห็นลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก

จนผมเชื่อว่าผู้คนที่ปรารถนาความเท่าเทียมซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเช่นกันพออ่านแล้วคงเกิดภาวะ “จิตตก” และตั้งคำถามเหมือนกันว่า “สังคมเราเป็นกันขนาดนี้เลยหรือ”

ในบทความนี้ผมจะชวนวิเคราะห์ ถึงความเห็นที่สนับสนุนความ “ไม่เท่าเทียม” ที่กระจายในโลกออนไลน์ต่างกรรมต่างวาระ

และชวนมองอีกมุมว่าในโลกจริงผู้คนไม่ได้มีความคิดสุดโต่งต่อการสนับสนุน “ความเหลื่อมล้ำขนาดนั้น”

 

“คนไทยน่าจะเชื่อเรื่องผีมากกว่าเรื่องความเท่าเทียมเสียอีก” มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าวในลักษณะติดตลก

ซึ่งฟังดูแล้วก็จริง แม้ผีจะไม่มีจริง แต่ผู้คนก็มีพิธีกรรมเพื่อยืนยันว่ามันมีจริง และยังมีกระบวนการปกป้องการมีจริงของผี

ขณะเดียวกันความเท่าเทียมแม้จะเป็นนามธรรมเหมือนกัน แต่ก็ปรากฏในรัฐธรรมนูญแทบทุกประเทศ ในกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงคำโปรยในอนุสาวรีย์ และประวัติศาสตร์แทบทุกประเทศว่า มนุษย์แต่ละยุคสมัยยอมอุทิศทุกอย่างเพื่อ “ความเท่าเทียม”

แต่ตรงกันข้ามดูเหมือน คนทั่วไปจะเชื่อเรื่องผีที่ทางการล้วนยืนยันว่าไม่มีจริง มากกว่าความเท่าเทียมที่ถูกรับรองในกฎหมายแทบทุกประเทศ

ประการแรกอาจเป็นความไม่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน หรือคำว่าเท่าเทียมไม่จำเป็นต้องหมายถึงใส่เสื้อสีเดียวกัน กินอาหารแบบเดียวกัน แต่คือการได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ที่เท่ากัน การได้รับโอกาสพื้นฐาน เท่ากัน รวมถึงการปฏิบัติจากรัฐและสังคมที่เท่าเทียมกัน

หากวิเคราะห์การที่คนกลุ่มหนึ่งปฏิเสธความเท่าเทียมก็อาจมีที่มาจากสามเหตุผล

 

ประสบการณ์ส่วนตัว บางครั้งความเชื่อในความเท่าเทียมหรือไม่เชื่อนั้นสามารถมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคล หากบุคคลมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับความเท่าเทียม เช่น ประสบการณ์การถูกเลือกปฏิเสธ หรือประสบการณ์ที่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรม อาจส่งผลให้พวกเขาเกิดความไม่เชื่อใจในความเท่าเทียม

อำนาจและประโยชน์ส่วนตัว บางครั้งการเชื่อในความเท่าเทียมอาจถูกกลไกของอำนาจและประโยชน์ส่วนตัวที่ต่างหากกันขัดขวาง เช่น บางกลุ่มหรือบุคคลอาจไม่เชื่อในความเท่าเทียมเพราะการเสียสิทธิหรือสิทธิประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากสถาบันหรือระบบที่กีดกันความเท่าเทียม

ความเชื่อ ความเชื่อและมุมมองทางสังคมมีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติของบุคคลต่อความเท่าเทียม บางครั้งความเชื่อทางสังคมที่ถูกฝังในวัฒนธรรมหรือครอบครัวอาจส่งผลให้บุคคลมองเห็นความเท่าเทียมในมุมมองที่แตกต่างไปจากที่มันมีอยู่ในวัฒนธรรมหรือครอบครัวของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ความเชื่อทางศาสนาหรือความเชื่อทางการเมืองที่ส่งผลให้มีการสร้างแบ่งแยกขัดแย้งในสังคมและการปกปิดปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับความเท่าเทียม

ดังนั้น แม้ในปัจจุบันก็ยังพอนึกภาพออกได้ว่าทำไมจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม และนอกจากไม่เชื่อแล้วยังเป็นผู้กีดขวาง แม้ว่าตัวเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสังคมที่อยุติธรรมนี้

แต่คำถามคือมันมีคนจำนวนมากขนาดนั้น ที่ปฏิเสธความเท่าเทียมจริงหรือ

 

ผมคงตอบสั้นๆ ว่า “ไม่ใช่”

ตามปกติแล้วกับทุกเรื่องที่ปรากฏในโลกออนไลน์ คนที่ไม่เห็นด้วย มักเสียงดังมากกว่า และด้วยความเป็นโลกออนไลน์ การแสดงความเห็นต่างๆ สามารถทำได้รวดเร็ว บ่อยครั้งความเห็นที่ดูชัดเจนและเร็ว สามารถชักนำคนกลางๆ ให้เงียบ หรือไม่กล้าแสดงความเห็น และดึงดูดให้คนที่คล้อยตามแม้จะเล็กน้อยไม่ทั้งหมด ให้สนับสนุน

ผมเคยสนทนากับคนที่ดูจะมีความเห็นดุเดือดในโลกออนไลน์ว่า เขามีความคิดขนาดนั้นเลยหรือ ที่ต่อต้านเรื่องสวัสดิการ ต่อต้านขนส่งสาธารณะ ต่อต้านการเก็บภาษีคนรวย

คุยไปคุยมาผมก็พบว่าเขาไม่ได้มีความคิดสุดโต่งขนาดนั้น

สาเหตุที่แสดงความคิดเห็นแบบนั้นไป ก็เป็นเรื่องความสนุก มีผู้คนเยอะ และยิ่งการแสดงความคิดเห็น ในลักษณะการปฏิเสธประโยชน์ที่ตนได้รับ หรือคนที่ลำบากส่วนใหญ่เรียกร้อง เช่น การได้ด่าผู้หญิงที่อยากลาคลอด ได้ด่าแรงงานที่อยากขึ้นค่าแรง ได้ด่าคนแก่ที่อยากได้เงินบำนาญ ด่านักศึกษาที่อยากเรียนมหาวิทยาลัยฟรี บางครั้งก็ทำให้พวกเขารู้สึกจริงๆ ว่าเหมือนได้เป็นชนชั้นนำในภาพยนตร์ที่พวกเขาคุ้นเคย คือดูฉลาดและมีอำนาจ!

เหตุผลมันฟังดูประหลาด แต่มันก็มีลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในอารมณ์ความรู้สึกคน ที่มีหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อารมณ์แบบนี้เกิดขึ้นนับเป็นเรื่องปกติ

วันรุ่งขึ้นพวกเขาก็ไปสนุกกับเรื่องอื่น ขณะที่โลกยังเหลื่อมล้ำต่อไป

 

แต่จากประสบการณ์ของผม ทั้งในการสอนหนังสือ รณรงค์ และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายทุกช่วงวัย ทุกระดับ เด็กๆ นักเรียนก็ปรารถนาสังคมที่ยุติธรรม ที่ทำให้พวกเขาวิ่งตามความฝันเต็มที่

คนเริ่มทำงานก็ปรารถนาค่าจ้างที่เป็นธรรมเพื่อให้พวกเขาเริ่มชีวิต

คนมีครอบครัวก็ปรารถนาการรักษาพยาบาลที่ดี การศึกษาที่ดี

คนชราก็ปรารถนาเงินบำนาญ และหลักประกันในชีวิต

คนที่จนที่สุดก็ยังปรารถนาสังคมที่ยุติธรรม

แม้แต่เศรษฐีหมื่นล้านก็รู้ว่าสังคมที่อยุติธรรม ไม่ดีต่อชีวิตของพวกเขา

เวลาที่มีคนต่อต้านเรื่องพวกนี้ มหาวิทยาลัยฟรี เงินบำนาญ ค่าจ้างที่เป็นธรรม สิทธิการรวมตัวของคนทุกชนชั้น ถ้าไม่ด้วยความไม่รู้ เสียประโยชน์ (ซึ่งก็ไม่ใช่) ก็มีอีกหนึ่งเหตุผล คือพวกเขาตระหนักว่าเรื่องพวกนี้เป็นจริงได้ และแค่กำลังกลัวว่ามันจะเป็นจริง

แต่ไม่ว่าเราจะชอบหรือชัง โลกจะหมุนสู่ความก้าวหน้ามากขึ้น เท่าเทียมมากขึ้นอยู่ดี ยังคงเป็นภารกิจสำคัญของคนทุกยุคที่ต้องช่วยการสื่อสารทุกโอกาสว่า

“มนุษย์เราคู่ควรกับสังคมที่ยุติธรรมมากขึ้น”