เวนิสตะวันตก ความเป็นตะวันตกที่มาไม่ถึงตะวันออก (2)

บทความพิเศษ | ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

เวนิสตะวันตก

ความเป็นตะวันตกที่มาไม่ถึงตะวันออก (2)

 

ในปัจจุบันหากใครได้ไปเยือนเวนิสก็จะพบว่า เก็ตโตมีทางเดินให้ผู้คนสัญจรผ่านไปมาหรือแม้แต่มาเที่ยวชมได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะไม่ได้ปิดกั้นการเข้าออกอีกต่อไป แต่ชาวยิวในเวนิสก็ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม เป็นชุมชนที่ค่อนข้างใหญ่ มีประชากรหลายพันคน อาศัยในอาคารชุดหลายหลัง และสุเหร่ายิวของชาวลาแวนต์และชาวสเปนยังเปิดให้คนนอกเข้าเยี่ยมชมได้ด้วย

นอกจากนั้น ย่านเก็ตโตยังมีร้านกาแฟ ร้านอาหารโคเชอร์ (Kosher อาหารที่ปรุงตามหลักศาสนายิว) หอศิลป์ขนาดเล็ก ร้านหนังสือ ร้านขายของที่ระลึก และทัวร์ขนาดเล็กที่เล่าประวัติชุมชนและพาเข้าชมศาสนสถาน เสียดายอย่างเดียวที่พิพิธภัณฑ์ปิดปรับปรุงเสีย

แม้ว่าธนาคารของพวกเขายุติกิจการไปพร้อมการล่มสลายของสาธารณรัฐเวนิส ร่องรอยของอาคารธนาคารยิวก็ยังอยู่อยู่ที่เก็ตโต

จะเห็นว่า แม้ว่าเวนิสจะเคร่งครัดศาสนา แต่ก็ไม่ได้เคร่งเสียจนหักหาญต่อชุมชนต่างศาสนาไปเสียทั้งหมด

เช่นเดียวกับที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า เวนิสยอมแลกภารกิจทางศาสนาในการกอบกู้เยรูซาเลม กับผลประโยชน์ที่พวกเขาควรจะได้รับการตอบแทนจากการลงทุนสร้างเรือรบให้พวกมุ่งก่อสงครามครูเสด ด้วยการช่วยโจมตีคอนสแตนติโนเปิลจนแตกยับใน ค.ศ.1204

สายสัมพันธ์กับชาวยิวผู้เชี่ยวชาญการค้าและมีเครือข่ายอยู่ในดินแดนที่พวกเขาพลัดถิ่นมามากมายทำให้เวนิสจำต้องประนีประนอมให้ชาวยิวปรากฏตัวอยู่ แทนที่จะขับชาวยิวออกไปยังดินแดนอื่นดังเช่นที่ชาวยิวในเก็ตโตที่เวนิสเองมักถูกขับมาจากถิ่นอื่น

การถือเอาเศรษฐกิจเหนือศาสนานั้น สอดคล้องกับการถือเอาการเมืองเหนือหรืออย่างน้อยก็ทัดเทียมกับศาสนา หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า เวนิสอาศัยศาสนาเพื่อเป็นเครื่องค้ำจุนความชอบธรรมของการสร้างชุมชนทางการเมืองเพื่อทำการค้า เสียมากกว่าที่จะเป็นรัฐศาสนาเพื่อเป้าหมายทางศาสนา

กล่าวอีกอย่างคือ ศาสนาคริสต์แบบเวนิสนั้นรับใช้การเมืองและการค้า เสียมากกว่าที่การเมืองและการค้าจะรับใช้พระเจ้า

ห้องประชุมคณะรัฐมนตรีในทำเนียบเจ้านคร

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือการที่เวนิสสร้างที่ทำการสภาของสาธารณรัฐ ที่เรียกว่า “ทำเนียบเจ้านคร” (Palazzo Ducale หรือ Doge’s Palace) ไว้ติดคู่กันกับมหาวิหารนักบุญมาร์ก (San Marco Basilica) นั่นก็นับได้ว่าศาสนาและการเมืองต่างพึ่งพากันและกัน

ตลอดระยะเวลากว่า 1,000 ปีของสาธารณรัฐเวนิสจึงไม่เคยมีช่วงใดเลยที่ศาสนามีอำนาจเหนือการเมือง

ตัวสถาปัตยกรรมแบบเวนิสอย่างทำเนียบเจ้านครนี้เอง ที่เป็นอีกหนึ่งในความเป็นเวนิสระดับพื้นผิวที่ส่งอิทธิพลต่อเวนิสตะวันออกแบบไทยๆ

ทำเนียบเจ้านครหรือสภาของสาธารณรัฐแห่งนี้เองเป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมแบบที่เรียกกันว่า สถาปัตยกรรมโกธิกแบบเวนิส ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านรูปแบบทางสถาปัตยกรรมมักกล่าวกันว่า ได้รับอิทธิพลจากไบแซนไทน์หรือโรมันตะวันออกและศิลปะแบบอิสลาม

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมนี้มักสังเกตได้จากการตกแต่งด้านหน้าอาคาร (ซึ่งหันหน้าเข้าแม่น้ำ) ด้วยซุ้มประตูและหน้าต่างทรงโอจี (ogee) คือเหมือนโค้งคว่ำกับโค้งหงายอย่างละด้านบรรจบกันเป็นยอดแหลม และมักมีลวดลายประดับอันอ่อนช้อย แต่ไม่ได้หนาแน่นมากมายนัก

ผนังของอาคารนี้น่าสนใจที่มีสีสันที่แสดงความนุ่มนวลอ่อนโยน มีลวดลายคล้ายเครื่องจักสาน ที่สะท้อนความเป็นตะวันออก

รูปแบบสถาปัตยกรรมโกธิคแบบเวนิสของทำเนียบเจ้านครเวนิสนี้เอง ส่งอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมสยามอย่างบ้านนรสิงห์ ที่ก่อสร้างใน พ.ศ.2460 ซึ่งภายหลังถูกขายให้คณะราษฎรแล้วกลายเป็นตึกไทยคู่ฟ้า ที่ทำการของรัฐบาลในปัจจุบัน

การประชุมของสภาใหญ่ ติดแสดงไว้ในทำเนียบเจ้านคร

หากแต่พ้นไปจากเปลือกของอาคารแบบเวนิสตะวัตตกที่ชาวเวนิสตะวันออกให้ความนิยมแล้ว โครงสร้างการเมืองการปกครองและหลักปรัชญามนุษยนิยมแบบสาธารณรัฐที่อาคารโกธิคแบบเวนิสถูกสร้างขึ้นมารับใช้ต่างหาก ที่ควรจะได้รับความสนใจไม่แพ้ตัวอาคารเอง

ตามรูปแบบสถาปัตยกรรม ทำเนียบเจ้านครนั้นเป็นอาคารแบนราบ มิได้ทำรูปทรงแหลมสูงเสียดฟ้าแบบยอดแหลมโกธิก ไม่ได้มีโดมครึ่งวงกลมขนาดใหญ่แบบวิหารแพนเทียน (Pantheon) ที่ใช้บูชาเทพเจ้าของโรมัน นั่นแสดงถึงการเน้นความเปิดกว้างและแนวระนาบของระบอบการปกครองแบบเวนิส

นี่สอดคล้องกับการที่ทำเนียบเจ้านครนั้น เป็นที่ทำการรัฐสภาของสาธารณรัฐเวนิสในทุกๆ ระดับไปในตัว

ตั้งแต่ระดับของสมาชิกสภา ศาล รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ไปจนถึงตัวเจ้านครเอง

และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ด้วยระบบนี้เองที่ทำให้เวนิสเป็นนครรัฐเดียวในอิตาลีที่คงความเป็นสาธารณรัฐมาอย่างยาวนานถึง 1,000 ปี

สภาพห้องประชุมในปัจจุบัน ที่ผนังด้านหน้า (ลึกเข้าไปไกลๆ) คือผลงาน Paradise (1588-1590) ของพ่อลูกตินโตเรตโต

ดังที่เคยเล่าแล้วว่า ระบอบสาธารณรัฐของเวนิสสร้างขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ.726 ที่เจ้านคร (Doge) แห่งเวนิสได้รับการ “เลือกตั้ง” ขึ้นมาโดยผู้คนซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองกลางคุ้งน้ำแห่งนี้ นับแต่นั้นมาเวนิสก็สืบทอดธรรมเนียมการเลือกตั้งเจ้านครต่อมาอีก 119 คน (บางแหล่งว่า 117 คน) การเลือกตั้งเจ้านครมีกระบวนการที่ซับซ้อนยอกย้อนหลายขั้นตอนมาก และสัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจของคณะผู้ปกครองสาธารณรัฐเวนิส

ในโครงสร้างนี้ กลุ่มคนพื้นฐานที่สุดที่มีส่วนในสังคมการเมืองคือประชาชน (Arengo) ที่ประกอบด้วยประชากร (ชาย) ทุกคนที่เป็นพลเมืองเวนิส (ภายหลัง ค.ศ.1200 ได้ยกเลิกสิทธิในการเลือกตั้งเจ้านครของคนกลุ่มนี้ไป) ประชาชนจะเลือกสมาชิกสภาใหญ่ (Great Council) ขึ้นมา เดิมมี 480 คน แล้วเพิ่มเป็นมากกว่า 2,000 คน ภายหลังสมาชิกสภามีค่อนข้างคงที่ เป็นผู้ที่มีบัญชีอยู่ในสภาเท่านั้น อาจแทนที่ด้วยญาติพี่น้องหรือคนในเครือข่ายเดียวกันในยุคต่อๆ มา คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นผู้มีอิทธิพลในสาธารณรัฐ

นักวิชาการบางคนจึงถือว่า สภาใหญ่นี้เองที่เป็นผู้องค์อธิปัตย์ของสาธารณรัฐเวนิส

สภาใหญ่มีคณะกรรมการย่อยๆ ลงไปทำหน้าที่ต่างๆ ได้แก่ สภานิติบัญญัติ (Senate) มาจาก 60 คนของสภาใหญ่ ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ภายใต้การนำขององค์คณะรวม (Full College) ที่ประกอบไปด้วย คณะที่ปรึกษา (Councilors) ผู้เชี่ยวชาญ (Savi) เจ้านคร (Doge) และคณะผู้พิพากษาจำนวนหนึ่ง อีก 40 จากสภาใหญ่เป็นผู้พิพากษา (Quarantia) ทำหน้าที่ตัดสินคดีความต่างๆ

ส่วนคณะผู้บริหาร ประกอบด้วยเจ้านคร คณะรัฐมนตรีทั้ง 10 (Council of Ten) 10 คนนี้เป็นคณะทำงานพิเศษที่ทำงานร่วมกับเจ้านครและอำมาตย์หลวง (Minor Council) อีก 6 คน นอกจากนั้น ยังมีผู้ตรวจการ (Inquisitors) อีก 3 คน ทำหน้าที่อย่างลับๆ ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของส่วนต่างๆ แม้แต่เจ้านครเองก็ยังอยู่ใต้การกำกับของที่อำมาตย์หลวง

รัฐธรรมนูญของเวนิสจึงสลับซับซ้อนและเป็นที่กล่าวขวัญกันถึงความเป็นระบบที่สุดในอิตาลียุคเดียวกัน อย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ไปจนถึงกาลล่มสลายของสาธารณรัฐเวนิสใน ค.ศ.1797

ด้วยความโชคดีที่ผมซื้อบัตรเข้าชมทำเนียบเจ้านครเวนิสได้ จึงได้เข้าชมด้านในห้องต่างๆ ของทำเนียบเจ้านคร แถมยังได้เข้าชมห้องพิเศษที่เคยสงวนไว้สำหรับเจ้านครเท่านั้น เช่น วิหารเล็กๆ ภายในทำเนียบเจ้านคร

จึงทำให้เห็นรายละเอียดของห้องต่างๆ และเห็นภาพประดับในห้องต่างๆ ที่อาศัยผลงานจิตรกรรมของศิลปินเวนิสเอง

ช่วยขับเน้นความหมายของสถานที่ พร้อมทั้งสร้างจิตวิญญาณแบบสาธารณรัฐของเวนิส อันเป็นสิ่งที่หาได้ยากในเมืองอื่นๆ ในอิตาลียุคเดียวกัน

สมาชิกสภาใหญ่และองค์ประกอบย่อยๆ ของสภา รวมทั้งเจ้านครเวนิส ล้วนใช้พื้นที่สถาปัตยกรรมที่เรียกว่า ทำเนียบเจ้านคร ในการประกอบภารกิจทางการเมืองของพวกเขา

เช่น มีห้องตัดสินคดีความอยู่ในทำเนียบนี้ มีห้องทำงานของสภานิติบัญญัติ รวมทั้งมีห้องที่จุสมาชิกของสภาใหญ่จำนวนหลักพันคนได้ในคราวที่ทุกคนต้องมาประชุมร่วมกันในขั้นตอนหนึ่งของการเลือกเจ้านคร

จึงมีครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ห้องประชุมขนาดใหญ่ที่สุดของทำเนียบแห่งนี้เคยถูกบันทึกไว้ว่าเป็นห้องประชุมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

สำหรับการเลือกเจ้านคร เริ่มด้วยการเลือกผู้เสนอชื่อจากประชาชนทั่วไป เพื่อเลือกผู้เสนอชื่อจากสภาใหญ่ แล้วสภาใหญ่จึงเสนอชื่อจำนวนหนึ่ง แล้วส่งไปยังคณะผู้มีอำนาจขั้นต่างๆ กลับไปกลับมาหลายครั้งร่วม 20 ขั้นตอน จนในที่สุดจึงจะได้ชื่อเจ้านคร

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ เจ้านครเวนิสมักเป็นผู้ที่มีอายุมาก มาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีอิทธิพลมาก

ที่เป็นเช่นนี้เพราะกลุ่มที่มีอิทธิพลมักต้องการถ่วงดุลอำนาจกันเอง จึงเลือกผู้ไม่มีอิทธิพลมากนักขึ้นมาเป็นเจ้านครแทนกลุ่มของตน

ถึงแม้ว่าเจ้านครจะดำรงตำแหน่งอยู่ได้จนเสียชีวิต แต่เพื่อป้องกันการอยู่ในอำนาจนานๆ เจ้านครที่ได้รับเลือกจึงมักมีอาวุโสมาก แล้วเสียชีวิตไปหลังรับตำแหน่งไม่กี่ปี

บางคนอยู่เพียง 4-5 ปีก็เสียชีวิต

แต่ก็มีเจ้านครบางคนที่ถูกปลดก่อนเสียชีวิต

 

ระบบเช่นนี้สะท้อนความเป็นสาธารณรัฐได้ดี แม้จะไม่ถึงกับเป็นประชาธิปไตย แต่เวนิสก็ปกครองโดยอภิสิทธิ์ชนจำนวนมาก ที่ต่างก็ต้องการถ่วงดุลอำนาจกันและกัน อำนาจจึงไม่กระจุกตัว และระบอบการปกครองมีความมั่นคง

ไม่มีการช่วงชิงอำนาจด้วยกำลังทหารแบบจักรวรรดิโรมัน ที่จักรพรรดิมักถูกโค่นอำนาจ ถ้าไม่โดยนายทหารของจักรพรรดิเอง ก็โดยเครือญาติจักรพรรดิด้วยกันเอง แล้วจักรพรรดิก็มักเสียชีวิตในสงครามกลางเมืองของการช่วงชิงอำนาจ

หรือเมื่อเทียบกับฟลอเรนซ์ยุคสาธารณรัฐ ฟลอเรนซ์เคยอยู่ใต้อำนาจของตระกูลใหญ่อย่างเมดิชี (Medici) แม้ว่าแรกเริ่มจะเป็นเจ้านครฟลอเรนซ์ที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยระบบสาธารณรัฐ หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป ตระกูลเมดิชีก็ครองอำนาจทั้งศาสนา การเมือง และเศรษฐกิจ จนเสมือนเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นทัสคานี (Tuscany) อันมีฟลอเรนซ์เป็นเมืองหลวง

และนั่นจึงทำให้ตระกูลนี้ส่งอิทธิพลไม่เพียงในสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ แต่ยังส่งอิทธิพลทั่วอิตาลีและยุโรป ทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ด้วยการสนับสนุนศิลปะวิทยาการในยุคเรเนอซองส์

แต่สำหรับเวนิส แม้ระบอบสาธารณรัฐจะไม่ใช่ประชาธิปไตยนัก แต่ก็ไม่มีการสืบทอดอำนาจผู้นำอย่างยาวนาน ไม่มีการช่วงชิงอำนาจด้วยกำลังทหารหรือสงครามกลางเมือง

เจ้านครของเวนิสจึงไม่ได้มีภาวะกึ่งเทพเจ้า เหนือมนุษย์ แบบเดียวกับสาธารณรัฐ ราชอาณาจักร จักรวรรดิอื่นๆ ในยุคเดียวกัน

 

รากฐานความเป็นสังคมเปิดเพื่อการค้า และระบบการเมืองแบบสาธารณรัฐของเวนิสนี่เอง ที่จะปูทางไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ในยุโรป เป็นฐานความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์ คติแบบมนุษยนิยม และความเป็นประชาธิปไตย แต่นี่ดูจะเป็นมรดกที่เวนิสตะวันตกที่แทบมิได้ถูกส่งผ่านตกทอดไปยังเวนิสตะวันออกแห่งใดเลย

การพัฒนาความสมัยใหม่ของเวนิสดูได้จากอุตสาหกรรมการต่อเรือ อุตสาหกรรมการพิมพ์ และผลงานศิลปะ ที่ต่างก็พัฒนามายาวนานตั้งแต่ในยุคกลางด้วยซ้ำ

เวนิสผลิตเรือรบเดินทะเลอย่างเป็นอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ ค.ศ.1104 ก่อนที่ยุโรปเหนือจะปฏิวัติอุตสาหกรรมมาเนิ่นนาน จนทำให้เวนิสเข้าร่วมสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ในปี 1204 เนื่องจากมีการว่าจ้างอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ของเวนิสผลิตเรือรบ

อู่ต่อเรือนี้นับเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของประชากรชาวเวนิส มีประชากรหลักหมื่นคนของเวนิสทำงานในอู่ต่อเรือ ทำให้คาดได้ว่า ระบบการผลิตในอู่ขนาดใหญ่นี้จะคล้ายคลึงกับระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมแบบสมัยใหม่

บางคนจึงเห็นว่าอู่เรือที่เวนิสนับเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแบบสมัยใหม่แห่งแรกในโลก

ราวศตวรรษที่ 16 ที่เกิดสงครามระหว่างเวนิสกับอาณาจักรออตโตมัน (ค.ศ.1570-1573) นั้น อู่ต่อเรือรบของเวนิสกลายเป็นอู่ต่อเรือที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในยุโรป ต่อเรือรบได้มากถึง 100 ลำภายในเวลาเพียง 2 เดือน

 

ใต้ภาพ

1-ห้องประชุมคณะรัฐมนตรีในทำเนียบเจ้านคร

2-การประชุมของสภาใหญ่ ติดแสดงไว้ในทำเนียบเจ้านคร

3-สภาพห้องประชุมในปัจจุบัน ที่ผนังด้านหน้า (ลึกเข้าไปไกลๆ) คือผลงาน Paradise (1588-1590) ของพ่อลูกตินโตเรตโต