นักวิทยาศาสตร์ กังวลปริมาณ Nanoplastic ในขวดน้ำดื่ม

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความนี้ นอกจากจะกล่าวถึงอันตรายของ Nanoplastic ในขวดน้ำดื่มแล้ว ยังขอแยกความแตกต่างระหว่าง Nanoplastic กับ Microplastic ให้ทราบอีกด้วย

เพราะหากเปรียบเทียบขนาด “อนุภาคขนาดเล็ก” ระหว่าง Nanoplastic กับ Microplastic แล้วMicroplastic คือ Polymer ในรูปของแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100 นาโนเมตร-5 มิลลิเมตร

ขณะที่ Nanoplastic มีขนาดเล็กกว่า คือมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1 นาโนเมตร-1 ไมโครเมตร

การเกิด “อนุภาคขนาดเล็ก” ของ “พลาสติก” มีหลายสาเหตุ หนึ่งคือ Oxo-Biodegradable Plastic หรือ “การแตกตัวโดยอาศัยปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในอากาศ”

สองคือ Photo-Biodegradable Plastic หรือ “การแตกตัวเมื่อสัมผัสกับแสงแดด” และสามคือ Hydro-Biodegradable Plastic หรือ “การอาศัยความชื้นเป็นตัวแปรในการย่อยสลาย”

ทั้ง 3 วิธี มีส่วนทำให้พลาสติกขนาดใหญ่ถูกย่อยสลายกลายเป็น Microplastic และ Nanoplastic ตามลำดับ

 

เรื่องที่น่าตกใจก็คือ มีการพบ “อนุภาคพลาสติก” นับ 100,000 ชิ้น ใน “น้ำดื่มบรรจุขวด” ที่เราไม่อาจมองเห็นชิ้นส่วนดังกล่าวได้ด้วยตาเปล่า

เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Columbia และมหาวิทยาลัย Rutgers ได้ตรวจพบ Nanoplastic ในขวดน้ำดื่ม หรือน้ำเปล่าบรรจุขวดที่ชาวโลกบริโภคกันทุกวัน

National Academy of Sciences หรือ NAS ระบุว่า นักวิจัยได้ศึกษาน้ำดื่มบรรจุขวดจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 3 ยี่ห้อที่มีวางขายในท้องตลาด โดยไม่มีการเปิดเผยยี่ห้อของน้ำดื่มที่ใช้ในการทดสอบ พบว่า มีระดับ “อนุภาคของนาโนพลาสติก” อยู่ที่ระหว่าง 110,000 ถึง 400,000 ชิ้นต่อลิตร

หรือคิดเฉลี่ยอยู่ที่ราว 240,000 ชิ้น โดยอนุภาคที่ตรวจพบ มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอน ซึ่งเมื่อเทียบกับเส้นผมมนุษย์แล้ว เส้นผมเรามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 83 ไมครอน

 

ดร. Wei Min Huang ผู้คิดค้น “กล้องจุลทรรศน์เลเซอร์คู่” จากมหาวิทยาลัย Columbia ได้ทำการตรวจสอบน้ำดื่มขนาด 1 ลิตร พบว่า มี “อนุภาคของนาโนพลาสติกขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยมีมา” ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จำนวนมหาศาล

ถ้าจำกันได้ ช่วงปี-สองปีที่ผ่านมา มีการพูดถึง Microplastic กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Microplastic จำนวนมากในมหาสมุทร

ทว่า นั่นเป็น Microplastic ขนาดที่มองเห็นได้ ตั้งแต่ 5 มิลลิเมตร ไปจนถึงขนาดระดับ 1 ไมครอน แต่จากการศึกษาดังกล่าวข้างต้น พบว่า ในน้ำดื่มบรรจุขวด มี Nanoplastic มากกว่า Microplastic 10 ถึง 100 เท่า

ดร. Naixin Qian นักเคมี ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Columbia ชี้ว่า ดูเหมือนว่า อนุภาคของพลาสติกส่วนใหญ่มาจากขวด และไส้กรอง Reverse Osmosis Membrane ที่ใช้กรองสิ่งปนเปื้อนต่างๆ

“พวกเราต้องการเก็บข้อมูลจากตัวอย่างน้ำดื่มเพิ่มเติมเป็นอย่างมาก รวมถึงทดสอบกับน้ำดื่มทุกยี่ห้ออีกด้วย อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 ยี่ห้อที่ใช้ในการทดลองนี้ เป็นน้ำดื่มที่หาได้ทั่วไป และซื้อมาจากห้างสรรพสินค้า WalMart” ดร. Naixin Qian กล่าว

 

ดร. Phoebe Stapleton ผู้เชี่ยวชาญพิษวิทยาจากมหาวิทยาลัย Rutgers เสริมว่า ขณะนี้ ทีมวิจัยอยู่ระหว่างการตรวจสอบน้ำดื่มทั้งหมด โดยพวกเรายังไม่รู้ว่า มันมีอันตรายอะไร หรือไม่ อย่างไร

“อย่างไรก็ตาม อนุภาคของพลาสติกเหล่านี้ สามารถเข้าสู่เนื้อเยื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มนุษย์ การวิจัยที่ผ่านมา และในปัจจุบัน พยายามค้นหา ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีปฏิกริยาอย่างไรบ้างต่อเซลล์ต่างๆ ของเรา” ดร. Phoebe Stapleton สรุป

ทั้งนี้ “สมาคมน้ำดื่มบรรจุขวดระหว่างประเทศ” หรือ The International Bottled Water Association (IBWA) ได้ออกมาแถลงว่า ในปัจจุบัน เรายังขาดวิธีการตรวจวัดอนุภาคของพลาสติกที่ได้มาตรฐาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังไม่มีความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากอนุภาคของนาโนและไมโครพลาสติก

ดังนั้น ในรายงานของสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอนุภาคของพลาสติกเหล่านี้ในน้ำดื่ม อาจเป็นการทำให้ผู้บริโภคหวาดกลัวโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม “สภาเคมีแห่งอเมริกา” หรือ American Chemistry Council (ACC) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตพลาสติกในสหรัฐ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นอย่างสิ้นเชิงต่อประเด็นดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ตามรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Environment Programme (UNEP) ได้ระบุว่า ปัจจุบัน โลกของเรากำลังจมอยู่ภายใต้มลพิษของพลาสติก จากการที่มีการผลิตพลาสติกมากกว่า 430 ล้านตันต่อปี

โดยพบอนุภาคไมโครพลาสติกในมหาสมุทร ในอาหาร และในน้ำดื่ม ซึ่งบางส่วนอาจปนเปื้อนมาจากเส้นใยพลาสติกในเสื้อผ้า และไส้กรองของก้นบุหรี่

หลังจากเผยแพร่ผลการวิจัยลงในวารสาร National Academy of Sciences เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้ร่วมทีมวิจัยทั้ง 4 คน ได้ออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาได้ลด-ละ-เลิก การบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดอย่างเด็ดขาด

นำโดย ดร. Naixin Qian นักเคมีในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Columbia ตามด้วย ดร. Phoebe Stapleton ผู้เชี่ยวชาญพิษวิทยาจากมหาวิทยาลัย Rutgers

ดร. Wei Min Huang ผู้คิดค้น “กล้องจุลทรรศน์เลเซอร์คู่” จากมหาวิทยาลัย Columbia ได้ลดการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดลงครึ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับ ดร. Beizhan Yan นักเคมีด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัย Columbia ที่หันไปบริโภคน้ำประปาแทน

สอดคล้องกับนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ที่ต่างออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับอันตรายของ “อนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก” ที่ตรวจพบในขวดน้ำดื่ม อย่างไรก็ดี หลายคนชี้ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะทำการสรุปในประเด็นนี้

 

ดร. Jason Somarelli อาจารย์ด้านการแพทย์ และผู้อำนวยการกลุ่มมะเร็งวิทยาเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัย Duke ให้ความเห็นว่า อันตรายจากพลาสติกยังคงเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าสารเติมแต่งอื่นๆ ต่างหากที่เป็นสิ่งซึ่งน่ากังวลมากกว่า

“แน่นอน พวกเรารู้กันดี ว่าอนุภาคของนาโนพลาสติก สามารถเข้าสู่ร่างกายถึงระดับเซลล์ และพวกมันก็เป็นตัวนำพาที่ดีของสารเติมแต่ง ที่อาจเพิ่มความเครียดต่อเซลล์ สร้างความเสียหายให้กับ DNA และเปลี่ยนรูปแบบการเผาผลาญ หรือการทำงานของเซลล์อย่างน่ากลัว” ดร. Jason Somarelli กล่าว และว่า

ที่ผ่านมา เขาได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายชิ้น ซึ่งพบว่า มีสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งในพลาสติกดังกล่าวมากกว่า 100 ชนิดเลยทีเดียว

สอดคล้องกับ ดร. Zoie Diana นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัย Toronto เผยว่า สิ่งที่น่ากังวลก็คือ “อนุภาคของพลาสติก” ขนาดเล็ก ที่สามารถปรากฏได้ในอวัยวะต่างๆ และอาจจะทะลุเยื่อหุ้มที่ไม่ควรข้ามไป

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวกั้นระหว่างเลือดและสมอง หรือ Blood-Brain Barrier (BBB)” ดร. Zoie Diana ทิ้งท้าย

 

ขณะเดียวกัน ดร. Denise Hardesty นักสมุทรศาสตร์ที่ทำงานให้กับรัฐบาลออสเตรเลีย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องขยะพลาสติก กลับแสดงความกังวลเกี่ยวกับอนุภาคนาโนพลาสติกในน้ำดื่มบรรจุขวดน้อยกว่าคนอื่น

“หากกล่าวเชิงเปรียบเทียบแล้ว น้ำหนักรวมของนาโนพลาสติกที่ตรวจพบ แค่เท่ากับน้ำหนักของเหรียญเพนนีเพียงเหรียญเดียวที่จมอยู่ใต้สระว่ายน้ำขนาดใหญ่จำนวน 2 สระ” ดร. Denise Hardesty สรุป

ดร. Beizhan Yan นักเคมีด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัย Columbia ทิ้งท้ายว่า เขากำลังตรวจดู ว่ามีพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในน้ำประปาของบอสตัน เซนต์หลุยส์ ลอสแองเจลิส และที่อื่นๆ มากแค่ไหน

“การศึกษาก่อนหน้านี้ระบุว่า อาจมีอนุภาคนาโนพลาสติกในน้ำประปาน้อยกว่าที่พบได้ในน้ำดื่มบรรจุขวด แต่ผมมองว่า ปัญหาที่แท้จริงอาจจะมาจากไส้กรองของเครื่องกรองน้ำ ที่ก่อให้เกิดอนุภาคของนาโนพลาสติก และไมโครพลาสติกในน้ำดื่มมากกว่า” ดร. Beizhan Yan สรุป