ANATOMY OF A FALL ‘โครงกระดูกในตู้’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์

 

ANATOMY OF A FALL

‘โครงกระดูกในตู้’

 

กำกับการแสดง

แสดงนำ

Justine Triet

Sandra H?ller

Swann Arlaud

Milo Machado-Graner

Samuel Theis

 

ความหมายของ “กายวิภาคแห่งการร่วงหล่น” จากชื่อหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นทวินัย

นัยตรงตัว คือการวิเคราะห์การร่วงหล่นทางกายภาพในคดีการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัว ซึ่งตกจากที่สูงลงสู่พื้นเบื้องล่างจนถึงแก่ชีวิต

ส่วนนัยแฝงที่น่าจะมีน้ำหนักและกินใจมากกว่า คือการปอกเปลือกความล่มสลายในชีวิตครอบครัวของคู่แต่งงานที่ล้มเหลวด้วยเหตุปัจจัยนานัปการ

โครงกระดูกในตู้-ตามสำนวนซึ่งหมายถึงเรื่องน่าอับอายอดสูที่ถูกปกปิดซ่อนเร้นไว้จากสายตาคนนอก-ถูกขุดคุ้ยออกมาเปิดโปงตีแผ่ประจานต่อหน้าสาธารณชน…รวมทั้งลูกชายวัยสิบเอ็ดซึ่งไม่เคยรับรู้ถึงความบาดหมางอันร้าวลึกระหว่างพ่อกับแม่มาก่อน…ในการดำเนินคดีฆาตกรรมตามข้อกล่าวหาของอัยการ

ตั้งแต่วัยสี่ขวบ แดเนียลถูกรถชนจนมองเห็นได้เพียงเลือนราง ในอุบัติเหตุที่แซมวล (แซมวล เตอีส) พ่อของเขา โทษตัวเองว่าเป็นความผิด

หนังเปิดเรื่องที่ชาเล่ต์หลังใหญ่บนภูเขาในชนบทอันหนาวเย็นและอ้างว้างในฝรั่งเศส

แดเนียล (ไมโล มาชาโด-เกรเนอร์) ลูกชายวัยสิบเอ็ดซึ่งพิการทางสายตา กำลังอาบน้ำในหมาชื่อสนูป ขณะที่แซนดรา (แซนดรา ฮัลเลอร์) ผู้เป็นแม่ กำลังให้สัมภาษณ์อย่างรื่นรมย์กับนักศึกษาสาวเรื่องความสำเร็จในฐานะนักเขียน

ระหว่างนั้น เสียงดนตรีกระหึ่มดังสนั่นลงมาจากห้องใต้หลังคา ซึ่งแซมวล สามีของแซนดรา ทำงานอยู่คนเดียว

…ด้วยเจตนาเหมือนจะไล่แขก…

ไม่นานแขกผู้มาสัมภาษณ์และเจ้าบ้านฝ่ายหญิงผู้ให้สัมภาษณ์ก็ทนแข่งกับเสียงดนตรีสนั่นนั้นไม่ไหว และลาจากกันโดยสัญญาจะพบกันใหม่ในเมือง

นักศึกษาสาวขึ้นรถขับลงจากเขาไป

เราเห็นภาพกว้างของบ้านบนภูเขาทั้งหลัง ซึ่งมีแซนดรายืนอยู่บนระเบียงชั้นสองโบกมือลา

ไม่นาน แดเนียลก็จูงสนูปออกจากบ้านไปเดินเล่นในป่า ลัดเลาะไปตามไหล่เขาและข้ามสะพานกลับมาบ้านโดยมีสนูปเดินนำหน้า

แดเนียลให้การในภายหลังว่าเขาชอบออกไปเดินเล่นสูดอากาศข้างนอกเวลาพ่อกับแม่มีปากมีเสียงกัน

เมื่อกลับมาถึงชาเล่ต์ สนูปวิ่งนำหน้าไปที่ร่างของแซมวลซึ่งนอนแน่นิ่งจมกองเลือดอยู่ที่พื้นหน้าบ้านที่มีหิมะปกคลุม แดเนียลร้องเรียกแม่ซึ่งโผล่ออกมาดูเสียงอันตระหนกตกใจของลูกชายอย่างงงๆ

จากนั้นแซนดราก็โทรศัพท์เรียกหน่วยกู้ภัยฉุกเฉินมา และบอกว่าเธอไม่ได้แตะต้องร่างของผู้ตายเลยเพราะเกรงจะไปยุ่งเกี่ยวกับหลักฐาน

ตำรวจเข้ามาสอบสวน แต่ก็ไม่สามารถสรุปรูปคดีและสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจนแน่นอน

 

เนื่องจากชาเล่ต์หลังนี้ตั้งอยู่ห่างไกลจากผู้คนและไม่มีร่องรอยของ “มือที่สาม” หรือบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องกับรูปคดี การร่วงลงมาจากที่สูงจนถึงแก่ชีวิตจึงมีความเป็นไปได้อยู่สามทาง

คือ อุบัติเหตุ อัตวินิบาตกรรม และฆาตกรรม

รอยเลือดที่กระเซ็นอยู่บนเพิงเบื้องล่างที่รองรับการตกก่อนจะกระดอนถึงพื้น ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างแน่ชัด และการสอบปากคำส่อพิรุธบางอย่างซึ่งนำไปสู่การส่งเรื่องให้อัยการฟ้องดำเนินคดีด้วยข้อหาฆาตกรรม

วินเซนต์ (สวอนน์ อาร์โลด์) ทนายความซึ่งเป็นเพื่อนแซนดราและเคยหลงรักเธอมาก่อน เข้ามาเป็นตัวแทนว่าความแก้ต่างให้แซนดรา

แต่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่ courtroom drama แบบทั่วไป ไม่ใช่หรือหนังสืบสวนคลี่คลายคดีฆาตกรรมอย่างที่เห็นๆ กันโดยปกติ

นี่เป็นการศึกษาแคแร็กเตอร์อันละเอียดประณีตและลึกล้ำ

 

คําให้การของพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นเพียงทัศนะเสี้ยวเดียวของภาพรวมทั้งหมด และอาจเป็นมุมมองที่บิดเบือนจากวิจารณญาณที่เป็นอัตวิสัยเสียด้วยซ้ำ

ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ที่ “ฟังความข้างเดียว” และเชื่อมั่นในตนเองว่ามีสถิติในการบำบัดคนไข้โดยไม่มีใครเคยฆ่าตัวตายสักรายเดียว

หรือตำรวจที่หาเหตุผลสารพันมารองรับทฤษฎีที่ตัวเองปักใจเชื่อ

หรือสื่อมวลชนที่มีความโน้มเอียงไปทางนำเสนอข่าวเรื่องนักเขียนฆ่าสามี ซึ่งน่าเร้าใจมากกว่าข่าวเรื่องครูฆ่าตัวตาย

หนังตั้งประเด็นของเส้นอันเลือนรางระหว่างความจริงกับนิยาย (หรือเรื่องที่แต่งขึ้น)

“นิยายอิงชีวิตจริง” หรือว่า “ชีวิตจริงอิงนิยาย” กันแน่?

และแคแร็กเตอร์ของตัวละครในเรื่องซึ่งเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จและนักเขียนที่ล้มเหลว ซึ่งนำเศษเสี้ยวของประสบการณ์ในชีวิตไปเขียนเป็นนิยาย ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับเรื่องสมมตินั้นเลือนรางและแยกได้ยาก

 

หนังไม่มีตอนจบที่ชัดเจนตายตัวแบบคำตอบสุดท้ายที่เฉลยให้รู้เหมือนปมที่ขมวดไว้อย่างเรียบร้อย แต่เป็นตอนจบแบบปลายเปิด ซึ่งหมายความว่าคนดูจะต้องเลือกตีความเอาเอง

ไม่มีข้อสรุปที่บ่งชี้ชัดเจน

ซึ่งนี่เป็นเสน่ห์หรือจุดแข็งของหนังมากกว่าจะเป็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่อง

แทบจะไม่ต้องพูดเลยว่าแซนดรา ฮัลเลอร์ สมควรได้รับคำยกย่องขนาดไหนกับบทบาทการแสดงในเรื่องนี้ เรียกได้ว่าละเอียดลออจนบดขยี้ถึงทุกซอกทุกมุมของแคแร็กเตอร์ทีเดียว

ตัวลูกชายที่เล่นโดยไมโล มาชาโด-เกรเนอร์ ก็เป็นกุญแจสำคัญต่อความเข้าใจในความหมายที่หนังต้องการสื่อความ

ต้องขอคารวะจัสตีน ทรีเอ็ต ผู้เป็นทั้งผู้กำกับฯ และผู้ร่วมเขียนบท ซึ่งสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ดราม่าที่ละเอียดประณีตแบบเก็บได้ทุกเม็ดเลยทีเดียว

เป็นหนังที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งเลยค่ะ