E-DUANG : จับตา บทบาท ไคอยู่ “ครูใหญ่” ประสาน “ไหมไทย”กับ “กู่แคน”

บทบาทของ”ครูใหญ่”ที่สำแดงผ่าน “ไคอยู่”แหล่งกลางแห่งการ”เว้าพื้น” ณ ขอนแก่น กำลังได้รับการจับตา ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเกิดขึ้นของ Sol Bar ในหลายพื้นที่

แม้ว่า Sol Bar จะแสดงออกในลักษณะอันเป็นตัวแทนและมีความแนบแน่นอยู่กับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นที่ซอยอารีย์ ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่

โดยพื้นฐานคือเป็นแหล่งระดมทุน สร้างรายได้

แต่โดยความต่อเนื่องและผลข้างเคียงได้รับการแปรเป็นเวทีแห่งการเสวนา อภิปราย เพื่อนำเสนอปัญหาและร่วมกันค้นหาทางออก

ขณะที่”ไคอยู่”ประกาศตนเป็น”คูล บาร์” และอยู่ในความรับผิดชอบของ”ครูใหญ่”อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหมือนกับมิได้เกี่ยวข้องอะไรกับพรรคก้าวไกล

กระนั้น บทบาทของ”ครูใหญ่”ตั้งแต่ตระเวนขึ้นเวทีของ”คณะราษฎร” ไม่ว่าที่ขอนแก่น ไม่ว่าที่ชัยภูมิ ไม่ว่าที่มหาสารคาม ไม่ว่า ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือเล่นบทตัวแทนของ”อีสาน”

ที่สำคัญก็คือ การเชื่อมต่อไปยัง”จอมยุทธ์ไหมไทย” การเชื่อมประสานไปยัง”จอมยุทธ์กู่แคน”

 

แวดวงบันเทิงอีสานย่อมรับรู้เป็นอย่างดีว่าการดำรงอยู่ของ”จอม ยุทธ์ไหมไทย”  และการดำรงอยู่ของ”จอมยุทธ์กู่แคน”เป็นอย่างไรในแวดวง”หมอลำ”

คนแรกมีรากฐานมาจากป้า”นกน้อย อุไรพร” คนหลังมีความผูกพันอยู่กับ”ครูสลา”อย่างยากจะแยกออกจากกัน

ไม่จำเป็นต้องถามว่าสถานะในทางวัฒนธรรมของป้า”นกน้อย อุไรพร”ดำรงอยู่อย่างไร ยิ่งสถานะในทางวัฒนธรรมของ”ครู สลา”แทบไม่ต้องบรรยายขยายความ

เมื่อ”ครูใหญ่”กับ”จอมยุทธ์ไหมไทย” กับ”จอมยุทธ์กู่แคน”สามารถเชื่อมประสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ในระดับมีการมอบ”เข็มขัด”ให้อยู่ในความครอบครอง

สถานะของ”ครูใหญ่” สถานะของ”ไคอยู่”ไม่ว่าที่ขอนแก่น ไม่ว่าที่เมืองเลยก็ย่อมจะสูงเด่นและได้รับความสนใจ

ส่งให้การดำรงอยู่ของ”ไคอยู่”กลายเป็น”ศูนย์รวม”

 

อย่าถามว่าในห้วงแห่งการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 บท บาทของ”ครูใหญ่”ดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างไร

ไม่เพียงในพื้นที่”ขอนแก่น”หากไปทั่วแคว้น”แดนอีสาน”

กระบวนท่าของ”ครูใหญ่”คือกระบวนท่าที่สะท้อนออกผ่านแต่ละด้านแห่งวัฒนธรรม ไม่ว่าในเรื่องการรำฟ้อน ไม่ว่าในเรื่องการกินอยู่ ไม่ว่าในเรื่องการใช้ชีวิต

ทั้งหมดล้วนยืนยันถึงแนวทางแห่งการ”ปักหมุด”ในทาง”ความคิด”โดยสร้างแรงสะเทือนในทาง”การเมือง”ชัดเจน