สาธุ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เวลาหนึ่งทุ่มของทุกวันผมจะได้ยินเสียงสวดมนต์แว่วๆ มาจากลำโพงของวัดใกล้บ้าน บางครั้งก็ได้ยินเสียงประกาศกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเวลากลางวัน ต้องบอกก่อนว่าวัดแถวบ้าน (เช่า) ของผมย่านฝั่งธนบุรีนี้มิใช่วัดที่มีชื่อเสียงมากมายอะไร แต่ดูเหมือนว่ามีกิจกรรมต่างๆ ไม่เคยขาด

วันหนึ่งผมสะดุดตากับบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ซึ่งโฆษณาให้คนมาร่วมทำบุญยกพระอุโบสถเก่าของวัดนี้ในช่วงสงกรานต์โดยวิธี “ดีด” อาคาร แต่เขาใช้คำขวัญว่า “ยกโบสถ์ ยกศาสนา ยกชะตาชีวิต” ฟังดูดีน่าสนใจ พร้อมกราฟิกที่สวยงาม ทันสมัย เก๋

บางครั้งเมื่อวัดมีกิจกรรม แผ่นบอร์ดหน้าวัดก็จะถูกออกแบบมาอย่างสวยงามและทันสมัยเช่นกัน ราวกับกิจกรรมและการการประชาสัมพันธ์ของวัดมีทีมครีเอทีฟ ทีมออกแบบ ทีมสื่อสาร ฯลฯ ที่น่าจะเป็นวัยรุ่นสักกลุ่มหนึ่ง

ผมคงคิดมากไป อาจมีแค่พระหนุ่มบางรูปหรือเด็กวัดที่เก่งกราฟิกช่วยทำให้ ไม่มีอะไรมากกว่านี้

ที่คิดไปในทางนั้น ก็เพราะมีซีรีส์เรื่องหนึ่งที่เพิ่งฉายทาง “เน็ตฟลิกส์” ไปไม่นาน (ผมไม่ได้ค่าโฆษณาอะไรทั้งสิ้น) ชื่อ “สาธุ”

ขออนุญาตเปิดเผยเนื้อหาสักนิด สาธุว่าด้วยเรื่องวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ทำธุรกิจพลาดจนมีหนี้มหาศาล แล้วได้ไอเดียใหม่ว่า ควรจะไปหารายได้กับศาสนา โดยไปอาศัยวัดแห่งหนึ่งเป็นที่ก่อการ ใช้ไอเดียทางการตลาดจนวัดโด่งดังขึ้นมา แต่เรื่องราวยังมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน เพราะไปพันพันกับเรื่องสีเทาๆ ทั้งในวงการพระเองรวมไปถึงการเมืองท้องถิ่นด้วย

เล่ามากกว่านี้จะเสียอรรถรสแล้วครับ แต่เอาเป็นว่าเป็นซีรีส์ที่ชมได้เพลินๆ สนุกและน่าสนใจมากทีเดียว

ในแง่การแสดง ผมคงไม่วิจารณ์อะไรมาก บางท่านเป็นนักแสดงหน้าใหม่ วิธีการพูดอาจทำให้รู้สึกรำคาญอยู่บ้าง บางท่านเป็นนักร้องแต่ก็มาทำหน้าที่นักแสดงได้ดี

ผู้คนฮือฮากับซีรีส์เรื่องนี้กันมาก อาจเป็นเพราะเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึง “แง่ลบ” หรือ ด้านมืดของพุทธศาสนาไทยตรงๆ อย่างที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้น ด้านลบของพระมักไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ อย่างฉากพระเล่นกีตาร์ในภาพยนตร์แสงศตวรรษที่ถูกตัดออกไป หรือมักจะต้องเลี่ยงๆ ไม่กล่าวหาพระโดยตรง เช่น ภาพยนตร์เรื่องอาบัติ ที่พระทุศีลกลายเป็นผีไปแล้ว หรือเรื่องนาคปรกที่บรรดาโจรชั่วก็แค่ใช้ผ้าเหลืองบังหน้าโดยไม่ใช่พระจริง

สมัยที่ผมเรียนปริญญาตรีสาขาการสื่อสารมวลชนนั้น พวกเราได้ดูหนังสั้นเรื่องหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าชื่อเรื่องหลวงตาหรือไม่เพราะนานเต็มที ในเรื่องนั้นมีเพียงพระชรานั่งรถเข็นออกบิณฑบาต ชาวบ้านเห็นพระทั้งชราและพิการก็พากันใส่บาตรด้วยความเคารพ

ฉากจบของหนังที่ทำให้พวกเราตื่นเต้น คือแค่พระรูปนั้นถูกเข็นเข้าไปในกุฏิ พอลับตาคน แกก็ลุกขึ้นยืนได้เอง กล่าวคือ ไม่ได้พิการจริงๆ นั่นแหละ โห สมัยนั้นนับว่าแรงมากแล้วครับและฉลาดนำเสนอในเวลาสั้นๆ ด้วย

พอเริ่มโตขึ้น ได้ดูภาพยนตร์ต่างประเทศมากเข้าก็พบว่า ภาพยนตร์แนววิพากษ์สังคมการเมืองและศาสนาของเรานั้นเบามากทีเดียว ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า ทำไมสังคมไทยจึงมีบางเรื่องที่เราไม่อาจทำเป็นภาพยนตร์ได้ ถึงแม้หลายคนคงอยากทำ เราจึงมีแต่หนังฟีลกู๊ด หนังตลกและหนังผีเต็มไปหมด

นอกจากซีรีส์สาธุจะนำเสนอด้านมืดในทางศาสนา ก็เป็นหนังแนวมาเฟียหรือแนวสืบสวนสอบสวนที่สนุกตื่นเต้น ผมว่าอีกอย่างที่น่าสนใจ คือทีมข้อมูลค้นคว้ามาดีทีเดียว เช่น วัฒนธรรมวัดแบบไทยๆ ปัญหาของวัดในต่างจังหวัด ความแตกต่างของพระบ้านพระป่า ธุรกิจเครื่องรางของขลัง ฯลฯ

กระนั้น ระหว่างที่ผมกำลังดูซีรีส์เรื่องนี้ ผมพูดกับภรรยาซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ ว่า “ขอเถิด ขออย่าให้หนังจบด้วยการสั่งสอนเรื่องศีลธรรมความดีอะไรด้วยเถิด มันจะกร่อยเสียหมด” และแม้หนังเรื่องนี้จะไม่มีตัวละครใดออกมาพูดสั่งสอนศีลธรรมความดีในตอนจบ แต่หนังเองมันก็สั่งสอนอยู่ในตัวแล้วครับ ซึ่งก็จะขอพูดถึงต่อไป

อ่อ ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมอนุโมทนาในการมีภาพยนตร์แนววิพากษ์เช่นนี้นะครับ

ดังนั้น การวิจารณ์ในบทความนี้ขอให้คิดว่าติเพื่อก่อหรือต่อยอดทางความรู้ออกไป

และอยากให้กำลังใจคนสร้างหนังไว้ด้วย

หลังดูจบ ผมได้คุยกับวิจักขณ์ พานิช และเรามีความเห็นคล้ายๆ กันว่า ที่จริงหนังไม่ได้นำเสนออะไรใหม่อย่างที่พวกเราหรือคนทั่วๆ ไปไม่รู้ ปัญหาพุทธไทยที่หนังนำเสนอนั้นเราเห็นกันจนเจนตาและรู้กันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าเรื่องอำนาจที่ฉ้อฉลของพระ การเล่นพรรคเล่นพวก ทุศีล พระตุ๊ด ไม่สำรวม พูดรวมๆ คือเรื่อง “พระชั่ว”

ปัญหาเรื่องไวยาวัจกรหรือคนดูแลเงินพระ ที่มาเอี่ยวกับนักการเมืองท้องถิ่นและธุรกิจสีเทา กล่าวรวมๆ คือ “คนชั่ว” และเรื่องพุทธพาณิชย์กับเครื่องรางของขลังซึ่งเป็นแกนใหญ่ของเรื่องนี้ทีเดียว

ทว่า เมื่อมันมาปรากฏให้เห็นชัดๆ ในภาพยนตร์ก็เป็นสิ่งน่าตื่นตาตื่นใจมากเป็นพิเศษ

แต่นี่แหละครับคือความเข้าใจระดับต้นเกี่ยวกับปัญหาพุทธศาสนาในบ้านเราที่แอบมีความพยายามสอนสั่งศีลธรรมแก่คนดู และยังซ่อนปัญหาที่แท้จริงเอาไว้ด้วย

กล่าวคือ หนังได้สะท้อนภาพ “พุทธแท้” และ “พุทธเทียม” เอาไว้อย่างเนียนๆ พุทธเทียมที่เต็มไปด้วยเครื่องรางของขลัง พุทธพาณิชย์ สมณศักดิ์ “วัดบ้าน” ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมที่ไม่สงบ การแข่งขันร้องเพลง โปรโมตบุญ ฯลฯ พระไม่ได้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานอะไร ตรงข้ามกับพุทธแท้ที่สะท้อนผ่านวัตรปฏิบัติของพระใน “วัดป่า” ซึ่งมีตัวละคร “หลวงพี่ดล” เป็นตัวแทน

นอกจากนี้ หนังยังฉายภาพว่า บอสใหญ่ผู้บงการเรื่องราวที่นำมาสู่ปัญหาทั้งหมดในเรื่องนี้ คือ “นักการเมืองชั่วๆ” ตามสูตรศีลธรรมที่เราท่องจำกันมาตลอด ราวกับว่าความเป็นนักการเมืองนั้นชั่วในตัวเองโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งที่เราก็รู้ว่ามันไม่ใช่ความจริงโดยจำเป็น

ในฐานะที่เคยเรียนสื่อสารมวลชนมา ก็พอเข้าใจครับว่าในเมื่อเป็นหนัง ไม่ใช่ข่าวหรือสารคดี ความสนุกจึงเป็นตัวตั้ง แคแร็กเตอร์ของตัวละครก็ควรต้องเด่นขึ้นมา หรือต้องใช้ “ภาพแทน” เพื่อง่ายที่จะสื่อกับผู้ชม แต่กระนั้น สูตรแบบนี้ก็เป็นสูตรเดิมๆ ที่เราใช้มาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว

ผมคิดว่า ในยุคนี้ภาพยนตร์ควรที่จะช่วยเปลี่ยน “ภาพจำ” ที่เรามีมาเนิ่นนานมากกว่าจะไปผลิตซ้ำภาพจำเดิมๆ ที่ตอกย้ำอคติบางอย่าง

ส่วนประเด็นพุทธแท้พุทธเทียมนั้น ผมเห็นว่า ใครจะกล้าเคลมความแท้กว่าใคร สำนักไหนๆ ก็บอกว่าตัวเป็นพุทธแท้ แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะวัดป่าหรือวัดบ้าน พระที่เคร่งหรือไม่เคร่งก็ล้วนตกอยู่ใต้โครงสร้างอำนาจของพุทธศาสนาแบบทางการของรัฐทั้งสิ้น ซึ่งมีสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับ “พระธรรมวินัย” อยู่มากมาย

มิใช่ ความดี-ชั่วจะไม่เป็นเรื่องสำคัญหรือควรพิจารณา ทว่าหากเราสาละวนอยู่กับปัญหาดีชั่วของปัจเจกหรือของแต่ละคน โดยลืมไปว่ามี “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่ครอบอยู่อีกชั้น การพยายามแก้ปัญหาโดยมุ่งแต่จะสร้างคนดี (แบบไหนอีก) มันจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร ก็อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่

ไวยาวัจกรวัดที่โกงเงินได้สะดวก บางคนก็ลูกหลานหลวงพ่อนั่นแหละซึ่งก็เข้ามาโดยช่องทางลัด หากวัดดำเนินการในรูปมูลนิธิ ที่ต้องมีความโปร่งใสในการแจกแจงเรื่องการเงินและตรวจบัญชี มี “คณะกรรมการ” ประกอบด้วยคนนอกคนใน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องชัดเจน พระชราที่เจ็บป่วยก็ไม่จำเป็นต้องบริหารวัดไปจนตาย คนอย่างน้าแต๋งในซีรีส์จะทำอย่างไรได้

หากระบบอำนาจของพระถูกปฏิรูปใหม่ให้สอดคล้องต้องตามพระธรรมวินัย ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ ใครจะมาอ้างอำนาจไปบังคับคนอื่นได้ทั้งที่ไม่ชอบธรรม และรัฐหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจะใช้วัดเป็นขุมกำลังในทางมิชอบได้ง่ายดายกระนั้นหรือ

ส่วนเรื่องพุทธพาณิชย์นั้น ผมอยากให้ดูตัวอย่างอินเดียครับ เขาแยกเงินวัดซึ่งต้องบริหารโดยคณะกรรมการของ “trust” ไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ปะปนกับเงินส่วนตัวของพราหมณ์ เขาเข้าใจดีครับว่ามีวัดก็ต้องมีค่าใช้จ่าย และค่าใช้จ่ายก็มีทั้งส่วนการบริจาคและอื่นๆ เช่น วัตถุมงคลและพิธีกรรม ถ้าทำให้พอเหมาะพอดีก็เป็นส่วนที่สนับสนุนกิจการศาสนาซึ่งเป็น “เอกชน” ได้ และยังมีกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

มันจึงไม่ค่อยมีเหตุการณ์แบบกรรมการวัดโกงเงินวัด หรือวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่งอะไรแบบนี้เท่าไหร่ครับ

กล่าวโดยสรุป ดูเถิดครับซีรีส์นี้ แต่ดูแล้วช่วยกันคิดสักนิดต่อว่า

ปัญหาพุทธศาสนาในบ้านเราจริงคืออะไร ใครคือลาสบอส

จักเกิดประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไป •

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง