ว่าด้วยยุคก่อนซีพี

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยยุคก่อนซีพี

 

เรื่องราวศตวรรษซีพี กับตำนานธุรกิจเริ่มแรก เล็กๆ สามารถดำรงอยู่จนทุกวันนี้

ได้ติดตาม เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) นำเสนอ “เมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน” มาสักพัก (กุมภาพันธ์ 2567) ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมไทยในเวลานี้ มากที่สุดของช่อง (YouTube ทางการ CP Group) ก็ว่าได้ (เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้เข้าชม กับช่วงเวลา) โดยเฉพาะเวอร์ชั่นสั้น ดูกระชับ เข้าประเด็น

ในฐานะ “ผู้ติดตาม” ซีพีมาหลายทศวรรษ ไม่ได้ตั้งใจรีวิว หากถือโอกาสเล่าเรื่องสาระเกี่ยวข้องให้เป็นจริงเป็นจังขึ้น เกี่ยวข้องธุรกิจเริ่มแรก บางทีอาจกระตุ้นให้มีผู้ชมมากขึ้นอีกบ้างก็เป็นไปได้

ทั้งนี้ เรียบเรียงมาจากบางตอนในหนังสือเล่มใหม่ของตนเอง (ยังไม่ได้เผยแพร่วงกว้าง) ว่าไปแล้ว หนังสือดังกล่าว ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องเล่าของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ผ่าน “บันทึกความทรงจำของ ธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont ในสื่อธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น-NIKKEI (2559) และหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน (พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2562)

 

“ประมาณปี พ.ศ.2462 คุณพ่อเดินทางมาประเทศไทย และอาศัยอยู่กับญาติ สมัยนั้นรัฐบาลไทยสนับสนุนการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเล ชาวจีนแต้จิ๋วจำนวนไม่น้อยจึงได้เข้ามาประเทศไทย…” จากบันทึกความทรงจำ ฉบับ NIKKEI เปิดฉากแรกตำนานยุคก่อนซีพี โดยผู้ก่อตั้ง-เจี่ย เอ็กชอ

ในที่นี้ ตั้งใจอรรถาธิบาย ให้มีความสัมพันธ์กับความเป็นไป เข้ากับกระแส และบริบททางสังคมในภาพกว้าง

“ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับขบวนการชาวจีนอพยพมาสู่แผ่นดินสยาม เริ่มต้นครั้งใหญ่ครั้งแรกในช่วงสงครามฝิ่น (2383-2385) เมื่ออาณานิคมอังกฤษเข้ายึดครองแผ่นดินจีนตอนใต้ ซึ่งมีท่าเรือสำคัญเพื่อใช้เป็นฐานการค้าฝิ่นระดับภูมิภาค เป็นช่วงเวลานำความยากจนข้นแค้นสู่ประชาชนจีน ผลักดันให้เกิดอพยพครั้งใหญ่ สู่โพ้นทะเล ไม่ว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย” (อ้างจากหนังสือ The Penguin of History World โดย J M Roberts, 2000) ต่อมาอีกช่วง ขบวนการอพยพได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากปีละประมาณ 2,000-3,000 คน ในช่วงสงครามฝิ่น เป็นปีละ 16,000 คนในช่วงปี 2425-2435 และเพิ่มขึ้นอีกมากถึงปีละ 68,000 คนในช่วงปี 2449-2458 (เรียบเรียงและอ้างอิงมาจากหนังสือ Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 โดย Suehiro Akira,1996)

ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายในช่วงปลายราชวงศ์จีนแผ่นดินใหญ่ ต่อเนื่องเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐ นำโดย ซุน ยัต เซ็น

ตำนานซีพียุคก่อนก่อตั้ง จึงอยู่ในช่วงปลายขบวนการอพยพชาวจีนโพ้นทะเลสู่แผ่นดินสยาม

มีนักวิชาการบางคนสรุปอีกว่า มิได้มาจากหลีกหนีความวุ่นวายและความอดอยากยากแค้นเท่านั้น หากเป็นขบวนการเคลื่อนย้ายผู้แสวงโชค แสวงหาโอกาส รวมทั้งตอบสนองตามความต้องการแรงงานในยุคอาณานิคม ซึ่งกำลังครอบงำและเชื่อมโยงทั้งภูมิภาค

 

“ร้านเจียไต๋จึง” ก่อตั้งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้สงครามมีศูนย์กลางในยุโรป (2448-2452) แต่มีผลกระทบสำคัญให้อิทธิพลอาณานิคมในโลกตะวันออกเสื่อมถอย เปิดโอกาสให้เครือข่ายธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลมีบทบาทมากขึ้น

การค้าเมล็ดพันธุ์ของ “ห้างเจียไต๋จึง” เป็นเพียงกิจการเล็กๆ ตามช่องว่างที่เปิดขึ้น ตามโอกาสของผู้มาทีหลัง มีความเชื่อมโยงกับอิทธิพลอาณานิคมไม่มาก แต่มีมิติวิวัฒนาการอ้างอิงกับสังคมโลกตะวันออก

โดยเฉพาะจีน-สังคมที่มีการปลูกพืชผักสวนครัวมาช้านาน ปรากฏในวรรณกรรมเก่าแก่ ตั้งแต่ยุคก่อนคริสต์ศตวรรษ ชุมชนชาวจีนซึ่งอพยพไปในที่ต่างๆ ของโลกในเวลาต่อมา ปรากฏหลักฐานการปลูกพืชผักสวนครัวมากว่าศตวรรษด้วย อย่างชุมชนจีนอพยพในสหรัฐอเมริกา (ปรากฏใน Chinese Vegetable Gardens, Portland 1905)

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เพิ่งรายงานเมื่อไม่นานว่า จีนเป็นประเทศส่งออกผักสวนครัวมากที่สุดในโลก โดยเริ่มเข้าสู่ระบบการค้าอย่างจริงจังในช่วงสงครามเวียดนาม

“…ชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาส่วนใหญ่จะยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก คุณพ่อนำเมล็ดพันธุ์ที่นำมาจากเมืองจีนขายให้แก่เกษตรกรและส่งขายให้ร้านค้าปลีก…ในปี พ.ศ.2464 คุณพ่อจึงเปิด ‘ร้านเจียไต๋จึง’ ขึ้นบนถนนเยาวราช”

อีกตอนของบันทึกความทรงจำ ฉบับ NIKKEI สอดคล้องกับเรื่องเล่าผู้ก่อตั้งกลุ่มเกษตรรุ่งเรือง (สุ่นฮั้วเซ้ง)-กิตติ ดำเนินชาญณิชย์ เกี่ยวกับเรื่องราวในวัยเด็กย่านลุ่มน้ำบางปะกง ช่วงคาบเกี่ยวการเปลี่ยนการปกครอง

“ชุมชนไทยดั้งเดิมในเวลานั้นไม่มีใครปลูกผักไว้กิน นอกจากคนไทยเชื้อสายจีน”

 

วิวัฒนาการการปลูกพืชผักสวนครัวในสังคมไทย ถือเป็น “ชิ้นส่วน” เล็กมากๆ และเป็นไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางการส่งเสริมการปลูกข้าว และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งเติบโตขึ้นเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ตั้งแต่ช่วงอิทธิพลสหรัฐอเมริกา จากสงครามเกาหลี สู่ยุคสงครามเวียดนาม แต่ถือเป็นตำนานยุคก่อนซีพีที่ยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ

เรื่องราว “ห้างเจียไต๋จึง” และ เจี่ย เอ็กชอ ในบันทึกสำคัญทั้งสองชิ้น (“บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์” และหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”) มีช่องว่างและขาดช่วงพอสมควร จากตั้งแต่ช่วงก่อตั้ง “ห้างเจียไต๋จึง” (ปี 2464) ด้วยเผชิญการเปลี่ยนทางสังคม การเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ปี 2475) สงครามโลกครั้งที่สอง (2484-2488) จนมาถึงช่วงเปลี่ยนอีกยุคหนึ่ง ยุคต้นอิทธิพลสหรัฐอเมริกา มากับสงครามเกาหลี

ข้อมูลทางการปัจจุบันของ “เจียไต๋” (https://www.chiataigroup.com/) กล่าวถึงเหตุการณ์ไว้อย่างสอดคล้อง จาก “2464 กำเนิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช ‘เจียไต๋จึง’ บนถนนทรงวาด นับเป็นผู้บุกเบิกตลาดเมล็ดพันธุ์ผักรายแรกๆ ของประเทศ” เว้นว่างราว 3 ทศวรรษ ก่อนมาถึงอีกขั้นพัฒนา “2493 เริ่มทำการตลาดและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ภายใต้ ‘ตราเรือบิน’…”

ข้างต้นเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับบางเหตุการณ์ ในสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงเวลากองทัพญี่ปุ่นมีอิทธิพลทั้งในไทยและคาบสมุทรมลายู “ในปี พ.ศ.2483 คุณพ่อยังเคยเป็นผู้แทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของบริษัท TAKII ของญี่ปุ่นอีกด้วย เครือเจริญโภคภัณฑ์ กับ TAKII ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าเรื่อยมาจนถึงวันนี้…”

บันทึกความทรงจำ ฉบับ NIKKEI อีกตอนว่าไว้

 

Takii แห่งญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นในปี 2378 เปิดร้านขายเมล็ดพันธุ์ ณ เกียวโต ตั้งแต่ยุคเป็นเมืองหลวง ที่ที่มีการปลูกพืชสวนครัวกันมาช้านาน โดยเริ่มส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศครั้งแรกในปี 2463 (อ้างจาก https://www.takii.co.jp/)

ที่น่าสนใจขยายกิจการสู่ฮ่องกง ด้วยการร่วมทุนกับชาวกวางตุ้งคนหนึ่ง ซึ่งต่อมา หุ้นส่วนคนดังกล่าวซึ่งเกิดในมณฑลเดียวกันกับเจี่ย เอ็กชอ ได้ก่อตั้งกิจการร้านค้าเมล็ดพันธุ์ขึ้น (ราวทศวรรษ 1900) ในเขตเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง โดยระบุอย่างชัดเจนว่าใช้โลโก้ (ถือว่าตราสินค้า) WCH พิจารณาไทม์ไลน์ ถือได้ว่า คาบเกี่ยวกับกรณีเจี่ย เอ็กชอ เข้ามาเมืองไทย

ส่วนบรรจุภัณฑ์ “…บรรจุเมล็ดพันธุ์ลงในซองกระดาษและกระป๋องทำจากสังกะสี เช่นเดียวกันกับที่ใช้ใส่นมผง…” (อีกตอนจากหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”) เรื่องเล่านั้น เป็นอีกมิติเชื่อมไปยังโลกตะวันตก เชื่อว่าเกี่ยวข้อง เนสท์เล่ (Nestl?) ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน ดำเนินธุรกิจยาวนานกว่า 150 ปี สำนักงานใหญ่อยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามหลักฐานเข้ามายังสยามตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 “พ.ศ.2477 ผลิตภัณฑ์ตราหมีของเนสท์เล่ เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย” (อ้างจาก https://www.nestle.co.th/)

เป็นช่วงหลังสงครามโลก เศรษฐกิจเติบโตขึ้น สังคมเปิดกว้างขึ้น เมื่อมองผ่านบางปรากฏการณ์ อาทิ สบู่หอมตรา “นกแก้ว” (โดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์) เปิดตัวครั้งแรก (2490)

ในระยะใกล้เคียงกัน กับหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย-สยามรัฐ (2493) และสถานีโทรทัศน์แห่งแรก “สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม” (2498) •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com