สอนคนให้เป็นคน

ญาดา อารัมภีร

“ประถม ก กา” เป็นแบบฝึกอ่านและเขียนภาษาไทยเบื้องต้น “ประถม ก กา หัดอ่าน” เป็นแบบให้อ่านคล่องขึ้น แบบเรียนดังกล่าวไม่เพียงแต่สอนเด็กไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นให้อ่านออกเขียนได้เท่านั้น ยังสอนข้อควรประพฤติปฏิบัติ กิริยามารยาท และสอนวิธีใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นสุขอีกด้วย

ตอนหนึ่งของ “ประถม ก กา” สอนให้ทำตัวเหมาะสมแก่กาลเทศะตั้งแต่การแต่งกาย ความขยันหมั่นเพียร รวมไปถึงการกระทำที่ควรหลีกเลี่ยง

“ถ้าแม้นทำการนา ให้นุ่งผ้าถกเขมน

ไปในวังโจงกระเบน เขากะเกณฑทำการงาน

ถ้าแม้นจะเรียนเลข อย่าโหยกเหยกหมั่นคูณหาร

อย่าเล่นเปนคนพาล จะยากนานตีนติดกรวน”

การทำนาต้องการความทะมัดทะแมง แต่งกายรัดกุมด้วยการ ‘นุ่งผ้าถกเขมร’ (นุ่งผ้าโจงกระเบนยกชายผ้าให้สูงพ้นเข่า) เมื่อเข้าไปในวัง แต่งตัวเรียบร้อยด้วยการ ‘โจงกระเบน’ (รวบชายผ้านุ่งลอดหว่างขาไปเหน็บไว้ด้านหลัง) นอกจากนี้ ใครก็ตามทำตัวเกเรเป็นคนพาล ในที่สุดได้รับผลคือ ‘ตีนติดกรวน’ หรือ ‘โซ่ตรวน’ หมายถึง ติดคุก

นอกจากนี้ คนขี้โกงใช้เงินปลอมซื้อขายไม่ซื่อตรง ขโมยของผู้อื่น จบไม่สวยสักราย ดังที่บรรยายว่า

“คนถ่อยคนชั่ว ทำเงินตะกั่ว ไปเที่ยวซื้อขาย

แล้วเปนขโมย เขาโบยด้วยหวาย เพราะเปนผู้ร้าย ฉิบหายหลายร้อย”

“ประถม ก กา” ยกตัวอย่างคนต่างชาติทำมาหากินบนแผ่นดินไทย หนักเอาเบาสู้จนสามารถตั้งตัวได้ มีชีวิตมั่นคง ไม่ลำบากอีกต่อไป

“คนญวนเขมรมอญ อยู่นครพันแสนหมื่น

ชวนกันหมั่นตัดฟืน คนแตกตื่นไปซื้อมัน

จนมีเงินทองใช้ โตกพานใหม่ถาดเชี่ยนขัน

กระโถนช้อนกระบัน เทียนน้ำมันแลน้ำตาล

บ้านเรือนเกลื่อนผ้าผ่อน มีที่นอนหมอนมุ้งม่าน

เคหาฝากระดาน พื้นนอกชานสอาดเตียน

เปนเจ้าคุณมีบุญล้น มีผู้คนใช้เสมียร”

การยกตัวอย่างคนต่างชาติที่มาแต่ตัวเข้ามาอาศัยเมืองไทยก่อร่างสร้างตัวได้ด้วยความอุตสาหะพยายาม ก็เพื่อสอนคนไทยให้ตระหนักว่า

“เปนคนหมั่นเล่าเรียน ให้ภากเพียรเขียนทุกคน”

ความหมายคือไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนเชื้อชาติใด ถ้าขยันเรียนรู้มีความรู้ ย่อมประสบความสำเร็จในชีวิต ตรงกันข้ามกับคนต่อไปนี้ที่เอาดีไม่ได้ เพราะความเลวความโง่ของตัวเอง

“คนพาลสันดานโง่ เปนคนโซเดินถนน

ขอทานท่านเลี้ยงตน เดินดั้นด้นซุกซนไป”

(เห็นตัวอย่างตนต่างชาติข้างต้นนี้แล้วสะท้อนใจและหนักใจระคนกัน สมัยนี้คนต่างด้าวที่เคยเป็นลูกจ้างคนไทย เช่น พม่า ลาว เขมร ญวน ล้วนพัฒนาคุณภาพชีวิตจนกลายเป็นเจ้าของกิจการกันเป็นแถวๆ ในขณะที่คนไทยเจ้าของประเทศยังย่ำอยู่กับที่ ยังเป็นลูกจ้างไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเลือกงาน ปฏิเสธงานที่ตัวเองไม่ชอบไม่ต้องการทำ หนักไม่เอาเบาไม่สู้)

 

นอกจาก “ประถม ก กา” ยังมี “ประถม ก กา หัดอ่าน” สอนถึงการมีมนุษยสัมพันธ์ต่อเพื่อน ญาติพี่น้อง คนชรา ตลอดจนคนพิการ ว่าควรปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะเหมาะสม

“แม้นถึงเพื่อนฝูง อย่าทำหยาบยุ่ง เจรจาหักหาญ

รักษาน้ำใจ ไว้ให้ยืนนาน ถ้าเขาเปนพาล เจ้าเอาตัวหนี

เพื่อนอันสนิธ เพื่อนคู่ชีวิต เร่งคิดจงดี

ของเขาๆ รัก อย่ามักยินดี มักเปนราคี หมองน้ำใจกัน

อย่าได้ประมาท ร้นรุกอุกอาจ ว่าตัวขยัน

ข่มท่านยกตัว เครื่องหมองใจกัน เพื่อนฝูงทั้งนั้น เขาเอาตัวหนี

พี่ป้าน้าอา เชื้อวงศ์พงศา เผ่าพันธุ์อันมี

แม้นถึงยากไร้ อย่าวายไมตรี ตามที่อันมี จงช่วยอภิบาล

คนแก่ชรา แม้นตกต่ำช้า เที่ยวมาขอทาน

อย่าควรหยาบช้า พูดจาหักหาญ เครื่องไม่ได้การ เปนกรรมแก่ตัว

เห็นคนง่อยเปลี้ย หูตาขาเสีย หน้าตามืดมัว

อย่าประมาทเลย เยาะเย้ยร้องหัว เวราของตัว เขาทำมาเอง”

 

น่าสังเกตว่า “ประถม ก กา หัดอ่าน” นั้นเน้นถึงวิชาความรู้ของผู้ชายเป็นสำคัญ เนื่องจากสมัยก่อนพระเป็นครู สอนและเรียนในวัด เด็กชายเท่านั้นที่มีโอกาสเรียนเป็นเรื่องเป็นราว ตอนหนึ่งมีข้อความว่า

“ตัวเราเปนบุรุษ เปนมนุษย์ลูกผู้ชาย

อุส่าห์เร่งขวนขวาย หาความรู้สำหรับตัว

แม้นยากสักร้อยเท่า วิบากเราอย่าได้กลัว

วิชชามีในตัว จะมีผู้มาเอ็นดู

เงินทองพ่อแม่ให้ หาบุญไม่มันไม่อยู่

วิชชาแลความรู้ จะติดตัวไปจนตาย”

ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ รู้อะไรต้องรู้จริง รู้เรื่องนั้นๆ ให้กระจ่างชัด

“ร่ำเรียนสิ่งใด ชัดเจนในใจ ได้แจ้งทุกสิ่ง

รู้จักหนักแน่น มั่นแม่นจังจริง นับว่ารู้ยิ่ง บ่รู้พลอมแพลม

รู้จริงถนัด รู้ให้สันทัด อย่ารู้หรอมแหรม

รู้จริงถี่ถ้วน สำนวนสอดแนม รู้ซ้อนรู้แกม จึงนับว่าคน”

มีความรู้เท่านั้นยังไม่พอ ต้องนำความรู้ไปประกอบอาชีพในทางที่ถูกต้อง ไม่หลอกลวงคดโกงใคร ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เช่น เป็นหมอรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องมีจรรยาแพทย์ มีความประพฤติที่แพทย์ควรปฏิบัติ

“แม้นเปนหมอยา สร้างสมตำรา จงหาครบครัน

จงรู้แก้ไข ทุกสิ่งสาระพัน รักษาโรคนั้น หายด้วยฝีมือ

รักษาที่ไหน ชะนะชาญไชย ให้เขาเลื่องลือ

ว่าหมอคนนี้ เปนที่นับถือ รอดด้วยฝีมือ เพื่อนแล้วหลายคน

เปนหมอชั่วช้า เที่ยวขอรักษา เขาทุกแห่งหน

ลวงเอาขวัญเข้า เล่าเอาสินบล วางเอาแต่ละคน เรียกเอาค่ายา

อย่าลวงอย่าล่อ อย่าทำเปนหมอ โกหกมารยา

ทำให้เปนบุญ เปนคุณอาตมา อย่าให้นินทา นั้นมาพ้องพาน”

(ทุกตัวอย่าง อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

สมัยนี้ ‘หมอดี’ มีอนาคต ‘หมอขี้ปด’ คุกรออยู่ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร