เมื่อ ‘หนังยุคปัจจุบัน’ เล่า ‘เรื่องเซ็กซ์’ น้อยลง!

คนมองหนัง

เร็วๆ นี้ “สตีเฟน ฟอลโลวส์” นักวิจัยข้อมูลด้านภาพยนตร์ เพิ่งตีพิมพ์บทความออนไลน์ซึ่งบ่งชี้ว่า “เนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กซ์” ในหนังทำเงินยุคปัจจุบัน นั้นมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญหากเทียบกับสถานการณ์เมื่อกว่าสองทศวรรษก่อน

โดยฟอลโลวส์ได้ใช้ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุด 250 อันดับแรกของแต่ละปี นับจากปี 2000 เป็นต้นมา เป็นหน่วยในการวิเคราะห์

ประเด็นค้นพบข้อแรกที่น่าสะดุดใจ ก็คือ เมื่อพิจารณาข้อมูลในปี 2023 ปรากฏว่าสัดส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ในภาพยนตร์ทำเงิน นั้นมีจำนวนลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับข้อมูลเมื่อปี 2000

คำถามต่อเนื่องที่ฟอลโลวส์สนใจมีอยู่ว่า แล้ว “เนื้อหาล่อแหลมอื่นๆ” ในภาพยนตร์ทำเงิน มีปริมาณลดลงอย่างชัดเจนเช่นนี้ด้วยหรือไม่?

คำตอบที่เขาเจอ คือ เนื้อหาเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์, การใช้ยาเสพติด, การใช้ความรุนแรง และการสบถถ้อยคำหยาบคาย ไม่ได้มีจำนวนลดลงอย่างฮวบฮาบ เหมือนการขาดหายไปของเรื่องเซ็กซ์ในภาพยนตร์

 

คําถามถัดไปที่นักวิจัยข้อมูลผู้นี้ใคร่รู้ ก็คือ ที่เราบอกว่าเรื่องเซ็กซ์ในภาพยนตร์มีปริมาณลดลงนั้น หมายถึงจำนวนฉากเซ็กซ์ยังใกล้เคียงเดิม แต่ความเร่าร้อนรุนแรงถูกลดทอนลง หรือว่าฉากเซ็กซ์ในหนังก็มีจำนวนน้อยลงด้วย?

คำตอบซึ่งปรากฏชัดเจน คือ สิ่งที่ลดลงคือจำนวนฉากเซ็กซ์ในภาพยนตร์ เช่น ในปี 2023 หนังทำเงินจำนวนเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ จากลิสต์ท็อป 250 ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กซ์เลย และตัวเลขเคยพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 50 เปอร์เซ็นต์มาแล้ว ในปี 2019

ขณะที่ถ้าย้อนไปยังปี 2000 หนังที่ “สะอาดบริสุทธิ์” แบบนี้ มีจำนวนเพียงไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

หากลงรายละเอียดในเชิงลึกกว่านั้น ฟอลโลวส์ยังพบว่าหนังสองตระกูล ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กซ์น้อยลงอย่างชัดเจนตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ก็คือ “หนังแอ๊กชั่น” และ “หนังสยองขวัญ-ระทึกขวัญ”

อย่างไรก็ตาม กระทั่ง “หนังแนวโรแมนติก” ก็ยังมีเนื้อหาเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศที่ลดน้อยลงด้วยเหมือนกัน

 

“สตีเฟน ฟอลโลวส์” วิเคราะห์ว่ามีเหตุปัจจัยสำคัญ 7 ประการ ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ของความเปลี่ยนแปลงข้างต้น

หนึ่ง “รสนิยมคนดูเปลี่ยนแปลงไป”

คนดูหนังรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะเจนซี (Z) ไม่ค่อยสนใจฉากเซ็กซ์ที่โจ๋งครึ่มเปิดเผย ตรงกันข้าม คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะชอบคอนเทนต์ที่หลีกเลี่ยงเรื่องเซ็กซ์ หรือไม่ก็พูดเรื่องเพศอย่างซับซ้อนมีชั้นเชิงสักหน่อย

สอง “การเคลื่อนตัวของปทัสถานทางวัฒนธรรม”

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการถกเถียงระดับสาธารณะที่ให้ความสำคัญกับประเด็น “การยินยอมพร้อมใจ” ก่อนมีเพศสัมพันธ์ และภาพแทนว่าด้วยเพศสภาพในสื่อ ส่งผลให้การใส่ฉากเซ็กซ์ในหนังต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและความขัดแย้งที่อาจปะทุตามมา

สาม “การคำนึงถึงตลาดภาพยนตร์โลก”

ปัจจุบัน ภาพยนตร์ที่หวังประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ในตลาดโลก จะต้องก้าวข้ามกำแพงทางวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ ให้ได้ ซึ่งการมีฉากเซ็กซ์อย่างโจ่งแจ้ง ก็มักทำให้หนังเรื่องนั้นๆ ต้องปะทะชนกับอุปสรรคมหึมา เช่น การถูกจำกัดอายุผู้เข้าชม หรือกระทั่งการถูกเซ็นเซอร์ อันถือเป็นการลดศักยภาพทางการตลาดไปโดยปริยาย

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “American Pie” (1999)

สี่ “เข้าสู่ยุคสตรีมมิ่ง”

ในสภาวะที่ผู้คนมหาศาลหันมาดูหนังออนไลน์ผ่านระบบสตรีมมิ่ง ซึ่งมีอัจฉริยภาพในการจัดสรรโปรแกรมภาพยนตร์ให้ต้องตรงกับพฤติกรรม-รสนิยมเฉพาะของผู้ชมแต่ละรายได้อย่างแม่นยำ การเล่นใหญ่ขายคอนเทนต์เรื่องเซ็กซ์เพื่อให้เตะตา-สะดุดใจมหาชน อย่างที่เคยเวิร์กกับแนวทางการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในวงกว้างแบบเก่า จึงมีความจำเป็นน้อยลง

ขณะที่ความบันเทิงเฉพาะแนวแขนงอื่นๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายอันแตกต่างหลากหลาย กลับเป็นที่ต้องการในแพลตฟอร์มยุคใหม่มากกว่า

ห้า “การเหมารวมที่ล้าสมัย”

กระแสสังคมปัจจุบันได้ปฏิเสธการมองอะไรแบบ “เหมารวมล้าสมัย” เช่น ฉากเซ็กซ์ในภาพยนตร์ยุคก่อน ซึ่งถูกประเมินว่าโดนครอบงำโดย “มุมมองของบุรุษเพศ” ตรงกันข้าม หนังยุคใหม่ต้องพยายามเล่าเรื่องเพศในมุมมองที่สะท้อนความจริงแบบต่างๆ และแสดงความเคารพต่อเพศสภาพอื่นๆ มากขึ้น

การลดทอนอำนาจของมุมมองแบบ “ชายเป็นใหญ่” ยังอาจสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ที่ “หนังแมนๆ” ในแนวเขย่าขวัญและแอ๊กชั่นยุคหลังๆ ต้องระมัดระวังการนำเสนอเรื่องเซ็กซ์มากขึ้น ดังได้กล่าวไปแล้ว

หก “เมื่อหนังผู้ใหญ่หาดูได้อย่างดาษดื่น”

เมื่อ “หนังโป๊ยุคปัจจุบัน” ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในอินเตอร์เน็ต หมายความว่าผู้ชมสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่มีฉากเพศสัมพันธ์โจ่งแจ้งได้ง่ายดายขึ้นในทุกที่ทุกเวลา ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาเรื่องเซ็กซ์ใน “ภาพยนตร์กระแสหลัก” จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกแล้ว อันเป็นการเปิดโอกาสให้คนทำหนังในระบบอุตสาหกรรมได้หันไปใส่ใจกับเรื่องราวแบบอื่นๆ

เจ็ด “การถือกำเนิดขึ้นของผู้กำกับดูแลฉากเลิฟซีน”

เมื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศหรือการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมระหว่างถ่ายทำ ตำแหน่งงานใหม่ประเภทหนึ่งที่เพิ่งถือกำเนิดและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ “ผู้กำกับฯ ดูแลฉากเลิฟซีน” (Intimacy Coordinator) ซึ่งจะทำหน้าที่กลั่นกรองฉากเซ็กซ์ที่ไม่เหมาะสมออกไป

ก่อนปี 2020 กองถ่ายภาพยนตร์ทั่วโลกที่ใช้มนุษย์เป็นผู้แสดง จะยังไม่ว่าจ้างบุคลากรสาขานี้ แต่ ณ ปัจจุบัน เริ่มมีหนังราวๆ สองเปอร์เซ็นต์ ที่ว่าจ้าง “ผู้กำกับดูแลฉากเลิฟซีน” ให้เข้ามาทำงานระหว่างกระบวนการถ่ายทำ

ปัจจัยทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนผลักดันให้ “เรื่องเซ็กซ์” ค่อยๆ กลายเป็น “ของหายาก” ในโลกภาพยนตร์ยุคใหม่ •

 

ข้อมูลจาก https://stephenfollows.com/why-is-sex-in-movies-declining/

ภาพประกอบ โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “American Pie” (1999)

 

| คนมองหนัง