E-DUANG : ยุทธการ สกัด “ก้าวไกล” สนามเลือกตั้ง นายกอบจ.

ถามว่าการเคลื่อนไหวของนายกอบจ.ที่เรียกตัวเองว่า”กลุ่มลุ่มน้ำ เจ้าพระยา”ที่ประกาศลาออกอย่างเป็นขบวนการเป้าหมายในทาง การเมืองคืออะไร

คำตอบ 1 คือ เพื่อชิงความได้เปรียบในพื้นที่ คำตอบ 2 ในที่สุดแล้วก็เพื่อตัดโอกาสของคนอื่นโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล

ถามว่าแล้วพรรคก้าวไกลหวั่นไหว เสียสมาธิหรือไม่

ไม่มีปฏิกิริยาอื่นใดจากพรรคก้าวไกล ตรงกันข้าม การอันเกี่ยวกับการเดินไปสู่การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก็ยังดำเนินไปอย่าง เป็นปรกติ

มิได้เน้นพื้นที่ในจุดอันสะท้อนการเคลื่อนไหวโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นปทุมธานี ไม่ว่าจะเป็นอ่างทอง ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์

ที่เคยรับสมัครผู้ประสงค์จะลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งผ่านกลไกแต่ละกลไกก็ยังดำเนินไปตามปกติ ที่มีการเลือกตั้งซ่อมอยู่ก็ กระทำในนาม”คณะก้าวหน้า”มิใช่”พรรคก้าวไกล”

ขณะเดียวกัน ก็พยายามนำเสนอรูปการณ์นำเสนอ”ว่าที่”ผู้สมัครของพรรคก้าวไกลอย่างเป็นทางการให้อยู่ในรูปแบบและกระบวนการที่แน่นอนชัดเจน

ไม่ว่าจะเป็นที่ภูเก็ต ตามมาด้วยอุดรธานี เชียงใหม่

 

หากติดตามการเคลื่อนไหวผ่านมหกรรมนโยบาย หรือที่เรียกว่า Policy Festival ที่ไบเทค บางนา ในวันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม ก็จะเห็น

การปรากฏตัวของ นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ การปรากฏตัวของ นายเลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล การปรากฏตัวของ นายคณิศร บุริรัง ผ่านรายการสำคัญ”เปิดวิสัยทัศน์ ผู้สมัครนายกอบจ.”

ขณะเดียวกัน แคมเปญหนึ่งซึ่ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเดินทางไปเปิดตัวพร้อมกับ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในวันที่ 11 พฤษภาคม

คือ การเปิดตัว นายชลธี นุ่มหนู ในฐานะ”ว่าที่”ผู้สมัครนายกอบจ.ตราด ณ ห้องประชุมวัดหนองบัว อ.เมือง จ.ตราด เจ้าของฉายา”มือปราบทุเรียนอ่อน”อันโด่งดัง

เท่ากับ”ว่าที่”ผู้สมัครนายกอบจ.มีแล้ว 4 คนจากภูเก็ต อุดรธานี เชียงใหม่ และตราด

 

เด่นชัดว่าการเคลื่อนไหวของนายกอบจ.ในหลายจังหวัดภาคกลางมีผลสะเทือนจากจังหวะก้าวของพรรคก้าวไกล

ที่สำคัญคือ “กระแส”จากการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566

ปฏิบัติการเพื่อมิให้กระบวนการเลือกตั้งเกิดขึ้นพร้อมกันในตอนต้นปี 2568 ก็เพื่อตัดมิให้เกิด”กระแส”และส่งผลสะเทือนในลักษณะอันเป็นการรวมศูนย์ทางการเมือง

ถามว่ากระบวนการเช่นนี้พรรคก้าวไกลรู้หรือไม่และสร้างความหวั่นไหวให้กับพรรคก้าวไกลหรือไม่ เพียงใด