ศิลปะ เพื่อชีวิต จาก กมล กมลตระกูล สู่ สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

ศิลปะ เพื่อชีวิต

จาก กมล กมลตระกูล

สู่ สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนา แต่การปรากฏขึ้นของ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” มีลักษณะร่วมสมัยกับการคืนกลับประเทศของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

และดำเนินไปอย่างเป็นการสวนทิศทางโดยมิได้นัดหมาย

เพียงแต่ทิศทางที่ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ดำเนินอยู่สอดรับกับความรับรู้ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ในห้วงอยู่อิทะกะ

ที่มาพร้อมกับบรรยากาศต่อต้าน “สงคราม” คือความคิด “ซ้าย”

ไม่ว่าจะเรียกว่า “สังคมนิยม” ไม่ว่าจะเรียกว่า “คอมมิวนิสต์” ไม่ว่าจะเรียกว่า “ซ้าย” ไม่ว่าจะเรียกว่า “ซ้ายเก่า”

แต่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ไม่ต่างไปจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

นั่นก็คือ สมาทานความคิด “ซ้าย” เข้าไปในระดับแน่นอนหนึ่ง ประกอบกับในระยะกาลเดียวกันนั้น ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ได้รับเชิญไปเป็นผู้บรรยายพิเศษอยู่ใน มหาวิทยาลัยแห่งสหรัฐอเมริกา

และเมื่อในประเทศเกิดรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2514 ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็มีบทบาทในการ “ต้าน” รัฐประหาร

มุมมองต่อท่าทีของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากในประเทศก็แปลกแปร่ง

แปลกแปร่งเพราะ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็เป็นศิษย์คนหนึ่งของ ดร.ปรีดี พนมยงค์

นี่ย่อมเป็นบรรยากาศ นี่ย่อมเป็นเนื้อดินหนึ่งที่เมล็ดพืชได้หว่านลง

นี่ย่อมเป็นการเคลื่อนไหวในพรมแดนแห่งวัฒนธรรมอันเป็นบทบาทสำคัญที่ “กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต” นำเสนอ โดยเฉพาะเมื่อจัดตั้งสำนักพิมพ์และตีพิมพ์หนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” อันเป็นงานของ จิตร ภูมิศักดิ์

และนี่คือ “แถลงการณ์สำนักพิมพ์” ซึ่งเขียนโดย กมล กมลตระกูล

 

ความจำเป็น ต้องพิมพ์

ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน

เหตุผลที่เราคัดเลือก “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” มาตีพิมพ์ทั้งๆ ที่เราไม่เห็นด้วยกับทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้

ประการแรก เราเห็นว่าตลาดหนังสือเมืองไทยกำลังขาดแคลนหนังสือเชิงวิพากษ์วิจารณ์ชนิดจริงจัง ซึ่งเป็นหนังสือที่จำเป็นมากสำหรับประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศเรา

เท่าที่มีอยู่ก็มักจะเป็นความเห็นมากกว่าบทวิจารณ์ และมักพูดกันอย่างผิวเผินโดยใช้ตัวเอง สามัญสำนึกหรือความอคติ ไม่มีหลักการอย่างใดยึดทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ตลาดหนังสือบ้านเรายังเต็มไปด้วยหนังสือโป๊มั่วกาม หนังสือบู๊ล้างผลาญฆ่าล้างโคตร หนังสือนวนิยายเพ้อๆ ฝันๆ ประเภทลูกสะใภ้กับแม่ผัว ม.ร.ว.กับสาวบ้านนอก

อะไรทำนองนี้

หนังสือวิชาการที่มีอยู่ก็ราคาแพงหูฉี่ชนิดจะซื้อกันทีก็ต้องกัดฟันกันแล้วกันฟันกันอีก เพราะหนังสือวิชาการนี้มีห้างใหญ่ผูกขาดกันผลิตอยู่เพียง 2-3 แห่งเท่านั้นเลยฉวยโอกาสสบาย

นักศึกษา นักอ่านที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ก็เลยแย่

 

วิพากษ์ ศิลปะร่วมสมัย

วรรณกรรม ปัจจุบัน

ประการที่สอง นิสิตนักศึกษาทางด้านศิลปวรรณคดีรวมทั้งผู้เรียนด้านศิลปะทุกสาขาไม่มีหนังสือคู่มืออ่านเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์งานศิลปะของเขา

งานที่ผลิตออกมาไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหรืองานศิลป์ล้วนแต่ไม่มีเป้าหมายทั้งสิ้น

ส่วนใหญ่มุ่งรับใช้สนองตอบอารมณ์ส่วนตัว

เช่น บทกวีก็เป็นบทตัดพ้อต่อว่าผิดหวังอกหักอะไรทำนองนี้ เรื่องสั้นก็เป็นเรื่องชีวิตรักของนักศึกษาชาย-หญิงจบลงด้วยความผิดหวัง การแยกทางหรือความตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

อาจารย์ที่สอนในคณะก็สอนกันอย่างไม่มีเป้าหมาย สักแต่ว่าลอกตำราฝรั่งมาสอนคำต่อคำ ไม่ได้ประยุกต์ให้เข้ากับสภาพบ้านเรา เน้นกันแต่วรรณคดีฝรั่งโบราณ และเน้นกันที่รูปแบบ (Form) มากกว่าเนื้อหา (Content) ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันถึงเนื้อหาหรือแนวคิดกันอย่างจริงจัง

เช่น ถ้าเรียนเรื่องของเชกสเปียร์ก็เรียนแต่ว่าประโยคไหน คำพูดไหนในเรื่องอะไรไพเราะ มิได้เรียนว่าเชกสเปียร์คิดอะไรอย่างไร เป็นต้น

นับว่าเป็นความล้าหลังอย่างยิ่งของการสอนศิลปวรรณคดีในบ้านเรา

ส่วนผู้ที่เรียนด้านศิลปะส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตกันอย่างเหลวไหล ดูดกัญชา กินเหล้า นั่งมองท้องฟ้าไปวันๆ นั่งหลงตัวเองทำราวกับว่าตัวเองได้บรรลุโสดาบันแล้ว เที่ยวดูถูกประณามด่าว่าคนที่ไม่เข้าใจงานของตัวว่าโง่เง่าเต่าตุ่น

โดยแท้ที่จริงแล้ว ตนเองไม่สามารถสร้างงานที่มีคุณค่าสะท้อนถ่ายความดีงามหรือเลวร้ายของชีวิตให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกมีอารมณ์ร่วมรับได้

เราเชื่อว่างานศิลป์ต้องซื่อสัตย์ต่อสภาพความเป็นจริงแห่งชีวิตของมวลชนผู้ทนทุกข์ทรมานในสังคมอยุติธรรม

ต้องเปิดโปงความเลวร้ายของชีวิตและโลกและสะท้อนถ่ายออกมาอย่างซื่อสัตย์

 

ต่อสู้ ความเลวทราม

สร้างสรรค์ ชีวิตใหม่

ประการที่สาม ในสภาพสังคมปัจจุบันนี้การสื่อสารมวลชนขยายตัวอย่างกว้างขวาง

มองไปทางไหนพบแต่ภาพยนตร์เลวๆ หลอกลวง มอมเมา หากินกับประชาชน เพลงหยาบๆ คายๆ บทความสะตึๆ นวนิยาย เรื่องสั้นเหลวๆ ไหลๆ บทกวีเพ้อๆ ฝันๆ

บางทีผู้อ่านวัยเยาว์หรือผู้ที่ยังไม่มีโลกทรรศน์กว้างขวางต้องตกเป็นเหยื่อการลวงล่อ มอมเมาของสิ่งเหล่านี้

“ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” จะช่วยให้ผู้อ่านมีโลกทรรศน์ (World view) หรือหลักในการมองดูโลกที่ถูกต้อง จะเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินงานทุกชนิดว่างานนั้นดีหรือเลว

ที่ดีเลวนั้นดีเลวอย่างไร

งานที่ไม่มีจุดมุ่งเพื่อรับใช้ประชาชนในการต่อสู้กับความเลวทรามของชีวิตและสร้างสรรค์ชีวิตใหม่อันดีงามกว่า สดใสกว่าขึ้นแทนที่

 

ตีพิมพ์ โดยพลการ

ค้นพบ ณ ธรรมศาสตร์

จากเหตุผลเหล่านี้เราจึงตีพิมพ์ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ขึ้นมา

การตีพิมพ์ครั้งนี้ได้ตีพิมพ์ขึ้นโดยพลการ ทั้งนี้ เพราะเราอ่านพบหนังสือเล่มนี้ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เทวเวศม์ เมื่อ พ.ศ.2500

เวลา 15 ปีนั้นนานเกินกว่าที่เราจะตามหาผู้เขียนหรือเจ้าของลิขสิทธิ์นี้ได้

ประกอบกับจุดมุ่งหลักของสำนักพิมพ์นี้มิได้อยู่ที่การมุ่งค้ากำไรหากแต่ว่าเพื่อผลิตงานที่มีคุณค่าสาระต่อชีวิตสู่ตลาดหนังสือ เมื่อเรามั่นในความคิดนี้เราจึงเห็นว่าไม่เป็นการเสียมารยาทจนเกินไปนักที่เรากระทำเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม เราขอกราบเรียนขออภัยต่อผู้เขียนและเจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย เรายินดีจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้บ้างเท่าที่กำลังความสามารถอันน้อยนิดของเราจะให้ได้

ถ้าหากต้องการก็ขอได้โปรดติดต่อเรามา

 

เส้นทาง ที่สวนกัน

กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ความน่าสนใจอยู่ที่เมื่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ เข้าประจำทำงาน ณ หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ก็อยู่ในห้วงเวลาที่สมาชิกบางคนของ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ต้องจร

เนื่องแต่สถานการณ์รัฐประหาร

นั่นก็คือ กมล กมลตระกูล พิรุณ ฉัตรวณิชกุล เดินทางไปต่างประเทศผ่านยุโรป สหราชอาณาจักร ไปยังสหรัฐอเมริกา

ขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เมื่อกลับมาทำงานที่ “สยามรัฐ” รายวัน

เคียงบ่าเคียงไหล่กับ ขรรค์ชัย บุนปาน เหมือนก่อนที่จะเดินทางไปเพื่อประกอบกิจกรรม เมด อิน U.S.A.

ห้วงนี้เองที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก่อการเปลี่ยนแปลงให้กับ “สยามรัฐ”