การเมือง ทะลุ 100 ํF ครม. ‘HEATSTROKE’

หนึ่งในเรื่องร้อนแรง แทรกเข้ามาท่ามกลางอากาศร้อนจัดรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่หลายตำแหน่ง

รอบนี้ทำเอาขุนพลเพื่อไทยหลายคนเสียใจ น้อยใจ แต่ก็มีนักการเมืองหน้าใหม่ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีครั้งแรก

เดิมทีเป็นที่รู้กันว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นที่ดี อยากกระชับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ แทนการตั้ง ครม.ชุดแรกที่ยังให้น้ำหนักการตอบแทน “การลงทุนลงแรง” ในศึกเลือกตั้งอยู่

ดูจากคำสัมภาษณ์ของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบารมีพรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน ที่พูดตรงกันเรื่องการปรับ ครม.เพื่อแก้ปัญหาผิดฝาผิดตัว และต้องเร่งดำเนินการนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน

แม้จะรู้กันว่านายทักษิณมีอิทธิพลทางความคิดระดับสูงต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อไทย แต่กระนั้น นายเศรษฐาก็ยังเป็นคนที่ตระกูลชินวัตรเลือกให้มาทำหน้าที่เรือธงประเทศ อำนาจริเริ่มปรับ ครม.จึงอยู่ที่ตัวนายเศรษฐาระดับสูงในช่วงแรก

แต่เมื่อมีรายชื่อหลุดออกมา ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยน การปรับ ครม.ครั้งนี้ไม่ได้ราบรื่นแบบที่นายเศรษฐาตั้งใจ “การเมือง” แห่งความเป็นจริง เริ่มทำงาน

เกิดบรรยากาศชุลมุนตั้ง ครม.ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ข่าวการพบปะ นัดพบ พูดคุย เจรจาต่อรองเกิดขึ้นต่อเนื่อง โผรัฐมนตรีพลิกแล้วพลิกอีก แต่สุดท้ายรายชื่อ ครม.ที่ออกมาก็ตรงกับที่สื่อสายการเมืองนำเสนอ แทบไม่ผิดไปจากที่คาดการณ์

ตัวนายกรัฐมนตรีเองจากเดิมที่นั่งควบ “รมว.คลัง” ต่อมาถูกวิจารณ์ว่าควรตั้งคนที่มาทำงานอย่างเต็มเวลาดีกว่า เพราะนายเศรษฐาต้องเดินทางบ่อย รอบนี้ก็ถึงคราวส่งต่อให้นายพิชัย ชุณหวชิร พ่วงด้วยเก้าอี้รองนายกฯ อีกตำแหน่ง เพื่อมาเดินหน้าผลักดันโครงการแจกเงินดิจิทัล การสละเก้าอี้นี้ทิ้งจึงถือเป็นความจำเป็นอันเลี่ยงมิได้ของนายเศรษฐา

แต่ที่น่าสนใจคือการปรับลดเก้าอี้ของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร จากรองนายกรัฐมนตรีควบ รมว.ต่างประเทศ ให้เหลือ รมว.ต่างประเทศเก้าอี้เดียว นั่นนำมาซึ่งอาการไม่พอใจอย่างรุนแรงของนายปานปรีย์ ถึงขนาดร่อน จ.ม.ถึงสื่อมวลชน ขอลาออก เพราะรู้สึกถูกลดทอนศักดิ์ศรี ทั้งที่ตัวเองก็มีผลงานดี และไม่ได้ทำอะไรผิด

ทำให้วันต่อมานายเศรษฐาต้องรีบกล่าวขอโทษ เพราะความสนิทสนมกันมานาน ซึ่งก็ยิ่งทำให้คนสงสัยว่าคนที่ริบเก้าอี้ปานปรีย์อาจไม่ใช่นายเศรษฐา

การลาออกของนายปานปรีย์ ไม่กี่ชั่วโมงหลังโปรดเกล้าฯ ครม. นอกจากทำให้ภาพลักษณ์ ครม.ชุดใหม่เริ่มต้นด้วยติดลบ

ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนดังอย่างหนุ่มเมืองจันท์ กระทั่งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ยังชี้ให้เห็นตรงกันว่านายปานปรีย์เป็นคนที่มีภาพลักษณ์และผลงานดีระดับต้นๆ ของ ครม.เศรษฐา แต่เหตุผลที่ถูก “ริบ” เก้าอี้รองนายกฯ จนต้องไขก๊อก ยังไม่กระจ่างชัดเจน

 

ต่อเนื่องด้วยการเขี่ย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พ้นเก้าอี้ รมว.สาธารณสุข แม้เจ้าตัวจะรู้ล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็อดน้อยใจไม่ได้ เห็นได้จากกลอนของเพจเอฟซีหมอชลน่านที่มีแอดมินเป็นคนใกล้ตัว ถึงกล่าวร่ายเป็นบทกลอนตัดพ้อ เคยต้องพลีชีพโดดเดี่ยวถูกประณามอยู่คนเดียววันข้ามขั้วตระบัดสัตย์

อาการคล้ายๆ กันยังเกิดขึ้นกับ “เจ๊แจ๋น” พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ถูกยึดเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ คืน โดยนายเศรษฐาต้องการนำเก้าอี้นี้ไปให้นักการเมืองรุ่นใหม่ในพรรคเพื่อไทย เข้ามาทำงานเชิงรุก

ในวันถัดมา “เจ๊แจ๋น” ยังถูกริบอำนาจในพรรคเพื่อไทย หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งคณะดำเนินงานของพรรคดูแลการทำงานสมาชิกสภา กทม. โดยมี น.ส.แพทองธารเป็นประธานเอง

ว่ากันว่าเป็นการปิดจ๊อบ ยึดอำนาจจาก “มาดามนครบาล” เสร็จสรรพ

 

ในสายเพื่อไทยอีสานก็เกิดปัญหาไม่น้อย ไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พ้นจาก รมช.เกษตรฯ กลับไปทำงานสภา หลังจากที่ผ่านมา มีปัญหาระหองระแหงกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการ โควต้าพลังประชารัฐมาตลอด

รอบนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งถือเป็นกระทรวงเกรดเอ งบประมาณเยอะ เกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก ตกเป็นของรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐพรรคเดียว

แต่ก็รู้กันว่า โดยเนื้อแท้แล้ว ร.อ.ธรรมนัส ในห้วงเวลานี้ แทบจะไม่ต่างจากขุนพลพรรคเพื่อไทย สนิทแนบชิด “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ยิ่งกว่า ส.ส.เพื่อไทยเสียอีก การดันตั้งรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ โควต้าพลังประชารัฐ ก็เป็นการผลักดันของ ร.อ.ธรรมนัส

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเพื่อไทย พรรคหลักรัฐบาล จึงยอมถอยจากกระทรวงเกษตรฯ

 

ส่วนการสลับกระทรวง เอา “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” ไปนั่ง รมว.วัฒนธรรม ย้าย “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” มานั่ง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ก็เป็นความจำเป็นเชิงโครงสร้าง

ในภาพรวม เพื่อไทยเห็นศักยภาพของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จากช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ที่จะเอามาผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาล

แม้สุดาวรรณอาจจะยังมีผลงานไม่เข้าตา แต่ก็ไม่สามารถปลดพ้น ครม.ได้ เพราะฐานเสียงที่ จ.นครราชสีมาของตระกูล “หวังศุภกิจโกศล” มี ส.ส.ในมือเยอะ ต้องประคองดูแลไว้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงไปลงที่เก้าอี้ รมว.วัฒนธรรม

แต่คำถามว่า “เสริมศักดิ์” มีความสำคัญเพียงใด และมีความสามารถมากพอจะนำกระทรวงการท่องเที่ยวฯ สร้างรายได้ให้ประเทศได้หรือ คำตอบคือต้องไม่ดูแค่ตัว “เสริมศักดิ์”

นอกจากเสริมศักดิ์จะเป็นคนสนิทตระกูลชินวัตร ยังมีลูกคือ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ที่ถูกยุบและถูกตัดสิทธิการเมือง 10 ปี ช่วยงานอยู่ด้วย

 

ขณะที่ขุนพลสำคัญ เคียงกายตระกูลชินวัตรยาวนาน อย่างสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน ก็คว้า “ชิ้นปลามัน” ในการปรับ ครม.

สุริยะ นั่งรองนายกฯ ควบ รวม.คมนาคม ขณะสมศักดิ์ เปลี่ยนเป็น “หมอสมศักดิ์” คุมสาธารณสุข

เช่นเดียวกับ เกรียง กัลป์ตินันท์ ที่แม้มีข่าวจะถูกริบคืนเก้าอี้ แต่ก็ยังเหนียวแน่นด้วยความเป็นบ้านใหญ่อุบลฯ แถมได้รับการการันตีจากรัฐมนตรีว่าการจากพรรคร่วมรัฐบาลว่าทำงานด้วยกันได้ดี จึงได้ครองเก้าอี้ต่อ

แต่ที่เซอร์ไพรส์และถือว่าประสบความสำเร็จ “หนังเหนียว” ที่สุดในการปรับ ครม.ครั้งนี้ต้องยกให้ “สุทิน คลังแสง” ที่ใช้กลเกมกลาโหม ควักท่าไม้ตาย แผนเปลี่ยนแปลงในกระทรวงกลาโหม เดินหน้าปักหมุดยุทธศาสตร์ “สกัดรัฐประหาร” ทำเอาชื่อนายสุทินยังไม่หลุดจากบัญชีรัฐมนตรีใน ครม.ใหม่นายเศรษฐา

ขนาดว่านายเศรษฐา “ตั้งท่า” จะนั่งรัฐมนตรีเองมาตั้งนาน มีภาพความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำเหล่าทัพมากๆ ยังริบเก้าอี้จากนายสุทินไม่ได้ (ในตอนนี้)

แน่นอน ถ้านายสุทินเล่นเกมนี้ จากนี้ไปก็เป็นงานหนัก ถ้าจะรักษาเก้าอี้ไว้ได้ก็ต้องมีผลงานรูปธรรม จะลดอำนาจต่อรองทางการเมืองเหล่าทัพอย่างไร

ล่าสุดเจอ ผบ.ทร.จัดหนัก ทวงสัญญาเรือดำน้ำอีกแล้ว การรักษาเก้าอี้สนามไชย 1 ไว้จึงไม่ง่าย

 

จะเห็นได้ว่าการปรับ ครม.เศรษฐาครั้งนี้ที่แรกๆ ดูเหมือนจะปรับเพื่อการทำงาน ไม่ร้อนแรง แต่สุดท้ายก็ร้อนจนถ้าเทียบเป็นแดด ก็คงทำให้คนตากแดดป่วยเป็น “ฮีตสโตรก” ได้ ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า

1. “ทักษิณ” ยังกุมอำนาจนำทางความคิดในพรรคเพื่อไทยแบบเบ็ดเสร็จ แน่นอนว่ามีการให้อำนาจตัดสินใจอิสระกับนายเศรษฐาอยู่ แต่เรื่องสำคัญๆ ก็ยังต้องผ่านการอนุมัติจาก “บ้านจันทร์ส่องหล้า”

2. นายเศรษฐายังสามารถติดดาบให้ตัวเองได้ แต่ก็เสียรังวัดเล็กน้อย จากกรณีของนายปานปรีย์ที่โต้กลับรุนแรงระดับ 10 ริกเตอร์

3.ก่อให้เกิดความไม่พอใจและแรงต้านขึ้นของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในพรรคเพื่อไทยที่ผิดหวัง ซึ่งจะนำมาสู่การไม่สนับสนุนการดำเนินนโยบายบางอย่าง จากนี้ไปต้องจับตา

4. แม้อยากปรับ ครม.เพื่อการทำงานที่ดีขึ้น แต่รายชื่อสุดท้ายที่ออกมา ต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้เร็วๆ นี้

ถือเป็นบททดสอบสำคัญของนายเศรษฐา กับการทำงานใน ครม.ใหม่ ภายใต้เป้าหมายหลักของเพื่อไทยที่ต้องการกอบกู้เศรษฐกิจ ฟื้นคืนความเชื่อมั่นที่หดหายไป สะสมไว้สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่ในวันเดียวกับที่ปรับ ครม. ก็ปรากฏข่าวร้าย การส่งออกสินค้าของไทยในไตรมาสแรกต่ำที่สุดในภูมิภาค

การเมืองก็ร้อน เศรษฐกิจก็ร้อน สังคมก็ร้อน การต่างประเทศก็ร้อน อากาศก็ร้อน

บริหารจัดการไม่ดี หลบความร้อนทะลุ 40 องศาเซลเซียส หรือกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ไม่ดี ระวังคณะรัฐมนตรีจะเป็น “ฮีตสโตรก” เอาง่ายๆ!