ศึกฮามาส ลาม อิหร่าน ถล่ม อิสราเอล โลกระทึก ‘สงครามใหญ่’?

(Photo by MENAHEM KAHANA / AFP)

สงกรานต์ในไทยสาดน้ำกันสนุกสนาน แต่ที่ตะวันออกกลาง การศึกที่เริ่มต้นจากการบุกกวาดล้างฮามาส กองกำลังติดอาวุธนิยมอิหร่านในฉนวนกาซาของกองทัพอิสราเอล กลับต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ด้วยการที่อิหร่านเปิดฉากถล่มอิสราเอลจากระยะไกลด้วยอาวุธนานาชนิด ตั้งแต่ขีปนาวุธ เรื่อยไปจนถึงจรวดและโดรน มากกว่า 300 ครั้ง

พลิกโฉมหน้าของการสู้รบจากสงครามตัวแทน กลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างรัฐต่อรัฐไปโดยปริยาย สุ่มเสี่ยงต่อการขยายตัวกลายเป็นสงครามเปิดขนาดใหญ่ขึ้นในภูมิภาคให้โลกได้ลุ้นระทึกกันอยู่ในเวลานี้

รอเพียงการโต้กลับชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟันจากอิสราเอลต่อเป้าหมายในอิหร่านอีกเพียงครั้งเดียว ศึกเต็มรูปแบบระหว่าง 2 มหาอำนาจทางทหารในภูมิภาคตะวันออกกลางก็จะเปิดฉากขึ้นทันที

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความซับซ้อนของสภาวการณ์ในภูมิภาค คำถามที่บรรดาผู้ที่เป้าสังเกตการณ์สถานการณ์อยู่ในเวลานี้ถามตัวเอง จึงไม่เป็นเพียงแค่ว่า อิสราเอลจะโจมตีอิหร่านเพื่อตอบโต้กลับหรือไม่เท่านั้น

แต่ยังต้องถามว่าเป็นการตอบโต้กลับด้วยวิธีไหน อย่างไร และต่อเป้าหมายในที่ใดอีกด้วย

น่าสนใจที่ว่า ในบรรดาอาวุธสารพัดที่อิหร่านระดมซัลโวใส่อิสราเอลนั้น 99 เปอร์เซ็นต์ถูกสกัดไว้ได้ก่อนที่จะถึงเป้าหมาย

ในขณะที่ส่วนที่เหลือที่บรรลุสู่เป้าหมาย อย่างเช่นที่ฐานทัพอากาศ เนวาทิมทางตอนใต้ของอิสราเอล ก็สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย มีผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียว คือเด็กหญิงชาวเบดูอินวัย 7 ขวบ ซึ่งเสียชีวิตลงหลังได้รับบาดเจ็บจากการถูกเศษชิ้นส่วนของอาคารที่ได้รับความเสียหายร่วงลงมาทับเท่านั้น

ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ส่งผลให้สหรัฐอเมริกา สามารถแสดงท่าทีชัดเจนเรียกร้องให้อิสราเอลระงับการโต้กลับ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามกลายเป็นสงครามระหว่างรัฐในภูมิภาค

ซึ่งจะส่งผลเท่ากับเป็นการลากสหรัฐอเมริกาเข้ามาพัวพันในตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น และลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

แต่สำหรับอิสราเอล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น การโจมตีครั้งนี้ ไม่เพียงทำลายการ “ป้องปราม” ที่อิสราเอลเพียรพยายามสร้างขึ้นไว้อย่างต่อเนื่องเท่านั้น

ยังเป็นการโจมตีต่อเป้าหมายในอิสราเอลโดยตรง ซึ่งเท่ากับเป็นการบีบให้จำเป็นต้องตอบโต้กลับคืนอีกด้วย

ปัญหาสำหรับอิสราเอลในเวลานี้ จึงไม่ใช่ว่าจะตอบโต้หรือไม่ แต่เป็นการใคร่ครวญว่า จะตอบโต้เมื่อใด และตอบโต้อย่างไร ต่อเป้าหมายเช่นไร จึงจะไม่ก่อผลกระทบต่อพันธมิตรทั้งที่เป็นชาติอาหรับและชาติตะวันตกซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันตนเองตลอดมา

พูดง่ายๆ ก็คือ แนวความคิดที่ว่า ใครหรือชาติใดชาติหนึ่งสามารถโจมตีต่ออิสราเอลโดยตรงได้ โดยที่ไม่ถูกตอบโต้กลับเพื่อลงโทษ เป็นแนวคิดที่ยอมรับไม่ได้สำหรับอิสราเอล

 

ตลอดระยะเวลา 6 เดือนของการทำศึก “กวาดล้าง” ฮามาสในฉนวนกาซา กองทัพอิสราเอลโจมตีตอบโต้กับทุกการโจมตีที่มีต่ออิสราเอล

วิธีการก็คือ ถูกโจมตีจากที่ใดก็ตอบโต้กลับไปยังแหล่งที่มาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน หรือกองกำลังติดอาวุธชีอะห์ในซีเรีย หรือไม่ก็เป็นการโจมตีต่อผู้บัญชาการระดับสูงของกองกำลังที่เป็นที่มาของการโจมตีเหล่านั้น

เหมือนเช่นที่ตัดสินใจโจมตีต่อสถานกงสุลอิหร่านในดามัสกัส ซีเรีย อันเป็นที่มาของการถล่มจากอิหร่านในครั้งนี้

ในกรณีที่เป็นการตอบโต้อิหร่านครั้งนี้ เป้าหมายของอิสราเอลอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนไป เป้าหมายที่เป็นไปได้และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในเวลานี้ มีตั้งแต่โรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม เพื่อพัฒนาความเข้มข้นจนถึงระดับใช้เป็นอาวุธได้ และที่ตั้งทางนิวเคลียร์อื่นๆ ของอิหร่าน, ฐานทัพของกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (ไออาร์จีซี)

หรืออาจเป็นแหล่งผลิตโดรนและขีปนาวุธในอิหร่าน เป็นต้น

 

ข้อเท็จจริงอีกประการที่อิสราเอลจำเป็นต้องคำนึงถึง ก็คือ อิสราเอลไม่สามารถป้องกันตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยปราศจากความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ

เช่นเดียวกัน การโจมตีต่ออิหร่าน ก็ไม่สามารถเปล่งประสิทธิภาพได้เต็มที่ หากปราศจากการสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ

ความสำเร็จในการป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธ จรวด และโดรน สารพัดรุ่น สารพัดชนิดได้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์นั้น ไม่ใช่ผลงานของอิสราเอลเพียงลำพัง

ขีปนาวุธและโดรนจำนวนหนึ่งถูกกองกำลังที่ประจำอยู่ในภูมิภาคของสหรัฐอเมริกา, อังกฤษและฝรั่งเศส สอยร่วงก่อนที่จะลุถึงอิสราเอล

ในขณะที่จอร์แดนก็ให้ความช่วยเหลือด้วยการระดมยิงอาวุธของอิหร่านที่ผ่านเข้ามาในน่านฟ้าของตน

รัฐอาหรับอีกจำนวนหนึ่งก็มีส่วนช่วยเหลือไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ระบบป้องกันตนเองของอิสราเอลจึงสามารถจัดการส่วนที่หลงเหลือได้จนเกือบหมดสิ้น ด้วยระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศหลายชั้น ที่พัฒนาขึ้นภายใต้ความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ระบบ “แอร์โรว์ มิสไซลส์” ที่สกัดกั้นขีปนาวุธขณะอยู่ในห้วงอวกาศ

หรือระบบเดวิดส์ สลิง และแพตทริออต ที่จัดการกับขีปนาวุธอีกส่วนขณะตกกลับลงสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อลงสู้เป้าหมาย

และระบบไอรอน โดม ที่ออกแบบไว้เพื่อจัดการกับจรวด กระสุนปืนใหญ่ และโดรนต่างๆ

 

ในกรณีที่อิสราเอลโจมตีอิหร่าน อิสราเอลจำเป็นต้องอาศัยเครื่องบินสำหรับการเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ ในการปฏิบัติการควบคู่กับโดรน ขีปนาวุธและเรือดำน้ำ นอกจากนั้น ปฏิบัติการทางอากาศใดๆ ของอิสราเอล ก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยค้นหาและกู้ชีพของฝ่ายอเมริกันในกรณีที่เครื่องบินรบถูกยิงตก เป็นต้น

คำถามสำคัญสำหรับทางการอิสราเอลในเวลานี้จึงเป็นว่า อิสราเอลจะโจมตีตอบโต้อิหร่านอย่างไร ขนาดไหน ถึงจะไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก ร้าวฉานกับพันธมิตร หรือจะเกิดขึ้นก็ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด นี่คือแรงกดดันมหาศาลที่รัฐบาล เบนจามิน เนทันยาฮู ได้รับอยู่ในเวลานี้

ในเวลาเดียวกัน การแสดงออกของโลกภายนอกต่ออิหร่านก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจของอิสราเอล ให้ตอบโต้แบบจำกัดและมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น

การพยายามขยายการแซงก์ชั่นต่ออิหร่านของสหภาพยุโรปก็ดี การเรียกประชุมกลุ่มจี 7 เพื่อถกมาตรการตอบโต้อิหร่าน เรื่อยไปจนถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่กำลังพิจารณากรณีนี้อยู่ก็ดี

ล้วนเป็นความพยายามเพื่อยับยั้งไม่ให้สงครามใหญ่ในตะวันออกกลางเกิดขึ้นในยามนี้ทั้งสิ้น