คนรวยก็ได้ประโยชน์ จากประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ดี Paradox of Redistribution

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อหลายปีก่อนผมมีโอกาสสนทนากับมหาเศรษฐีท่านหนึ่ง ซึ่งมีความปรารถนาเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

เขามีความสงสัยเรื่องสำคัญ ว่าทำไมผมถึงผลักดัน “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” มากกว่า การเน้นจัดสวัสดิการมุ่งไปที่คนจนแบบที่คนส่วนใหญ่ทำความเข้าใจ

การจัดสวัสดิการให้ชนชั้นกลางระดับบน หรือแม้กระทั่งคนรวยมากๆ มีความจำเป็นอะไร

สู้เอางบประมาณตรงนั้นไปเน้นให้คนจนอย่างเดียวดีกว่า

“อาจารย์ช่วยอธิบายว่า คนรวยอย่างผมทำไมต้องได้รับสวัสดิการด้วย มันไม่ได้ทำให้ผมมีชีวิตที่ดีขึ้นแย่ลงต่างไป”

คำอธิบายนี้เป็นคำถามที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศที่ระบบสวัสดิการแย่อย่างประเทศไทย

แม้แต่ประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ดีอย่างกลุ่มประเทศนอร์ดิกก็มีคำถามในลักษณะนี้เช่นกัน

Korpi และ Palme ได้ตีพิมพ์บทความ Paradox of Redistribution ในลักษณะที่ว่าแม้แต่ในประเทศรัฐสวัสดิการ “คนรวย” เองซึ่งรู้สึกว่าตัวเองเสียภาษีในอัตราที่สูง แต่เอาเข้าจริงแล้วแทบไม่ได้ใช้สวัสดิการจากรัฐเลย ซึ่งในระยะยาวความสัมพันธ์แบบนี้คงไม่ดีแน่ๆ ทั้งในแง่ความเป็นหนึ่งเดียวกันในสังคมย่อมเกิดความคิดแตกแยกทางชนชั้น

เช่นเดียวกันกับในระยะยาวเมื่อระบบการเมืองผันแปร แรงสนับสนุนรัฐสวัสดิการก็อาจแกว่งไปแกว่งมาและถูกยกเลิกได้ หากการอธิบายความย้อนแย้งจุดนี้ไม่สามารถตอบได้

 

จะว่าไปแล้วการกล่าวว่าคนรวยไม่ได้ประโยชน์จาก “สวัสดิการ” ก็เป็นการกล่าวตามความหมายที่แคบไป

เพราะตามจริงแล้ว การที่มีสวัสดิการที่ดีก็ล้วนทำให้ทุกคนในสังคมได้ประโยชน์ในแง่มุมที่ต่างกัน

กล่าวคือ ถ้าคนในสังคมมีการศึกษาที่สูง มีทักษะการทำงานที่หลากหลายเหมาะสม ผู้ประกอบการเองก็ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้

การมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีราคาถูก คนเข้าถึงได้ก็จะลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ลดการใช้รถยนต์ มลภาวะต่างๆ ก็จะน้อยลง อากาศก็จะสะอาดขึ้น คนรวย คนจนก็ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้

เมื่อเงินเลี้ยงดูเด็กเหมาะสม ค่าจ้างเพียงพอ ปัญหาครอบครัวและปัญหาอาชญากรรมก็ลดลง

ที่จริงแล้วคนรวยเองก็ล้วนได้ประโยชน์จากระบบสวัสดิการที่ดีด้วยเช่นเดียวกันแม้จะไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากสวัสดิการ

แต่พวกเขาได้ประโยชน์ ซึ่งในบางมิติพวกเขาอาจจะได้ประโยชน์มากกว่าคนจน หรือคนส่วนใหญ่ด้วย

แต่ถึงตรงนี้ ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าแล้วทำไม “คนรวย” ถึงต้องได้สวัสดิการ

ผมสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้

 

เงื่อนไขแรกคือเงื่อนไขการจัดการ หากเราวางระบบสวัสดิการพื้นฐานเป็นแบบขั้นบันได หรือแบบพุ่งเป้าเพื่อควานหากลุ่มคนที่จนที่สุด ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยี ฐานข้อมูล เกณฑ์กติกา หรือการนำคนลงไปสัมภาษณ์ สุดท้ายแล้วก็จะมีคนตกหล่นจากเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ดี

ความเสียหายจากคนที่ “จนจริงๆ” แต่ไม่ได้สวัสดิการ รุนแรงกว่า การที่คนรวยได้สวัสดิการ ยังไม่นับค่าเสียหาย ค่าใช้จ่ายของระบบราชการกับการพิสูจน์ความจน

การออกแบบระบบให้ทุกคนได้ประโยชน์โดยไม่ต้องพิสูจน์ นอกจากเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการ ยังทำให้กลุ่มคนที่ต้องการจริงๆ ไม่ตกหล่นด้วย

เงื่อนไขที่สอง หากเราจัดสวัสดิการในลักษณะเน้นไปที่คนจนอย่างเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณภาพสวัสดิการจะแย่ นอกจากงบประมาณจะต่ำแล้ว คุณภาพก็จะมองว่าเป็นสวัสดิการในลักษณะเพียงแค่ “กันตาย” หรือ “ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย” สวัสดิการจะอยู่ในรูปแบบชั่วคราว มากกว่าถาวร

ดังนั้น ในหลายประเทศจึงมุ่งเน้นพัฒนาระบบสวัสดิการที่ “คนใช้ได้ทุกชนชั้น”

นอกจากสิทธิ์ที่ทุกคนสามารถใช้ได้แล้ว ยังอยู่ในคุณภาพที่เหมาะสมกับทุกกลุ่ม

ดังที่เรามักจะเห็นข่าวนักฟุตบอลเงินเดือนสูงก็ยังใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในต่างประเทศ หรือลูกประธานบริษัท กับลูกพนักงานรักษาความปลอดภัยก็ยังเรียนในโรงเรียนเดียวกัน

ลักษณะเช่นนี้แม้สังคมเกิดปัญหาความขัดแย้ง ก็จะไม่เกิดกลไกการสร้างแพะรับบาปทางศีลธรรมว่าใครเป็นตัวปัญหาในระบบสวัสดิการ

เพราะทุกคนล้วนใช้ระบบสวัสดิการเดียวกัน ถูกหล่อหลอมวิถีชีวิต และคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน

 

แต่เหนืออื่นใดสิ่งที่ผมตอบมิตรสหายมหาเศรษฐีท่านนั้น ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาจะได้จากระบบสวัสดิการ ซึ่งคำอธิบายที่แสนจะเรียบง่ายและเขาเองก็ดูจะเข้าใจต่อคำอธิบายนี้

“เงินหมื่นล้านที่คุณมี ซื้อได้หลายอย่าง ซื้อโรงเรียนที่ดีได้ ซื้อโรงพยาบาล ซื้อหมู่บ้านได้”

แต่มันไม่สามารถซื้อกำแพงบ้านที่เตี้ยลงได้ ไม่สามารถซื้อสังคมที่ปลอดภัย สังคมที่คุณจะไม่กลัวความจนจะปีนข้ามกำแพงมา เงินกี่แสนล้านก็ซื้อไม่ได้

แต่รัฐสวัสดิการทำได้ ทำให้ลูกของคุณปลอดภัยจากความกลัวของความขัดแย้งทางชนชั้น ความกลัวต่อความยากจนได้