แนวคิดส่งเสริมพรรคการเมืองไทย เปลี่ยนเป็น “ตั้งง่าย อยู่ยาก ยุบง่าย”

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การออกแบบกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พรรคมีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันทางการเมืองที่ต่อเนื่องและส่งผลดีต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิด “ตั้งง่าย อยู่ยาก ยุบยาก”

ตั้งง่าย เพื่อส่งเสริมให้คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตรงกันสามารถรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองโดยไม่ยาก

อยู่ยาก เป็นการบังคับให้เมื่อเป็นพรรคการเมืองแล้ว ต้องดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ เช่น การรับสมัครสมาชิก การมีจำนวนสมาชิกที่พอสมควร และการมีระบบงานทางธุรการและการเงินต่างๆ อย่างเหมาะสม

ยุบยาก มีวัตถุประสงค์เมื่อพรรคการเมืองได้ทำตามกติกาต่างๆ ที่ยากลำบากในระดับหนึ่งแล้ว ไม่สมควรมีเหตุให้ยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นโดยง่าย เพื่อให้พรรคสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นที่รวมของบุคลากรที่มีความสามารถเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเมือง

แต่นับแต่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2560 การยุบพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชนกลับเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2562 การยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 และยังมีความเป็นไปได้ในการยุบพรรคก้าวไกลในเร็วๆ นี้

หรือแนวความคิดการส่งเสริมพรรคการเมืองของไทยกำลังเปลี่ยนเป็น “ตั้งง่าย อยู่ยาก ยุบง่าย” แล้ว

 

ตั้งง่าย?

ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 บุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง 500 คนขึ้นไป สามารถร่วมกันเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง โดยมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และบังคับผู้ร่วมจัดตั้งทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการออกเงินเพื่อเป็นทุนประเดิม ต่ำสุด 1,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท

ในทางคณิตศาสตร์ ต้องมีคนที่ยอมจ่าย 50,000 บาทอย่างน้อย 10 คน และมีอีก 500 คน ที่จ่ายในอัตรา 1,000 บาท จึงจะมีเงินทุนประเดิม 1 ล้านบาทตามเงื่อนไขในกฎหมายได้

การระบุเงื่อนไขดังกล่าว เป็นไปเพื่อมิให้พรรคการเมืองเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงผู้เดียว ไม่เป็นพรรคของตระกูลการเมือง มีสถานะเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ

แต่ในทางปฏิบัติจะเกิดผลตามที่มุ่งหมายหรือไม่ก็คงต้องดูจากพรรคการเมืองที่มีอยู่จริงว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่

จากตัวเลขปัจจุบันตามฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่มีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งประมาณ 80 พรรค

แต่มีพรรคที่เป็นที่รู้จักและมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาไม่เกิน 20 พรรค อาจพอเป็นการพิสูจน์ว่า เงื่อนไขการตั้งพรรคการเมืองในประเทศไทยนั้นไม่ยากจนเกินไปนัก

 

อยู่ยาก?

ภายในหนึ่งปี นับแต่ได้รับจดทะเบียน พรรคการเมืองต้องหาสมาชิกให้ได้เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายในเวลา 4 ปี

ในด้านสาขาของพรรค ก็ต้องให้มีสาขาพรรคในแต่ละภาค อย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา และในแต่ละภาคต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ดังกล่าว ไม่น้อยกว่า 500 คน

ในทุกปีต้องจัดให้มีการจัดประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยมีองค์ประชุมตามที่กำหนดในข้อบังคับพรรค แต่ต้องมีคนมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 250 คน และให้มีการรายงานการดำเนินกิจการของพรรคที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีกติกาต่างๆ ที่เป็นกรอบปฏิบัติทั้งทางธุรการ ทางการเงิน และการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอีกมากมาย หากผิดไปจากนี้ นายทะเบียนสามารถเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้สิ้นสภาพพรรคการเมืองได้

อยู่ยาก นั้นเป็นเรื่องจริง

 

ยุบง่าย?

นอกเหนือจากการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองอันเนื่องมาจากการไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในกฎหมาย “การอยู่ยาก” ได้แล้ว การยุบพรรคการเมืองโดยใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ยังสามารถเกิดขึ้นได้โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้เริ่มต้นในการส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการวินิจฉัยยุบพรรคโดยมีอย่างน้อย 11 กรณี คือ

1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2) กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3) ดำเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน

4) การให้บุคคลที่มิได้เป็นสมาชิก มาควบคุม ครอบงำหรือชี้นำพรรค

5) ชักจูงคนมาเป็นสมาชิกโดยเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สิน

6) มีการตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคนอกราชอาณาจักร

7) รับบริจาคเงินเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำบ่อนทำลายความมั่นคง ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจหรือราชการแผ่นดิน

8) กระทำการ ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการก่อกวน คุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

9) เรียก รับ หรือยอมรับเงิน ทรัพย์สินเพื่อแลกตำแหน่งการเมืองหรือตำแหน่งราชการ

10) รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

11) รับบริจาคเงินจากบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย และยังเพิ่มเหตุปลายเปิดอื่นอีกข้อว่า มีเหตุอันควรยุบพรรคตามที่มีกฎหมายกำหนด

การยุบพรรคไทยรักษาชาติ เป็นไปตามกรณีที่ 2) คือ กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ส่วนการยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นไปตามกรณีที่ 10) ที่ไปกู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยรู้หรือควรรู้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผลจากการยุบพรรคตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังพ่วงการตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลา

โดยกรณีของพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิ 10 ปี และห้ามไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคการการเมืองใหม่เป็นเวลา 10 ปีเช่นกัน

ส่วนกรณีคำร้องยุบพรรคของพรรคก้าวไกลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นข้อกล่าวหาทั้งกรณีที่ 1) กระทำการล้มล้างการปกครอง และ 2) เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ในขณะที่คำร้องยุบพรรคภูมิใจไทย เป็นกรณีการรับเงินบริจาคที่ควรรู้ว่าได้มาโดยแหล่งมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งจนถึงวันนี้ ยังอยู่ในขั้นการไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงยังไม่มีการส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ

ยุบยาก หรือยุบง่ายในวันนี้ จึงดูคล้ายไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติที่เขียนไว้ในกฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองของคุณอยู่ในซีกฝั่งใดทางการเมืองมากกว่าหรือไม่

 

ต้นทุนราคาที่ต้องจ่าย

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค พรรคการเมืองต้องเคลียร์บัญชีหนี้สิน หากมีทรัพย์สินเหลือให้โอนให้องค์กรสาธารณกุศลตามที่ระบุในข้อบังคับพรรค แต่หากไม่มีการระบุก็ให้ตกเป็นของกองทุนพัฒนาพัฒนาพรรคการเมือง

พรรคการเมืองที่ศึกษากฎหมายอย่างรอบคอบ จึงไม่ซื้อตึกที่ทำการพรรค แต่เช่าที่ทำการพรรคแทน ไม่ซื้อทรัพย์สิน แต่เช่าทรัพย์สินต่างๆ และมีการระบุไว้ในข้อบังคับล่วงหน้าถึงองค์กรสาธารณกุศลที่ต้องการบริจาคหลังมีการยุบพรรคอย่างชัดเจน ราคาของทรัพย์สินที่เสียหายจึงน้อยมาก แต่สำหรับการสูญเสียต้นทุนด้านบุคลากรนั้นกลับประเมินค่ามิได้

ยิ่งหากเป็นกรณียุบพรรคเพื่อกำจัดคู่แข่ง พลังของคนรุ่นใหม่ที่เจตนาเข้าไปเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ถูกแช่แข็งจากการตัดสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งจะตลอดไปหรือเพียงแค่สิบปีก็ตาม ล้วนเป็นต้นทุนที่สูญเสียของสังคมการเมืองไทย และยังสร้างความอึดอัดแก่คนรุ่นใหม่ที่มีต่อการออกแบบระบอบการเมืองในปัจจุบัน

วันนี้เขาอาจขาดทุน แต่ระวังวันหน้าเขาจะมาเอาทุนคืนพร้อมดอกเบี้ย