หลุมหลบภัยสาธารณะที่ต่างจังหวัด ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

หลุมหลบภัยสาธารณะที่ต่างจังหวัด

ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา

 

เมื่อสงครามโลกระเบิดขึ้น ทางราชการได้สร้างหลุมหลบภัยสาธารณะให้ประชาชนที่พักอาศัยใกล้เคียงแหล่งยุทธศาสตร์ตามจังหวัดต่างๆ ใช้เป็นที่หลบภัยเอาชีวิตรอดจากการโจมตีทางอากาศจากสัมพันธมิตร

จากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน หากหลุมไม่ถูกทุบทำลายไปด้วยการพัฒนาและความไม่เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์เสียก่อน

จะพบว่า ปัจจุบันเหลือหลุมหลบภัยสาธารณะอยู่บ้างประปรายในหลายจังหวัด

เช่น สมุทรปราการ ระนอง และเพชรบูรณ์ เป็นต้น

หลุมหลบภัยที่พระประแดง เครดิตภาพ : เพจนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง)

หลุมหลบภัย พระประแดง

สําหรับสมุทรปราการอันเป็นพื้นที่ใกล้พระนครซึ่งเป็นแหล่งยุทธศาสตร์นั้น รัฐบาลสร้างหลุมหลบภัยขึ้นที่อำเภอพระประแดง สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างหลุมหลบภัยในช่วงสงครามขึ้น 2 แห่ง แต่ละแห่งสามารถบรรจุคนได้ 60 คน และ 100 คน

แต่ปัจจุบันสภาพหลุมมีความทรุดโทรมและมีน้ำท่วมขัง ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร

ด้วยเหตุที่อำเภอพระประแดง ถือว่าเป็นหนึ่งในอำเภอสำคัญของสมุทรปราการ ในตัวอำเภอหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าตัวตลาดนั้น มีที่หลบภัยอยู่ด้วยกัน 2 แห่ง

แห่งแรก บริเวณที่ทำการเทศบาลเมืองพระประแดง ปัจจุบันไม่เหลือเค้าใดๆ ที่เป็นโครงสร้างให้เห็นแล้ว

และอีกแห่งหนึ่ง ยังมีสภาพตัวอาคารอยู่ ตั้งตรงข้ามที่ว่าการอำเภอพระประแดง ต้นถนนเพชรหึงษ์ ปัจจุบันเรียกว่า ท่ารถบางกอบัว

ลักษณะตัวอาคารหลบภัยมีขนาด กว้าง 17.3 เมตร ลึก 4.60 เมตร มีความสูงภายใน 1.50 เมตร ความหนาของผนัง 0.60 เมตร ห้องด้านในสามารถจุคนได้ประมาณ 60 คน มีช่องระบายอากาศและช่องแสงด้านบน 4 ช่อง

สภาพทางเข้าหลุมหลบภัยพระประแดงในปัจจุบัน เครดิตภาพ : เพจนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง)
แผนผังการสำรวจหลุมหลบภัยพระประแดง เครดิตภาพ : เพจนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง)
แผนผังการสำรวจหลุมหลบภัยพระประแดง เครดิตภาพ : เพจนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง)

ปัจจุบันหลุมหลบภัยนี้มีระดับที่ต่ำกว่าถนนถึง 0.90 เมตร ทำให้ปัจจุบันอาคารดังกล่าวมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ มีน้ำขังตลอดเวลา ด้วยเหตุที่ตัวอาคารจมลงต่ำกว่าระดับถนน และมีต้นไม้ขึ้นปกคลุม ยากแก่การมองเห็น (thaiquote.org)

เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลสร้างหลุมหลบภัยให้ประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ยุทธศาสตร์อันเป็นเป้าหมายในการทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรเพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตของประชาชนได้ทันท่วงที

และในช่วงปลายสงคราม เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีแหล่งยุทธศาสตร์ของไทยและญี่ปุ่นหนักมาก เพื่อตัดการส่งกำลังบำรุง และการต่อต้านการรุกของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถานีรถไฟ สนามบิน หน่วยที่ตั้งทางทหารและโกดังอาวุธ ที่เก็บเสบียงอาหารของญี่ปุ่นที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

แหล่งยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั่วประเทศจึงถูกโจมตีทางอากาศ

สำหรับภาคกลางถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดที่พระนครหลายแห่ง (สถานีรถไฟหัวลำโพง, สถานีรถไฟ และโรงรถจักรบางซื่อ สะพานพระราม 6 สถานีรถไฟ และสนามบินดอนเมือง) กาญจนบุรี (ทางรถไฟสายกาญจนบุรี-พม่า, สะพานแม่น้ำแคว) นครปฐม (สะพานเสาวภา ข้ามแม่น้ำท่าจีน) ที่ราชบุรี (ประตูกั้นน้ำคลองดำเนินสะดวก) สระบุรี (สถานีรถไฟแก่งคอย) ปราจีนบุรี (กบินทร์บุรี)

ภาคเหนือ อุตรดิตถ์ แพร่ (สะพานแก่งหลวง) ลำปาง (สถานีรถไฟนครลำปาง, สนามบินลำปาง) เชียงใหม่ (สถานีรถไฟเชียงใหม่) เชียงราย (สนามบินเชียงราย)

ส่วนในภาคใต้ที่ถูกทิ้งระเบิด เช่น ระนอง (เขาหัวค่าง) ชุมพร (ขบวนรถไฟในชุมทางรถไฟสาย ชุมพร-คอคอดกระ [ชุมพร-กระบุรี]) สุราษฎร์ธานี (สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี สะพานหลังสวน สะพานพระจุลจอมเกล้า อ.ท่าข้าม) สงขลา (ท่าเรือสงขลา)

และภาคอีสาน เช่น นครราชสีมา (สถานีหัวรถไฟ) เป็นต้น

หลุมหลบภัยทหารญี่ปุ่นที่ระนอง เครดิตภาพ : รวมศิษย์เก่ากระบุรีวิทยา

หลุมหลบภัยที่ระนอง

สําหรับหลุมหลบภัยในภาคใต้ที่ระนองนั้น คาดว่าสร้างโดยทหารญี่ปุ่นในช่วงสร้างทางรถไฟข้ามจากไทยเชื่อมเข้าพม่าช่วงสงคราม หลุมหลบภัยนี้ตั้งอยู่บริเวณหน้ารั้วโรงเรียนกระบุรีวิทยา ต.น้ำจืด อ.กระบุรี จ.ระนอง ห่างจากถนนเพชรเกษมราว 20 เมตร ปากอุโมงค์ถูกดินและหินถล่มปิดทางเข้า

ต่อมามีการสำรวจพบว่า หลุมหลบภัยถูกดินและหินถล่มปิดปากทางเข้า หลุมดังกล่าวมีโดมครึ่งวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 2.5 เมตร และสูง 2.5 เมตร เพื่อลดแรงกระแทกสามารถบรรจุคนได้ 10-15 คน ส่วนผนังด้านในสุดเป็นช่องอุโมงค์ ขนาดกว้าง 0.5 เมตร สูง 1.50 เมตร ภายในหลุมมีอุโมงค์มีความยาวราว 40 เมตร และสามารถเชื่อมกับหลุมหลบภัยอื่นๆ ที่มีไม่ต่ำกว่า 10 หลุม รอบเนินเขา

มีทางเดินลัดเลาะสามารถไปโผล่สนามหญ้าหน้าโรงเรียนได้ และเส้นทางอุโมงค์จะอยู่ใต้พื้นดิน ที่ตั้งของโรงเรียนกระบุรีวิทยาในปัจจุบัน ที่แต่เดิมนั้นเป็นเนินเขา และเป็นที่ตั้งของค่ายทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาทำเส้นทางรถไฟเชื่อมจากบ้านเขาสามแก้ว ต.นาชะอัง อ.เมือง จ.ชุมพร มาบ้านเขาฝาชี ต.บางแก้ว อ.ละอุ่น จ.ระนอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2486-2487

ดังนั้น หลุมหลบภัยน่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น

หลุมหลบภัยที่โรงเรียนนายร้อยเก่าที่วัดโพธิ์กลาง นครนายก

หลุมหลบภัยที่โรงเรียนนายร้อย เพชรบูรณ์

ที่เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่รัฐบาลจอมพล ป.ต้องการสร้างให้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ในช่วงสงคราม และเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการค้นพบหลุมหลบภัยที่วัดโพธิ์กลาง อันเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อย ในช่วงที่รัฐบาลมีแผนการย้ายเมืองหลวงจากพระนครมาที่เพชรบูรณ์ หรือเรียกกันในครั้งนั้นว่า “โรงเรียนนายร้อยป่าแดง” (2486)

รัฐบาลได้ให้ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดโพธิ์กลาง บ้านป่าแดง ต.ป่าเลา อ.เมือง โดยกรมยุทธการทหารบกรับผิดชอบในการเคลื่อนย้ายหน่วยงานโรงเรียนและเหล่านักเรียนไปยังที่ตั้งโรงเรียนแห่งใหม่ ในครั้งนั้นมีการเคลื่อนย้ายนักเรียนในบังคับบัญชาทยอยออกเป็นส่วนๆ ส่วนแรกเดินทางไปเมื่อ 10 มกราคม 2487 ด้วยการเดินเท้าพร้อมอาวุธเครื่องสนามจากโรงเรียนนายร้อยที่ถนนราชดำเนินไปขึ้นรถไฟเพื่อไปยังโรงเรียนแห่งใหม่

สำหรับการขุดค้นสำรวจหลุมหลบภัยเบื้องต้นพบห้องสี่เหลี่ยม ขนาดประมาณ 4 x 4 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร ก่อด้วยอิฐแดง 4 ด้าน ผนังก่อด้วยอิฐแดงก้อนใหญ่และหนา อิฐมีความแตกต่างจากอิฐแดงในรูปแบบปัจจุบัน เบื้องต้นที่สำรวจคาดว่า หลุมแห่งนี้น่าจะสร้างเป็นที่เก็บอาวุธหรืออาจจะเป็นหลุมหลบภัยในช่วงสงครามก็เป็นได้ (khaosod.co.th)

ตัวอย่างหลุมหลบภัยที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นเพียงหลุมหลบภัยส่วนหนึ่งที่กระจายตัวในจังหวัดต่างๆ ของไทย อย่างไรก็ตาม หลุมหลบภัยในต่างจังหวัดของรัฐบาลและสร้างในพื้นที่ส่วนตัวยังคงรอการสำรวจ และสมควรอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความยากลำบากของคนไทยในช่วงสงครามและเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษาและท่องเที่ยวสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติต่อไป

สถานีรถไฟนครราชสีมาถูกโจมตีจากเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2488
ภาพถ่ายระยะใกล้ขณะที่สะพานพระราม 6 ถูกทิ้งระเบิด
ป้ายแสดงพื้นที่เคยเป็นที่ตั้ง “โรงเรียนนายร้อยป่าแดด” (2486) ที่เพชรบูรณ์ เครดิตภาพ : Pantip