9 ปี แห่งการจากไปของ ลี กวน ยู บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์

(Photo by ROSLAN RAHMAN / AFP)

ประเทศเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีพื้นที่เพียง 724.2 ตารางกิโลเมตร (ขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร) มีภูมิประเทศเป็นเกาะ ตั้งอยู่ปลายสุดของคาบสมุทรมลายู ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากนัก ทั้งน้ำประปา ไฟฟ้า และสาธารณูปโภค ต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ประเทศเล็กๆ ในทวีปเอเชียแห่งนี้ กลับเป็นประเทศที่มีความเจริญเหนือประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลก

ประเทศที่กล่าวถึงคือ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสิ่งล้ำค่ายิ่งที่นำพาประเทศสิงคโปร์รุดหน้าเหนือนานาประเทศในภูมิภาค ก็คือ มหาบุรุษผู้มีนามว่า “ลี กวน ยู (Harry Lee Kuan Yew)”

ในอดีต สิงคโปร์เป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ได้รับเอกราชเมื่อ ค.ศ.1963 เมื่อได้รับเอกราชได้เข้าร่วมกับอดีตดินแดนของอังกฤษ เพื่อก่อตั้งเป็นประเทศมาเลเซีย 2 ปีต่อมา สิงคโปร์แยกออกจากมาเลเซีย กลายเป็นประเทศเอกราชพหุวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และภาษาราชการ

ลี กวน ยู เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party : PAP) ใน ค.ศ.1954 ขณะที่มีอายุเพียง 31 ปี ซึ่ง ณ ขณะนั้นสิงคโปร์มีปัญหาสำคัญระดับชาติอยู่ 2 ปัญหา คือ ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย และ ปัญหาคอร์รัปชั่น

ประชาชนสิงคโปร์ ราว 2 ใน 3 ของประเทศ ไม่มีบ้านอยู่อาศัย ต้องอาศัยในพื้นที่ของร้านค้าที่ตนทำงาน ส่วนปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นผลพวงจากการเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษในยุคสงครามโลก

ด้วยพรสวรรค์ของท่าน ในระยะเวลาเพียง 5 ปี ลี กวน ยู ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ของสิงคโปร์ ใน ค.ศ.1959 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานถึง 31 ปีเต็ม

 

ผลงานที่ผู้เขียนชื่นชมนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู จากใจของผู้เขียน คือ ท่านเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ สามารถตัดสินใจเลือกดำเนินนโยบายได้ถูกต้องในทุกช่วงเวลาที่สำคัญ

ผมขอเล่าโดยแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลาที่สำคัญของเศรษฐกิจสิงคโปร์

ในยุคแรก ยุคการสร้างชาติ ภายหลังได้รับเอกราช นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู มุ่งมั่นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย โดยตั้งคณะกรรมการที่อยู่อาศัยเพื่อการพัฒนา (Housing and Development Board : HDB) เพื่อพัฒนาเขตที่อยู่อาศัยแบบอาคารสูง

จุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนสิงคโปร์ทุกคนมีที่อยู่อาศัย ในราคาที่จับต้องได้

โดยเป้าหมายสำคัญคือ จะต้องสร้างที่อยู่อาศัยให้ได้มากกว่าที่อังกฤษสร้างไว้ตลอด 32 ปี ให้ได้ภายใน 3 ปี นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการเริ่มต้นหมุนเครื่องจักรทางเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันนั้น นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ได้จัดระเบียบสังคมใหม่ โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีการกวดขันมิให้ประชาชนกระทำความผิดต่อส่วนรวม ทำให้บ้านเมืองมีความสะอาด น่าอยู่ รวมถึงการกวาดล้างปัญหาคอร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกอย่างจริงจัง

ด้วยนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร จึงนำหลักนิติรัฐมาบังคับใช้อย่างเสมอภาค

มีการผ่านกฎหมายการป้องกันการคอร์รัปชั่น

ซึ่งให้อำนาจรัฐในการลงโทษผู้กระทำความผิดในทุกระดับชั้น ไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะมีตำแหน่งสูงเพียงใดก็ตาม

 

ยุคที่ 2 ยุคสร้างเศรษฐกิจ ในปี ค.ศ.1971 อังกฤษถอนทหารออกจากสิงคโปร์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ลดลงถึง 1 ใน 5 สิงคโปร์จึงต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจขนานใหญ่ สิงคโปร์เริ่มต้นด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงเรือ

สิงคโปร์ยังไม่มีเงินทุนมากมายเหมือนในปัจจุบัน แม้จะอยู่ปลายสุดของแหลมมลายู มีท่าเรือน้ำลึก แต่ขาดแคลนเงินทุน ไม่สามารถเริ่มต้นอุตสาหกรรมต่อเรือเดินสมุทรได้ทันที จึงเริ่มต้นด้วยอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงเรือ ที่ต่อมาจึงพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมต่อเรือในภายหลัง

เมื่อปัญหาคอร์รัปชั่นลดลง สิงคโปร์จึงกลายเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติจับตามอง พร้อมเข้ามาลงทุน

ในขณะที่ผู้นำหลายประเทศในขณะนั้น มีนโยบายชาตินิยมปกป้องคนในชาติ ไม่ต้อนรับเงินทุนจากต่างชาติ ด้วยเกรงว่าเงินทุนเหล่านั้นจะเข้ามาหาผลประโยชน์

แต่นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู เห็นโอกาส เลือกที่จะต้อนรับบริษัทข้ามชาติให้มาลงทุนในสิงคโปร์

ในปี ค.ศ.1972 แรงงานชาวสิงคโปร์เกินกว่าครึ่งของประเทศ ทำงานให้แก่บริษัทข้ามชาติ และสร้างผลผลิตมากกว่าร้อยละ 70 ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม

ใน ค.ศ.1973 สิงคโปร์กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน อันดับ 3 ของโลก ทั้งที่ไม่ได้ผลิตน้ำมันดิบ

จะเห็นได้ว่า เพียง 10 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราช มีเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า

 

ยุคที่ 3 ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ความรุ่งเรือง เมื่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเริ่มเดินตามสิงคโปร์ในธุรกิจสิ่งทอ และธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หากสิงคโปร์อยู่กับที่ จะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่แรงงานถูกได้

นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู เห็นว่าประเทศสิงคโปร์จำเป็นต้องก้าวนำหน้าประเทศคู่แข่งอื่นในภูมิภาค จึงวางยุทธศาสตร์สนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและความรู้ขั้นสูงขึ้น

เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (ซึ่งตรงกับทฤษฎีแบบจำลองของศาสตราจารย์โซโลว์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ค.ศ.1987)

ยุทธศาสตร์ชาติเหล่านี้มิใช่นึกหรือฝันแล้วจะสำเร็จลุล่วงได้ ต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติ ทีละก้าวทีละขั้นตอนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

เริ่มต้นด้วยนโยบายต้อนรับแรงงานต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถ หรือ Professional Labour ให้สามารถพำนักลงหลักปักฐานในประเทศระยะยาวได้

ซึ่งแรงงานต่างชาติหากจะยอมย้ายถิ่นฐาน ก็ต้องพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ก่อน ซึ่งการออกแบบเมืองให้น่าอยู่นั้น ในแง่มุมสภาวะแวดล้อมจำเป็นต้องมีพื้นที่ธรรมชาติ และแก้ไขปัญหามลพิษให้หมดสิ้นไป

ในแง่มุมสังคม ต้องกวดขันพลเมืองในชาติให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ช่วยกันรักษาพื้นที่สาธารณะให้สวยงามน่าอยู่ร่วมกัน

นอกจากนั้น รัฐบาลต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคนในชาติให้สอดรับธุรกิจภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้ความรู้ความสามารถขั้นสูง

 

ยุคที่ 4 ยุคการสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู เห็นการล่มสลายของแนวคิดคอมมิวนิสต์ ซึ่งผ่านการพิสูจน์ด้วยกาลเวลาแล้วว่าไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้คนในชาติได้อย่างแท้จริง จึงมิได้สานสัมพันธ์กับประเทศจีน

ถึงขั้นเคยประกาศว่าสิงคโปร์อาจเป็นชาติสุดท้ายในอาเซียนที่จะไปเยือนประเทศจีน

แม้ว่า โจว เอินไหล รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ลำดับที่ 1 ของจีน ได้เชิญนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู เยือนประเทศจีนก็ตาม ท่านก็ไม่ได้ไปตามคำเชิญ

จนกระทั่งจีนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดี เติ้ง เสี่ยวผิง นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู กลับต้อนรับขับสู้ประธานาธิบดีเติ้ง ในการเยือนสิงคโปร์ ใน ค.ศ.1978 ด้วยตนเอง

ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจึงพัฒนาอย่างรวดเร็ว นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู เดินทางเยือนประเทศจีนทุกปี

ใน ค.ศ.1994 มีการเปิดนิคมอุตสาหกรรมของสิงคโปร์แห่งแรกในจีน ณ เมืองซูโจว ใกล้กับนครเซี่ยงไฮ้ เป็นการนำรูปแบบและประสบการณ์การบริหารจัดการของสิงคโปร์ ทำงานร่วมกันกับแรงงานท้องถิ่น เพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมและดึงดูดเงินทุนจากทั่วทุกมุมโลก ผ่านกองทุน Temasek และ GIC ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ลงทุนหลักในประเทศจีน

 

นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ก้าวลงจากตำแหน่ง ค.ศ.1990 ตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสิงคโปร์ รายได้ประชาชาติต่อหัว จาก 517 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ.1965 เพิ่มขึ้นเป็น 11,900 ดอลลาร์สหรัฐ ใน ค.ศ.1990 หรือ 23 เท่าในระยะเวลา 25 ปี

หากย้อนมองถึงคุณลักษณะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ที่สามารถสร้างประเทศสิงคโปร์ให้ยิ่งใหญ่ เป็น 1 ใน 4 เสือของเอเชีย คงมี 3 ประการที่สำคัญ คือ

1. ความเป็นผู้นำที่ฉลาดและมีวิสัยทัศน์ เรื่องนี้ถูกพิสูจน์ผ่านระยะเวลายาวนานถึง 31 ปีเต็มที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วว่า ท่านสามารถตัดสินใจดำเนินนโยบายได้ถูกต้อง และก้าวนำหน้าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคหนึ่งก้าวเสมอ เปรียบได้กับผู้นำนักปราชญ์ (Philosopher King) ของโลกตะวันตก

2. ความเป็นผู้นำที่ลงรายละเอียด ในชีวประวัติของท่าน มีบันทึกไว้ว่า นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู เมื่อเดินทางไปสร้างความเชื่อมั่นและเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในสิงคโปร์ ท่านมักจดบันทึกข้อดีของประเทศนั้นๆ พร้อมเหตุผลอธิบายว่าทำไมประเทศนั้นถึงมีข้อดีในเรื่องนั้นๆ หรือในการพัฒนาประเทศให้สะอาดและน่าลงทุน ท่านสั่งการให้เจ้าหน้าที่สนามบินชางงี รายงานความสะอาดของห้องน้ำสนามบินทุกสัปดาห์ เพราะสนามบินเป็นสถานที่แรกที่นักลงทุนต่างชาติสัมผัสประเทศ

3. ความเป็นผู้นำที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ท่านพิสูจน์จากการแก้ไขปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาความมั่นคงทางการทหาร ทุกปัญหาไม่สามารถขัดขวางประเทศสิงคโปร์ได้

นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 ปีนี้ครบรอบ 9 ปี การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของนายกรัฐมนตรีตลอดกาลสิงคโปร์ บุรุษผู้สร้างชาติสิงคโปร์ให้ยิ่งใหญ่ระดับแนวหน้าของโลก จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็น “บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ”