นายอำเภอบางปะกง รวมพลังจิตอาสา นำทีมอำเภอจัดสร้าง “ทำนบกั้นน้ำเค็ม” จากภูมิปัญญาชาวบ้าน แก้ไขปัญหาน้ำเค็มหนุนสูงเข้าสู่คลองสำโรง

นายอำเภอบางปะกง รวมพลังจิตอาสา นำทีมอำเภอจัดสร้าง “ทำนบกั้นน้ำเค็ม” จากภูมิปัญญาชาวบ้าน แก้ไขปัญหาน้ำเค็มหนุนสูงเข้าสู่คลองสำโรง หลังคันกั้นน้ำสถานีสูบน้ำท่าถั่วทรุดตัว ย้ำ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเกษตรกรในพื้นที่ทันท่วงที ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน

วันนี้ (27 เม.ย. 67) นางสาวกมลชญา ประเสริฐสิน นายอำเภอบางปะกง เปิดเผยว่า อำเภอบางปะกง ได้จัดกิจกรรมสร้างทำนบกั้นน้ำเค็ม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากปัญหาจากเหตุน้ำเค็มเข้าปะปนกับน้ำจืดบริเวณคลองสำโรง ตำบลบางเกลือ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ปลัดอำเภอสำนักงานอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อส.อ.บางปะกง ร่วมกับ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางเกลือ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ ร่วมพร้อมใจสร้างกันอย่างเข้มแข็ง

นางสาวกมลชญา ประเสริฐสิน นายอำเภอบางปะกง จากกรณีทำนบดินทรุดตัวจากการก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่ว อำเภอบ้านโพธิ์ ทำให้เกิดเหตุน้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงหนุนสูงและไหลเข้าปะปนกับน้ำจืดในคลองสำโรง พื้นที่ตำบลบางเกลือ ตนจึงได้นำทีมอำเภอบางปะกง ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ โดยได้ร่วมกันจัดทำทำนบกั้นน้ำเค็มจากภูมิปัญญาชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมใช้เครื่องยนต์เรือขนาด 4 สูบ สูบน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มออกจากคลองสำโรง โดยได้รับการสนับสนุนจาก อบต.บางเกลือ ร่วมกันให้การช่วยเหลือไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำจืดและพืชผลของเกษตรกรในพื้นที่

“เราได้น้อมนำแนวทางการขับเคลื่อนสู่หมู่บ้านยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทย โดยการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยการพัฒนาและแก้ไขในสิ่งผิด ตามภูมิสังคม เพื่อทำให้ประชาชนมีความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ทุกอำเภอร่วมกันทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน โดยอาศัยทีมอำเภอ/ตำบล บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยเป็นทีมบูรณาการจาก 7 ภาคีเครือข่าย ด้วยหลักการ 4 ร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ตามแนวคิดหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่คนในชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีเป้าหมายประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นางสาวกมลชญาฯ กล่าวในช่วงต้น

นางสาวกมลชญา ประเสริฐสิน นายอำเภอบางปะกง กล่าวเพิ่มเติม น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต แต่เนื่องจากสภาวะโลกร้อน ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องมีการก่อสร้างทำนบดินเพื่อป้องกันปัญหาน้ำเค็มเข้าสู่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ทำให้สัตว์น้ำและพืชพันธุ์ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ ซึ่งการทำทำนบกั้นน้ำ ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน จะทำให้ช่วยในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตามหลักภูมิสังคม ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่นอกจากจะช่วยไม่ให้น้ำเค็มเข้าพื้นที่แล้ว ยังช่วยให้น้ำจืดไม่ไหลลงสู่ทะเลเมื่อน้ำลดในหน้าแล้ง ทำให้มีน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตรตลอดทั้งปีอีกด้วย

“อำเภอบางปะกง มุ่งมั่นในการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ให้พี่น้องประชาชน ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ส่งเสริมหลักการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เมื่อเกิดปัญหาทุกคนพร้อมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นแนวทางของการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน “Sustainable Village” คือการรวมกลุ่มทำสิ่งที่ดีเพื่อชุมชนหมูบ้าน โดยมีภาครัฐร่วมสนับสนุนยกระดับทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน” นางสาวกมลชญาฯ กล่าวในช่วงท้าย

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood