สับสนและหวั่นไหว แต่อยากชวนสมัคร ‘ส.ว.’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

สับสนและหวั่นไหว

แต่อยากชวนสมัคร ‘ส.ว.’

กว่างานเขียน “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” เรื่องนี้จะอยู่ในมือของท่านผู้อ่าน ก็คงเป็นเวลาช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเข้าไปแล้ว

ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของคอการเมืองหรือแม้กระทั่งคนทั่วไปคงหนีไม่พ้นเรื่องของการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ เพื่อมาทำหน้าที่ทดแทนสมาชิกวุฒิสภาชุดเก่าซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปหลังจากทำหน้าที่อย่างมีน้ำอดน้ำทน (ฮา!) มานานหลายปีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ดูเหมือนว่าในพื้นที่แห่งนี้ผมจะเคยย้อนอดีตเพื่อทบทวนกันแล้วว่า สมาชิกวุฒิสภาเท่าที่เคยมีมาในบ้านเมืองของเรา มีวิธีการได้มาอยู่สามสี่อย่าง

แบบแรก คือการแต่งตั้ง แบบนี้มีบ่อยครับและมีมาตั้งแต่ยุคแรกตั้งระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของเราเรื่อยมาจนถึงประมาณปี 2540

จากนั้นก็มีวิธีการได้มาแบบที่สอง คือเป็นการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2540

แบบที่สาม เป็นลูกครึ่งหรือรูปผสม คือเป็นการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จะพึงมีได้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งแม้จะเรียกว่าเป็น “การสรรหา” แต่ถ้าดูกระบวนการแล้วจะเห็นว่าเป็นการแต่งตั้งแบบจำแลงรูปเท่านั้นเอง วิธีการนี้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2550

ครั้นมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 สมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลที่หมดวาระลงในเดือนพฤษภาคมนี้ ตามท้องเรื่องบอกว่าได้มาจากการสรรหา ว่าแต่มีใครเชื่อบ้างครับ คนส่วนมากล้วนมีความเห็นว่าก็คือการแต่งตั้งนั่นแหละ แต่ปลอมตัวมาในรูปแบบที่มีชั้นเชิงสักหน่อย

ความจริงแบบนี้เวลาพูดขึ้นมาครั้งใดก็เจ็บปวดทุกทีไป

 

เอาล่ะครับ นั่นเป็นเรื่องของอดีตที่เราทบทวนกันพอหอมปากหอมคอ

ข้อสำคัญมีอยู่ว่า การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันสองวันนี้ เป็นกระบวนการที่ไม่เคยมีมาก่อนในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใดในประเทศไทย เพิ่งจะมีขึ้นคราวนี้เอง

หรือจะพูดให้สนุกยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ก็คือไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญหรือแบบแผนของประเทศใดในโลกนี้มาก่อน และถ้าจะรวมตลอดถึงดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ไปด้วยก็เห็นจะไม่ผิด

สังเกตเห็นไหมครับว่าผมไม่ได้ใช้คำว่า “การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา” แต่ผมใช้คำว่า “การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา” การเลือกใช้ถ้อยคำอย่างนี้ผมใช้ด้วยความตั้งใจ เพราะถ้าพูดว่า “การเลือกตั้ง” แล้วไซร้ มนุษย์ธรรมดาสามัญย่อมเข้าใจตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนได้ไปออกเสียงลงคะแนนเลือกคนที่เราเห็นว่ามีความเหมาะสมเข้าไปทำหน้าที่สำคัญในสภา

แต่เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในวันสองวันนี้หาได้เป็นอย่างนั้นไม่

ประชาชนตาดำๆ จงนั่งอยู่เฉยๆ ก่อน

 

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ใช้คำว่า “การเลือกกันเอง” อ่านให้ตลอดตั้งแต่คำแรกจนคำสุดท้ายก็ไม่พบคำว่า “เลือกตั้ง” ครับ

ตัวผมเองเมื่ออ่านรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวแล้ว เห็นว่ามีหัวใจของเรื่องอยู่สามประเด็น หัวใจประเด็นที่หนึ่งคือวิธีการที่กำหนดไว้นั้น เป็นการเลือกกันเองระหว่างบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญโดยแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ที่เรียกกันติดปากกันว่า “กลุ่มอาชีพ”

หัวใจประเด็นที่สองคือ ต้องดำเนินการเป็นสามระดับ กล่าวคือ ต้องไต่บันไดตั้งแต่ระดับอำเภอ ขยับขึ้นไปถึงระดับจังหวัด และไปถึงระดับประเทศในที่สุด

หัวใจประเด็นที่สาม คือ การเลือกกันเองนั้น สามารถออกกฎหมายลูกซึ่งชื่อว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา” กำหนดวิธีการเลือกกันเองให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างไรก็ได้ เช่น จะกำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน หรือให้เลือกไขว้กลับไปกลับมา กลุ่มโน้นเลือกกลุ่มนี้กลุ่มนี้ไม่เลือกกลุ่มโน้น

สนุกเขาล่ะ

 

นอกจากกติกาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญข้างต้นดังกล่าวแล้ว กฎหมายลูกยังให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีอำนาจเรียกเก็บเงินค่าสมัครคนเข้ากระบวนการนี้ในอัตรา 2,500 บาทได้ด้วย

นี่ยิ่งเป็นข้อยืนยันชัดเจนว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเดือนนี้เดือนหน้าไม่ใช่การเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเป็น “สิทธิ” ของประชาชนทุกคน แต่นี่จะเรียกว่าเป็นอะไรผมก็พูดไม่ถนัดเหมือนกัน คล้ายๆ กับว่าต้องเสียเงินค่าบัตรผ่านประตูเข้าไปดูการแสดงอะไรอย่างนั้นแหละ เพียงแต่ว่าคนดูได้เป็นคนเล่นด้วย ไม่สนุกคราวนี้ เราจะไปสนุกคราวไหน

เรื่องค่าสมัคร 2,500 บาทนี้ สำหรับเศรษฐีมีสตางค์คงไม่เป็นปัญหา แต่เป็นปัญหาแน่สำหรับประชาชนทั่วไป เพราะเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ถ้ากินข้าววันละ 100 บาทก็กินได้เกือบตลอดทั้งเดือน

แต่ถ้าเทียบกับคนมีเงินเดือนเกินกว่า 100,000 บาท แบบ กกต. เงินจำนวนนี้ก็คงไม่มากมายอะไร

เอาเถิดครับ มาถึงเวลานี้ก็สายเกินไปแล้วที่จะลุกขึ้นแก้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้เป็นอย่างอื่นภายในเวลาสองสามวันเพื่อให้มีวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่สวยงามกว่านี้

 

ในช่วงเวลาประมาณครึ่งปีที่ผ่านมา มีการพูดกันในหลายเวที ทั้งในวงวิชาการ รวมตลอดถึงวงสนทนาทั่วไป ว่าการเลือกกันเองเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าวนี้ ถ้ามีคนสมัครหรือซื้อตั๋วเข้าไปร่วมกระบวนการจำนวนน้อย โอกาสที่จะเกิดความบิดเบี้ยวก็เกิดขึ้นได้ง่าย

ความบิดเบี้ยวที่ว่านี้ยกตัวอย่างเช่น การที่มีเจ้าของทุนใหญ่ หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง พยายามที่จะครอบงำกระบวนการ โดยส่งคนของตัวเองหรือเครือข่ายของตัวเองเข้าสู่กระบวนการนี้

ถ้าผมเป็นเศรษฐีมีบุญหนัก อยากจะส่งคนเข้าลงสนามเลือกกันเองคราวนี้สัก 10,000 คน คูณค่าบัตรผ่านประตูคนละ 2500 บาท ได้ตัวเลข 25 ล้านบาทออกมา เงินแค่นี้ขนหน้าแข้งร่วงไปยังไม่ถึงหนึ่งเส้นเลย

และทำแบบนี้แล้ว ผมได้สมาชิกวุฒิสภามาอยู่ในกำมือจำนวนหนึ่ง ไม่ต้องถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่จะมีได้ 200 คนหรอกครับ เพียงนี้ก็คุ้มแสนคุ้มแล้ว

ข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างนี้เองจึงเป็นที่มาของการสนับสนุนหรือชักชวนกันว่า ผู้ที่มีสิทธิลงสนามเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งกันเอง ถ้ามีเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น เป็นเรือนแสนคน ก็ย่อมเป็นวิธีการป้องกันอย่างหนึ่งที่จะมิให้มีใครหรือพรรคการเมืองใดสามารถครอบงำการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภารอบนี้ได้ง่ายๆ สบายมือ

พูดกันอย่างนี้มาได้สักพักหนึ่ง ก่อนที่การรับสมัครคนเข้าสู่สนามเลือกกันเองจะเกิดขึ้น กกต.ก็วางระเบียบและออกประกาศ มีกลิ่นอายไปในทำนองห้ามปรามไม่ให้มีการชักชวนกันมาสมัครเข้าสู่กระบวนการ โดยบอกว่า “อาจ” ผิดกฎหมาย

เรื่องสำคัญขนาดนี้ผมมีความเห็นว่า กกต.ซึ่งเป็นผู้คุมกฎและต้องรักษาความเป็นกลางอย่างยิ่งต้องพูดให้ชัดเจนว่า อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้

คำพูดว่าอาจผิดกฎหมายนั้นเลื่อนลอยเหลือประมาณ เพราะถ้าอาจผิดกฎหมายได้ การกระทำนั้นก็อาจถูกกฎหมายได้เหมือนกัน

 

นานปีมาแล้วเมื่อมีการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในสมัยรัชกาลที่เจ็ด คณะกรรมการยกร่างกฎหมายในเวลานั้น ท่านอภิปรายกันถี่ถ้วนว่าบทกฎหมายที่ยกร่างขึ้นนั้นตั้งใจให้หมายถึงอะไร และมีการยกตัวอย่างที่ท่านเรียกว่า “อุทาหรณ์” ประกอบในแต่ละมาตราด้วย

อุทาหรณ์ที่ว่านี้ไม่ได้ปิดบังให้รู้กันเองแต่ในหมู่กรรมการ หากแต่มีการพิมพ์เผยแพร่เพื่อความรู้ความเข้าใจของประชาชนทั่วไป สำหรับไว้ใช้ประโยชน์ในการอ่านกฎหมายให้เกิดความรู้กระจ่างด้วย

มิพักต้องไปพูดไปไกลถึงผู้สมัครเข้าไปสู่กระบวนการเลิกกันเองจะใช้วิธีการแนะนำตัวอย่างไรได้บ้าง อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ซึ่งตรงนั้นก็ยังมีความคลุมเครือและยังถกเถียงก็ได้อีกเยอะ

เอาแต่เพียงแค่การพูดจาแนะนำชักชวนกันว่าให้ไปสมัครเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองนี้เถิด กกต. ก็ทำเอาผมหวั่นไหวสับสนไปมากแล้ว

 

ก่อนเขียนหนังสือคราวนี้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ผมได้เห็นคลิปคลิปหนึ่ง ที่ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำเผยแพร่ โดยชักชวนชาวธรรมศาสตร์ผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเข้าสู่กระบวนการได้ ให้ช่วยกันสมัครเข้าไปเลือกกันเองเพื่อให้มีจำนวนมากเพียงพอที่สมาชิกวุฒิสภาผู้ใดมาจากกระบวนการนี้จะไม่ตกอยู่ในอาณัติ หรือความครอบงำของใคร

ดูคลิปของอาจารย์แล้ว ไม่มีความรู้สึกอื่นใดนอกจากความเห็นด้วยทุกถ้อยกระทงความและปรบมืออยู่รัวๆ

อย่าลืมนะครับว่า หน้าที่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภานั้นมีด้วยกันสามเรื่อง นอกจากเรื่องนิติบัญญัติคือการออกกฎหมาย เรื่องการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว สมาชิกวุฒิสภานี้ยังเป็นกลไกสำคัญของการได้มาซึ่งองค์กรอิสระทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ป.ป.ช. และองค์กรสารพัดตัวย่อทั้งหลายที่ทำหน้าที่สำคัญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ถ้าเราไม่อยากได้ ป.ป.ช.ที่เป็นสมบัติส่วนตัวของใครก็ตาม เราก็ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใครเป็นเบื้องต้นเสียก่อน

การชักชวนคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน มีเงินค่าผ่านประตู 2,500 บาท เข้าสู่กระบวนการเพื่อไปเลือกกันเองเช่นนี้ ถ้าผิดกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ผมมีความเห็นว่ามหัศจรรย์เหลือหลาย

แต่นั่นแหละนะครับ เราก็ได้เห็นเรื่องมหัศจรรย์กันมาเยอะแล้ว

บางคนเลยคิดว่า เห็นอีกสักเรื่องจะเป็นไรไป ฮึ