ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
เมืองร้อยเอ็ดนั้นมีชื่อเรียกเก่าอีกอย่างหนึ่งว่า “สาเกตนคร” หรือเมืองสาเกต ซึ่งก็คือชื่อของเมืองศักดิ์สิทธิ์ ตามคติของอินเดีย ที่คนพื้นเมืองรับเอาเข้ามาพร้อมกับความเชื่อในศาสนา ทั้งพุทธ และทั้งพราหมณ์-ฮินดู
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยนะครับ ที่เอกสารโบราณอย่าง “ตำนานอุรังคธาตุ” ซึ่งก็คือตำนานของพระธาตุพนม อันเป็นพระธาตุสำคัญที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนา ในเขตพื้นที่วัฒนธรรมสองฝั่งโขง ที่มีเมืองร้อยเอ็ดเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในขอบข่ายของวัฒนธรรมดังกล่าว จะปรากฏชื่อ “สาเกตนคร” อยู่ด้วย
เอกสารโบราณชิ้นที่ว่านี้ มีผู้เสนอว่า ควรเริ่มเรียบเรียงขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.2181-2184 ในช่วงต้นรัชกาลของพญาสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งล้านช้าง แต่ต่อมาได้มีการต่อเติมเรื่องราวเพิ่มอีกในสมัยหลัง
แต่ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะพูดถึงในที่นี้ก็คือ อะไรที่เรียกว่าตำนานอุรังคธาตุนั้น ก็ดูจะให้ความสำคัญกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะได้เขียนอธิบายถึงตำนานที่มาของชื่อเมืองดังกล่าวนี้เสียจนยาวยืด
กล่าวโดยสรุป เรื่องของเมืองร้อยเอ็ดที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุนั้นมีความว่า พญาติโคตรบูร ผู้เป็นกษัตริย์แห่งเมืองศรีโคตรบอง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมืองแห่งนั้น สิ้นชีวิตลงเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานลงได้ 3 ปี แล้วไปเกิดเป็น “พญาสุริยวงศาสิทธิเดช” แห่ง “เมืองสาเกตนคร” เนื่องจากที่เคยทำบุญกับพระพุทธเจ้าจึงมีบารมีมาก พืชผลอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข และพระพุทธศาสนารุ่งเรือง
เจ้าเมืองต่างๆ ทั้ง “ร้อยเอ็ดเมือง” จึงพากันมาทำพิธี “พระราชมุรธาราชาภิเษกอดิเรกมงคล” ให้เป็นใหญ่เหนือพวกตน โดยได้ชื่อว่า “พญาสุริยวงศาสิทธิเดชธรรมิกราชาธิราชเอกราชเมืองร้อยเอ็ดปักตู” (ปักตูคือ ประตู)
อาจจะสังเกตได้อย่างไม่ยากเย็นนักว่า คำว่า “ร้อยเอ็ด” ในที่นี้ ไม่ใช่ชื่อเมืองจริง แต่เป็นการขนานนามว่า มีอำนาจเหนือเมืองอื่นๆ อีกร้อยเอ็ดเมือง โดยใช้คำว่า “ประตู” แทน “เมือง”
ดังนั้น คำว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู” จึงเป็นการขนานนามว่าเป็นเมืองของ “พระจักรพรรดิราช” หรือที่ในตำนานอุรังคธาตุเรียกว่า “ธรรมิกราชาธิราช” คือราชาผู้อยู่เหนือราชาทั้งร้อยเอ็ดเมือง (ซึ่งก็ไม่ควรจะเป็นจำนวนจริงๆ แต่เป็นภาษาสัญลักษณ์ว่า มีจำนวนมาก) ตามปรัมปราคติในศาสนาพุทธ และใช้เป็นชื่อเมืองควบคู่ไปกับชื่อ “สาเกตนคร”
เรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุยังเล่าต่อไปอีกว่า
“ตั้งแรกแต่นั้นไปภายหน้า เถิงเมื่อฤดูกาลออกวัสสาแลสังขารนั้นมาเถิง ท้าวพญาร้อยเอ็ดเมืองก็แต่งดอกไม้เงินคำนำบรรณาการมา สั่งอำมาตย์ราชทูตแห่งตนว่า เจ้าทั้งหลายจงนำเครื่องบรรณาการฝูงนี้ไปที่พญาศรีอมรณี (คือ พ่อของพญาสุริยวงศาสิทธิเดช) พญาโยธิกา (เจ้าเมืองกุรุนทะนคร เพื่อนสนิทของพญาศรีอมรณี ที่ร่วมสละราชบัลลังก์ แล้วร่วมกับพญาศรีอมรณีทำพิธีราชาภิเษกมอบเมืองกุรุนทะนครให้พญาสุริยวงศาสิทธิเดช แล้วขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองสาเกต) อาชญาอันรักษาปักตูและเป็นหูเมืองร้อยเอ็ดปักตูนั้นก่อน แล้วจึงให้พญาทั้ง 2 แต่งนายแนบเข้าไปถวายแก่พญาสุริยวงศาสิทธิเดชธรรมิกราชาธิราชเอกราชเจ้าตนเป็นใหญ่นั้นเทอญ ท้าวพญาทั้งหลายร้อยเอ็ดเมืองเป็นสั่งดังนี้ซุปี (คือ ทุกปี)” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า เจ้าเมืองทั้งร้อยเอ็ดเมือง ซึ่งอยู่ใต้ร่มจักรพรรดิราชของพญาสุริยวงศาสิทธิเดชนั้น ต้องส่งดอกไม้เงิน ดอกไม้คำ (คือดอกไม้ทอง) และเครื่องบรรณาการไปมอบให้เมืองสาเกต คือเมืองร้อยเอ็ดทุกปี โดยมอบผ่านหูเมือง (โดยปกติสำนวนนี้หมายถึง ราชทูตของเมือง) ผู้เป็นอาชญารักษาเมือง (ซึ่งแทนที่ด้วยคำว่า ปักตูเมือง คือ ประตูเมือง)
ทั้งสองคนคือ พญาศรีอมรณี และพญาโยธิกา
ยังน่าสังเกตอีกด้วยนะครับว่า ตำนานอุรังคธาตุได้ให้ความสำคัญกับ “อาชญารักษาเมือง” ทั้งสองคนนี้เป็นพิเศษ ดังปรากฏว่าชื่อทั้งสองคนนี้เกี่ยวข้องกับชื่อต่างๆ เมืองร้อยเอ็ดด้วย ดังปรากฏความเล่าต่อไปว่า
“คนทั้งหลายจึงเอาความอันนั้นมาว่า เมืองศรีอโยธิกาตามชื่ออันนั้น เล่าซ้ำติ่มขึ้น ชื่อว่า ศรีทวาราวัตตินคร ตามอันผีเสื้อรักษาปักตูเมือง ร้องเป็นเสียง ลวา นั้นก็มีแล”
และยังได้มีการอธิบายที่มาของชื่ออีกด้วยว่า
“ชื่อว่า ศรีอมรณีแลโยธิกา (เข้าใจว่าเพี้ยนมาจาก ศรีทวารวดีอโยธยา) นั้น เป็นชื่อแห่งพญาทั้งสองอันกินเมืองตามชื่อต้นไม้อันเป็นยาที่เจ้ารัสสีแต่งไว้ให้
ชื่อว่า อโยธิกา นั้น เจ้ารัสสีใส่ชื่อไว้ก่อน พญาร้อยเอ็ดเมืองจึงว่าสืบความแล…
…ชื่อว่า ทวารวดี เหตุมีผีเสื้อเมืองรักษาปักตูเวียงร้องดังเสียง ลวา นั้นแล” (ปรับย่อหน้าเพื่อให้อ่านง่ายขึ้นโดยผู้เขียน)
“เจ้ารัสสี” ที่ตำนานว่าคือ “ฤๅษี” ที่เหาะมาจากป่าหิมพานต์เป็นผู้ทำราชาภิเษก พญาศรีอมรณี และพญาโยธิกาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองสาเกตุนคร และเมืองกุรุนทะนคร ตามลำดับ โดยน่าสังเกตด้วยว่า ตำนานเล่าว่าก่อนที่พญาทั้งสององค์นี้จะทำพิธีราชาภิเษกให้พญาสุริยวงศาสิทธิเดชขึ้นเป็นกษัตริย์นั้น ก็ได้สำเร็จวิชาจากเจ้ารัสสี จนเหาะเหินเดินอากาศได้ เรียกว่าได้ว่าอยู่ในฐานะผู้วิเศษ มีอำนาจเหนือมนุษย์มาก่อนสละราชย์ แล้วกลายเป็น “อาชญาอันรักษาปักตูเมืองร้อยเอ็ดปักตู” คือ “อาชญารักษาเมืองร้อยเอ็ด” และก็น่าจะเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ตำนานเรียกว่า “ผีเสื้อรักษาปักตูเมือง” เพราะคำว่า “ผีเสื้อ” นั้นก็คือ “ผีเชื้อ” คือ “ผีบรรพชน” ผู้ปกปักรักษาเมืองนั่นแหละ
(อนึ่ง ในปัจจุบันนี้เมืองร้อยเอ็ดก็ยังมีแนวคิดเรื่องผีผู้ปกปักเมืองคือ “เจ้าพ่อมเหศักดิ์” ซึ่งคือผีอารักษ์ประจำเมือง ดังปรากฏศาลอยู่ที่บริเวณวัดบูรพาภิราม มาจนกระทั่งทุกวันนี้)
พูดง่ายๆ ว่า เป็นการอ้างความศักดิ์สิทธิ์ว่าเมืองร้อยเอ็ดนี้ สืบทอดมีบรรพชนเป็นผู้ปกครองเมืองศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของอินเดียอย่าง “อยุธยา” และ “ทวารวดี” และมีบรรพชนจากทั้งสองเมืองนี้เป็น “ผีเสื้อ” ผู้ปกปักรักษาเมืองร้อยเอ็ดนั่นแหละครับ
จะสังเกตได้ว่า ในอุษาคเนย์นั้น ชื่อ “อยุธยา” มักปรากฏคู่กับชื่อเมือง “ทวารวดี” อยู่เสมอ เช่นคำว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เป็นต้น
ลักษณะอย่างนี้เป็นการผูกชื่อเมืองศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียคือ เมืองอยุธยาของ “พระราม” และเมืองทวารวดี (หรือทวารกาก็เรียก) ของพระกฤษณะเข้าไว้ด้วยกัน (น่าเชื่อว่า การใช้คำว่า “ปักตู” แทนเมือง นั้น เกี่ยวข้องกับชื่อเมืองทวารวดี ซึ่งตามปรัมปราคติว่า เป็นมหานครที่มีประตูมาก) ซึ่งก็คงเคยปรากฏขึ้นที่ร้อยเอ็ดด้วย
ส่วนชื่อ “สาเกต” ที่เป็นชื่อเรียกเมืองที่แท้จริงของพญาสุริยวงศาสิทธิเดชธรรมิกราชาธิราช ผู้เป็นใหญ่เหนือทั้งร้อยเอ็ดปักตูเมืองนั้น เป็นชื่อของเมืองที่ปรากฏอยู่ในเอกสารของศาสนาพุทธ และเชนว่า พระศาสดาในศาสนาของตนคือ พระพุทธเจ้า และพระมหาวีระ ได้เคยเสด็จไปเยี่ยมเยียน และพำนักเป็นการชั่วคราวอยู่ที่เมืองดังกล่าว
โดยเฉพาะคัมภีร์ในศาสนาเชนนั้นอ้างว่า มีตีรถังกร (ศาสดาผู้บรรลุธรรมในศาสนาเชน คล้ายกับอดีตพระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธ) ประสูติที่เมืองสาเกตุถึง 5 องค์ ได้แก่ ฤษภนาถ (อาทินาถ เป็นตีรถังกรองค์แรกตามความเชื่อในศาสนาเชน), อชิตนาถ, อภินัทนนาถ, สุมตินาถ และอนันตนาถ
ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองสาเกต ในศาสนาเชน โดยเฉพาะในแง่ของความศักดิ์สิทธิ์ได้เป็นอย่างดี
เอกสารเก่าจำนวนมากในอินเดียช่วงตั้งแต่สมัยราชวงศ์คุปตะ (พ.ศ.862-1093) เป็นต้นมา ต่างก็ระบุตรงกันทั้งหมดว่า “เมืองสาเกต” ก็คือเมืองเดียวกันกับ “เมืองอโยธยา” ซึ่งพวกพราหมณ์-ฮินดู ถือว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ โดยนอกจากจะเป็นเมืองของพระรามแล้ว ยังเป็นเมืองอันดับแรก ในบรรดาเมืองศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 (อินเดียเรียก สัปตปุรี ประกอบไปด้วย อโยธยา, มยา, มถุรา, กาศี, กาญจี, อวันติกา และทวารวดี) อีกด้วย
ชาวอินเดียเชื่อว่า เมืองอโยธยา ที่พระรามเคยครองราชย์อยู่นั้น ก็คือ “เมืองอโยธยา” (Ayodhaya district) เดียวกันกับที่ในปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ที่รัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย และต่างก็เป็นที่รู้กันดีว่าคือ “เมืองสาเกต” ในตำนานของศาสนาพุทธ และเชน
อันที่จริงแล้ว ในคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู บางเล่มก็เรียกเมืองอโยธยาว่า เมืองสาเกต ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปุราณะฉบับสำคัญที่สุดฉบับหนึ่งอย่าง วิษณุปุราณะ เป็นต้น โดยชื่อเมืองสาเกตนั้น ยังปรากฏอยู่ในเอกสารเก่าของทั้งกรีก และจีน ด้วยเช่นกัน
ชื่อ “สาเกตนคร” ของเมืองร้อยเอ็ด จึงเป็นการจำลองความศักดิ์สิทธิ์ของเมือง “อโยธยา” หรือ “อยุธยา” ของพระราม ในชื่อเรียกแบบพุทธนั่นเอง •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022