รากเหง้าสภาอาชีพ (1)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

รากเหง้าสภาอาชีพ (1)

 

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่กำลังมาถึงแตกต่างจากการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วไปที่คนไทยพอคุ้นเคยตรงที่ไม่ได้อยู่บนฐานสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป (universal suffrage) ของราษฎร

หากจำกัดวงผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เฉพาะจาก 20 กลุ่มอาชีพ (limited suffrage) ซึ่งต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด ยื่นใบสมัครแสดงความจำนงพร้อมค่าสมัคร 2,500 บาทแล้วค่อยเลือกกันเองทอดทอย ตามลำดับชั้นขึ้นไป [อำเภอ->จังหวัด->ประเทศ] กว่าจะเสร็จสิ้น

สมดังที่ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยคุณหทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ บรรยายไว้ในรายงานข่าวและวีดิโอประกอบหลายตอน จบด้วยอาการหน้าเมื่อยว่า “ซับซ้อนที่สุดในโลก” (https://www.bbc.com/thai/articles/c0kegn47lqjo)

คำถามคือทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ที่มาทางความคิดของมันคืออะไร? รากเหง้าทางการเมืองของสภาอาชีพ เป็นเช่นใดหรือ?

สรุปก็คือผมอยากขยับคำถามเรื่องการเลือกตั้ง ส.ว. จาก How? ไปเป็น –> Why? นั่นเอง

ภาพจาก https://www.ilaw.or.th/articles/6276 & https://www.bbc.com/thai/articles/c0kegn47lqjo

ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์และการเมืองไทยมานานปี ผมใคร่ทดลองประมวลข้อมูลความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้เท่าที่เคยประสบมาเรียบเรียงไว้เป็นลำดับ เผื่อจะช่วยให้สังคมการเมืองไทยเข้าใจตัวเองขึ้นบ้างว่าทำไมต้องมาทนทำอะไรที่หน้าเมื่อยอย่างนี้หว่า?

ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ปรมาจารย์รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ยุคการปฏิวัติตุลาคม 2516 และอดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดแรกผู้ล่วงลับไปเมื่อสองปีก่อน (2470-2565) ชอบอ้างอิงข้อความตอนหนึ่งไว้ในงานเขียนหลากชิ้นของท่าน เช่น การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ (2540, บันทึกท้ายบทที่ 2 หมายเลขที่ 13 น.157-158); และปาฐกถานำ “เรียนรู้อะไรจาก “ปฏิวัติสยาม 2475” (2543, https://pridi.or.th/th/content/2024/04/1919.)

ข้อความดังกล่าวเป็นคำแถลงของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต (2424-2487) พระราชโอรสพระองค์ที่ 36 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เจ็ด เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและประธานสภากรรมการองคมนตรี ในที่ประชุมสภากรรมการองคมนตรี เมื่อเดือนเมษายน 2470 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 5 ปีเศษว่า :

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ liberal มาก ถึงแม้ทรงเห็นว่าบ้านเมืองชอบปกครองด้วยอาญาสิทธิ์ แต่ก็เป็นอาญาสิทธิ์ที่ liberal

“…ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงศึกษาในต่างประเทศมาแล้ว ทรงมั่นพระราชหฤทัยว่าการปกครองกรุงสยาม จะเป็นอย่างใดไม่ได้ดีแน่แล้ว นอกจากโดยรูป absolute monarchy…

“ในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่เจ็ด) ได้ทราบแน่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหฤทัย liberal อย่างเอก ได้เคยทรงสนทนากันมาแต่ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วในเรื่อง form of government ย่อมทรงตระหนักพระราชหฤทัยอยู่ว่า รูปการปกครองอย่างที่ดีนั้นคือที่เหมาะที่สุดสำหรับบ้านเมืองโดยกาละ ถึงแม้ว่าในเวลานี้ยังจำเป็นต้องคงใช้รูปการปกครองโดยอาญาสิทธิ์ อาญาสิทธิ์นั้นก็จะต้องให้เป็นอย่าง liberal อย่างยิ่งจึงจะทรงตัวอยู่ได้ แต่วันล่วงไปก็ยิ่งจะมีคนที่ได้การศึกษามีความรู้มากขึ้น จะต้องคิดการไว้เตรียมรับ emancipation ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยลำดับ

“เมื่อไรเล่าจึงจะถึงเวลาต้องเปลี่ยนรูปการปกครอง ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อใดประชาชนมีความรู้พอแก่การแล้วจึงจะใช้ Parliamentary System เป็นผลได้ และก็คงจะต้องถึงเวลาอันควรเปลี่ยนแปลงรูปการณ์ปกครองเช่นนั้นในวันหนึ่งแน่นอน ในขณะรอเวลาที่จะมานั้น เราจะต้องคิดดูว่าจะรอให้ราษฎรเรียกเอาเองหรือจะชิงให้เสียก่อน ถ้าขัดไว้ช้าเกินไปแล้วต้องยอมให้ ก็ไม่เหมาะและอาจจะมีผลร้าย ถ้าแม้ว่ายอมให้เร็วไป ราษฎรยังไม่มีความรู้ก็อาจไม่เป็นการเป็นงานและอาจเป็นผลถึงจลาจลเหมือนดังเช่นได้เคยเห็นตัวอย่างในเมืองอื่นๆ การที่จะเก็งเวลาให้เหมาะว่าเมื่อใดจะพึงเปลี่ยนรูปการปกครองเป็น Representative Government นั้น เป็นการยากนักหนา ใครสามารถเก็งถูกก็ชื่อว่าเป็น Statesman อันวิเศษทีเดียว

“โดยเหตุฉะนี้ เราควรจะเตรียมทางเข้าหาอย่างใดได้บ้าง ทรงเห็นว่ามีอย่างหนึ่งคือ ปล่อยให้มีการประชุมขึ้นทีละเล็กทีละน้อยอย่างที่ประเทศอังกฤษเขาทำแก่ colonies ของเขาเป็นขั้นๆ โดยลำดับไป เช่นด้วยวิธี Municipal Council, Local Government หรือ Legislative Council ที่ปรารภมานี้ ก็เพื่อที่จะให้รู้กันถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยที่ทรงจำนงต่อความสุขและประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง…”

(อ้างอิงจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสาร ร.7 รล. 6/3 “รายงานการประชุมกรรมการองคมนตรีเรื่องพระราชบัญญัติองคมนตรี” 11 เมษายน 2470)

 

จะเห็นได้ว่าประเด็นสำคัญในคำแถลงข้างต้นได้แก่ :

– Inevitability : การปลดปล่อยสู่อิสระ (emancipation) หลีกเลี่ยงไม่พ้น การเปลี่ยนรูปการปกครอง (form of government) ของสยามจากอาญาสิทธิ์ (absolute monarchy) ไปเป็น -> การปกครองแบบแทนตนในระบบรัฐสภา (Representative Government in the Parliamentary System) ย่อมต้องถึงเวลาอันควรในวันหนึ่งแน่นอนตามกาละที่เปลี่ยนไป

– Timing : จังหวะเวลาอันควรตัดสินใจเปลี่ยนรูปการปกครองจึงสำคัญมากและยากยิ่ง ช้าเกินไปก็ไม่เหมาะและมีผลร้าย เร็วเกินไปก็ไม่เป็นการเป็นงานและอาจจลาจลวุ่นวาย ใครเก็งจังหวะปลดปล่อยสู่อิสระให้ถูกย่อมเป็นรัฐบุรุษอันวิเศษ

– Preparation : วิธีเตรียมการรับการปลดปล่อยสู่อิสระคือให้มีการประชุมสภาทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับจาก สภาเทศบาล -> สภาท้องถิ่น -> สภานิติบัญญัติ เหมือนดังที่อังกฤษทำในอาณานิคมทั้งหลาย (colonies) ของตนเป็นขั้นๆ

 

ข้อคิดของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่แห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ข้างต้นโดยเฉพาะเรื่องความหลีกเลี่ยงไม่ได้ของการปลดปล่อยสู่อิสระ (ถึงไงก็ต้องมา ถึงไงก็ต้องทำ ไม่ช้าก็เร็ว) พ้องพานอย่างน่าสนใจยิ่งกับทรรศนะของอเล็กซิส เดอ ต๊อกเกอวิลล์ (Alexis de Tocqueville, 1805-1859) ขุนนาง นักการทูตและนักปรัชญาการเมืองหัวเสรีนิยมชาวฝรั่งเศสเจ้าของงานเขียนคลาสสิคเรื่อง De la d?mocratie en Am?rique (ประชาธิปไตยในอเมริกา, เล่มแรกตีพิมพ์ 1835 & เล่มสองตีพิมพ์ 1840) ในประเด็นประชาธิปไตย

ต๊อกเกอวิลล์เป็นนักเสรีนิยมก่อนเป็นนักประชาธิปไตย เขาให้ค่าเสรีภาพเป็นลำดับแรกก่อนความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงชีวิตเขาทำให้เขาเชื่อว่ามันนำไปสู่ศตวรรษที่ถาโถมไล่ล่าแสวงหาประชาธิปไตยอย่างมิยั้งคิดและหยุดไม่อยู่ ไม่มีสิ่งใดจะหยุดยั้งกระบวนการนี้ได้ ดังที่เขาเขียนไว้ในบทนำของประชาธิปไตยในอเมริกา เล่มแรกปี 1835 ว่า :

“คิดหรือว่าประชาธิปไตยซึ่งได้ทำลายระบบศักดินาและพิชิตกษัตริย์ทั้งหลายลงจะยอมถอยหลังให้เบื้องหน้าคนชั้นกลางและคนรวย? มันจะยอมหยุดตอนนี้หรือในเมื่อมันเติบใหญ่เข้มแข็งถึงปานนี้และปรปักษ์ของมันก็อ่อนแอถึงปานนั้น?” (อ้างจาก นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, ต้นฉบับภาษาอิตาเลียนตีพิมพ์ปี 1988, บทที่ 11 ทรราชของเสียงข้างมาก)

 

“การปฏิวัติ (ประชาธิปไตย) อันไม่อาจต้านทานได้” น่าสะพรึงกลัวในสายตาต๊อกเกอวิลล์ตรงที่ทีทรรศ์จิตวิญญาณแห่งเสมอภาคนิยม (egalitarianism) อันเป็นบุคลิกเฉพาะของมันอาจนำไปสู่ทรราชของเสียงข้างมากและระบอบเผด็จอำนาจ (the tyranny of the majority & despotism) โดยปมเงื่อนสำคัญอยู่ตรงรูปการปกครองรวมศูนย์อำนาจ (ไว้ที่เสียงข้างมากของประชาชน) อันทรงมหิทธานุภาพนั่นเอง

การเตรียมพร้อมรับมือประชาธิปไตยเพื่อยังความปลอดภัยให้แก่เสรีภาพในสายตาต๊อกเกอวิลล์นั้น นอกจากยืนกรานเรื่องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสียงข้างน้อย, ยืนหยัดหลักความเสมอภาคของทุกคนเบื้องหน้ากฎหมายแล้ว ก็จะต้องหาทางกระจายอำนาจออกไป

พูดให้กระชับชัดยิ่งขึ้นคือหาทางกระจายอำนาจออกไปจาก [สภาผู้แทนราษฎร] ซึ่งรวมศูนย์อำนาจเสียงข้างมากไว้อย่างเอกนิยม (หรือองค์เดียวหรือผูกขาดอธิปัตย์ monism) และเป็นที่สถิตของอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty)

(สำหรับเรื่อง monism หรือผูกขาดอธิปัตย์ ดูเพิ่มเติมใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนัคราประชาธิปไตย : แนวทางการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจเพื่อประชาธิปไตย, 2538, น.42, เชิงอรรถ16 น.56-57)

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)