ช่องว่างของความปรารถนาดี ปัญหาช่องว่าง ของผู้ออกนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ใช้สวัสดิการ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อผมได้เริ่มปฏิบัติงานในฐานะคณะกรรมการประกันสังคมสัดส่วนผู้ประกันตน ในกองทุนประกันสังคม เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

แน่นอนว่ามีส่วนที่เราได้รณรงค์ก่อนหน้าเกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงการทำงานของประกันสังคม ความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และสิทธิประโยชน์ ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้ประเมินประสิทธิภาพ ความเป็นไปได้ของนโยบายต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าทุกนโยบายอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม ผมและเพื่อนๆ เองก็พยายามสนทนากับผู้ปฏิบัติงานจริงเพื่ออุดช่องว่างของการปรับปรุงนโยบายต่างๆ จากประสบการณ์ของคนปฏิบัติงานจริง

ประกันสังคมเป็นส่วนงานที่เกี่ยวพันกับคนกว่า 20 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนงานที่ใกล้ชิดกับคนมากที่สุด ก็จะเป็นส่วนงานด้านสิทธิประโยชน์ การอนุมัติเงินหลักพันล้านหมื่นล้านบาทต่อเดือนนับเป็นเรื่องปกติ

และแน่นอนว่า ส่วนนี้ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์และจับตาโดยประชาชนอย่างมาก

ผมเองในฐานะผู้ใช้บริการและมีโอกาสเคลมสิทธิประกันสังคมอย่างจริงจัง ก็คือตอนที่ภรรยาตั้งท้อง จนกระทั่งลูกสาวคลอด ยื่นเบิกจ่ายสิทธิย้อนหลังอันประกอบไปด้วยค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตร

ก่อนหน้านี้การรักษาพยาบาลหรือทำฟันในช่วงหลัง ก็จะเป็นการเบิกจ่ายโดยตรงที่ไม่ต้องสำรองจ่าย ขณะเดียวกันผมเองก็ยังไม่มีโอกาสเบิกประกันการว่างงานจากประกันสังคม

การยื่นเบิกสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดของลูกสาว จึงนับเป็นการที่ผมต้องทำงานกับระบบ E-Self Service เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

 

ในฐานะผู้ใช้บริการ ผมเองก็ต้องยอมรับว่าระบบก็สะดวกขึ้นเยอะกับการที่ผมสามารถยื่นเอกสารอะไรต่างๆ ได้ในทางออนไลน์ แล้วก็เกิดข้อสงสัยอยู่มากเช่นเดียวกัน ว่าทำไมผมต้องยื่นเอกสารใหม่ทุกครั้ง บางรายการทำไมถึงไม่สามารถรวมเป็นรายการเดียวได้

ดังในกรณีค่าฝากครรภ์ซึ่งมีมูลค่าเพียง 1,500 บาท แต่กลับซอยย่อยไปถึง 5 ครั้ง และผมต้องยื่นเอกสารใหม่ถึง 5 ครั้ง

เช่นเดียวกันกับเงินเลี้ยงดูบุตร 800 บาทต่อเดือน ที่ผมต้องคอยเป็นระยะเวลานาน กว่า 3 เดือนปฏิทิน ถึงจะได้ 800 บาท

สำหรับผู้ใช้บริการมันน่าแปลกใจเพราะเอกสารทุกอย่างก็ดูครบถ้วนหมดแล้ว

ผมและเพื่อนๆ จึงได้ไปสอบถามหน่วยงานด้านการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ในระดับเชิงนโยบายถึงระดับปฏิบัติงาน

จึงพบว่ามีช่องว่างที่สำคัญที่เกิดขึ้น กล่าวคือ การออกนโยบายบางอย่างก็อาจมีช่องว่างกับผู้ปฏิบัติงาน และในขณะเดียวกันก็อาจจะไม่ได้คำนึงถึงลักษณะธรรมชาติของการใช้สิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ

ซึ่งผมต้องอธิบายตรงนี้ว่า ทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นผ่านเงื่อนไขของความตั้งใจดีทั้งนั้น

แต่ช่องว่างที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ หากมีการแก้ไข ก็สามารถที่จะปรับปรุงประเด็นด้านการให้บริการและการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน

 

ผมยกตัวอย่างในกรณีของค่าฝากครรภ์มูลค่า 1,500 บาท การซอยย่อยไปถึง 5 ครั้ง และต้องยื่นเอกสารใหม่ทุกครั้ง ก็ถูกริเริ่มด้วยความตั้งใจดีของคณะกรรมการด้านการแพทย์

เนื่องด้วยอยากให้ส่วนนี้เป็นเงื่อนไขของการฝากครรภ์ การที่หญิงตั้งครรภ์ พบแพทย์เพื่อฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอย่อมเป็นผลดีต่อแม่และเด็กในท้อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อนโยบายนี้ถูกเอามาใช้ในทางปฏิบัติ ก็จะพบว่า กลายเป็นว่าผู้ประกันตนเองบางครั้งก็ฝากครรภ์ที่คลินิก บางครั้งก็ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลนอกสิทธิ์ ใบรับรองแพทย์ที่ได้ก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน รายละเอียดไม่ชัดเจนตามที่สำนักงานต้องการ หรือการต้องยื่นเอกสารพร้อมกับทะเบียนสมรส ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ประกันตนที่ไม่สามารถจัดเตรียมเอกสารได้ จึงเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ์นี้

ทางสำนักงานเองก็ต้องเสียเวลาในการตรวจสอบเอกสารทุกครั้งที่มีมายื่น มีการแก้ไข

ขณะเดียวกันผู้ประกันตนเองก็ต้องเสียเวลาในการมายื่นด้วย ลักษณะนี้หากเราคิดการสูญเสียกำลังคนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ครั้งละ 200 บาทถึง 300 บาท ดูแล้วก็อาจจะไม่คุ้มค่านัก ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องไปดูเทียบเคียงกับสถิติว่ามีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จำนวนเท่าไหร่ ที่ไม่ได้มาใช้สิทธิ์ฝากครรภ์ 1,500 บาท

เมื่อพิจารณาในประเด็นนี้เราก็จะพบว่า หากเราปรับเปลี่ยนวิธีการคิดว่าเอกสารทั้งหมด เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ให้ยื่นเพียงครั้งเดียว และทยอยจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุโดยที่ไม่ต้องยื่นเอกสารใหม่ เงิน 300 บาทแทนที่จะมาเบิกทีหลัง แต่ให้ได้รับก่อน เพื่อเป็นแรงจูงใจ พร้อมกับการเตือนให้ผู้ประกันตนฝากครรภ์ในช่วงเวลาที่ได้รับเงิน 300 บาท

หากเราสามารถแก้ไขจุดนี้ได้ ก่อนจะทำให้กระบวนการเบิกจ่ายมีการลดขั้นตอนไปพร้อมกัน การที่ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้เพิ่มมากขึ้น และก็ยังคงเป้าหมายของนโยบายได้เช่นเดิม

 

ขณะเดียวกัน เมื่อสอบถามผู้ปฏิบัติงานเรื่องเงินสงเคราะห์บุตรที่ต้องรอคอยยาวนานถึง 3 เดือน ก็เริ่มต้นจากเงื่อนไขการเบิกจ่ายของสิทธิ์การเลี้ยงดูบุตร ที่จะสิ้นสุดเมื่อผู้ประกันตนออกจากการเป็นผู้ประกันตน

บางครั้งจึงมีช่องว่างสำคัญว่านายจ้างหรือบริษัทไม่ได้แจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ก็จะเป็นปัญหาว่าหากทางสำนักงานจ่ายเกินไปโดยที่ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิ์ ก็ย่อมทำให้เกิดความเสียหายและถูกตรวจสอบได้

ดังนั้น การรอรายชื่อที่ถูกต้องถึงสามเดือนปฏิทินจึงดูเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งปัญหาในลักษณะนี้ก็น่าคิดว่า ทางสำนักงานเองก็อยากที่จะจ่ายไวที่สุด แต่ข้อจำกัดเรื่องระเบียบการจ่ายเกินสิทธิ์ก็สำคัญ

ณ จุดนี้หากเราพิจารณาว่าหากแก้ไขกฎระเบียบบางตัวที่ให้สิทธิ์แก่ผู้ประกันตนว่า ยังคงได้สิทธิ์การสงเคราะห์บุตรต่อไปอีกสามเดือน แม้ออกจากการเป็นผู้ประกันตน หากปรับเงื่อนไขนี้ก็จะพบว่า สำนักงานก็จะหมดความกังวลว่าจะเกิดการจ่ายที่ผิดพลาด เพราะในวินาทีที่จ่าย ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว และยังมีเวลาอีกสามเดือนที่ผู้ประกันตนจะถูกตรวจสอบสถานะต่อไปในเงื่อนไขเหล่านี้

หากพิจารณาแล้วก็อาจจะพบว่าใช้เงินเพิ่มไม่ได้เยอะมาก แต่อาจทำให้ช่องว่างของการรอพิจารณาสามเดือน เหลือระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน และทำให้การทำงานของสำนักงานง่ายขึ้นด้วย ซึ่งเทียบกับการต้องเพิ่มกำลังคนตรวจสอบหรือลงทุนเทคโนโลยีใหม่ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นทางแก้ของการเพิ่มประสิทธิภาพได้

ทั้งหมดนี้ถือเป็นตัวอย่างสำคัญว่า ช่องว่างของความปรารถนาดีของทุกฝ่ายอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กระบวนการออกนโยบาย การปฏิบัติงาน รวมถึงตัวผู้ใช้นโยบายเอง หากมีส่วนใดที่สามารถแก้ไขได้ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดสวัสดิการในภาพรวม