ระเบิดเวลาที่ ‘เมียวดี’ รอวันศึกใหญ่ระเบิด

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

การสู้รบที่เมียวดี เมืองยุทธศาสตร์สำคัญของเมียนมา บริเวณชายแดนตรงกันข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตากของไทย สร่างซาลงไปนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา เมื่อกองกำลังของกองทัพกู้ชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นแอลเอ) ที่เป็นฝ่ายทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) สามารถบุกยึดฐานทัพของกองพลน้อยที่ 275 ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเมียวดีไปทางตะวันตกราว 5 กิโลบเมตรเอาไว้ได้อย่างเด็ดขาด

แม้เคเอ็นยูจะไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่เข้าใจกันเป็นการทั่วไปว่า เมียวดีได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระจากรัฐบาลทหารเมียนมาไปเรียบร้อยแล้ว

แต่สถานการณ์กลับไม่ได้เรียบง่าย ตรงไปตรงมาอย่างที่เข้าใจกัน

ตรงกันข้ามกลับซับซ้อนและสับสนกว่าที่เห็นกันมากมายนัก

 

ข้อเท็จจริงที่เป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้ก็คือ เพียงแค่ 2 สัปดาห์หลังจากฐานที่มั่นแตก ทหารของเมียนมากลับเข้าสู่ฐานทัพกองพลน้อย 275 อีกครั้ง ชักธงชาติเมียนมาขึ้นสู่ยอดเสาอย่างอหังการ

ทั้งหมดนั่นสะท้อนถึงความจริงที่ว่า เคเอ็นแอลเอไม่เคยยึดครองเมียวดีทั้งเมืองได้เลย โจมตีจนแตก เข้าเมืองมาได้แล้วก็จำเป็นต้องถอนตัวออกไป

ผู้สันทัดกรณีและนักวิเคราะห์เชื่อว่า ผู้ที่ครองอำนาจในเมียวดีอย่างน้อยก็ในเขตสำคัญอย่างชเวก๊กโก ตอนเหนือของตัวเมียวดี ก็คือกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Forces – BGF) ที่มีกำลังพลหลายพันนายอยู่ภายใต้การนำของ พ.อ.ซอ ชิตธู อดีตนายทหารระดับผู้บัญชาการกองพล 999 ของกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยง ที่เดิมเรียกตัวเองว่า กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (Democratic Karen Buddhist Army-DKBA) ซึ่งเคยสังกัดเคเอ็นยู แต่แยกตัวเป็นอิสระในปี 1994

“บีจีเอฟ” เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลทหารเมียนมาในอดีตที่ต้องการทำความตกลงยุติศึกกับกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ในประเทศ โดยอนุญาตให้คงกองกำลังและอาวุธที่มีอยู่ แต่ปรับเปลี่ยนบทบาทไปทำหน้าที่เป็น “กองกำลัง” รักษาชายแดน

มีหน้าที่รับผิดชอบความมั่นคงในพื้นที่ สนับสนุนปฏิบัติการในแนวรบและสนับสนุนข่าวกรองให้แก่ทางการ โดยได้เบี้ยหวัดเงินเดือนจากทางการเป็นการตอบแทน

บีจีเอฟเริ่มใช้ในปี 2008-2009 ถูกยกเลิกไปในปี 2011 โดยรัฐบาลทหารเมียนมาหันมาใช้การเจรจาต่อรองโดยตรงแทนการกำหนดตายตัวดังกล่าว

นั่นหมายความว่า ซอ ชิตธู กับบีจีเอฟ ร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐบาลทหารเมียนมาใช่หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกลับไม่แน่ใจว่าจะเป็นเช่นนี้ เนื่องจากมีประเด็นที่ชวนให้คิดตามมาอยู่ไม่น้อย

 

หนึ่งนั้น ซอ ชิตธู และบีจีเอฟ ที่ผ่านมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า บีจีเอฟไม่ “เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด” เพียงไม่ต้องการให้เมียวดีโกลาหลและตกอยู่ในสภาพกลียุคเท่านั้น

อีกหนึ่งก็คือ เมื่อมกราคมที่ผ่านมานี่เอง ซอ ชิตธู แถลงตัดเยื่อใยโดยสิ้นเชิงกับรัฐบาลทหารเมียนมา ด้วยการระบุว่า ต่อไปนี้ บีจีเอฟภายใต้การนำของตนที่เมียวดี จะไม่ทำหน้าที่ใดๆ สนองตอบต่อความต้องการของรัฐบาลทหารอีกต่อไป พร้อมทั้งยกเลิกการรับเบี้ยหวัดเงินเดือนทั้งหมดอีกด้วย

ผู้สันทัดกรณีระบุว่า เบื้องหลังของเรื่องนี้อยู่ที่ “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ขนาดใหญ่ที่ผุดขึ้นมาริมน้ำ ทางตอนเหนือของเมียวดี ในเขตอิทธิพลของซอ ชิตธู และกลายเป็น “เมืองบาป” ที่มีตั้งแต่กาสิโนนับสิบ แหล่งค้าประเวณี แหล่งก่ออาชญากรรมประเภทคอลเซ็นเตอร์ และแหล่งค้ามนุษย์

ว่ากันว่าทำกำไรมหาศาลให้กับซอ ชิตธู ด้วยเม็ดเงินหมุนเวียนปีละหลายร้อยล้านดอลลาร์

 

คิม โจลลีฟ ผู้เชี่ยวชาญที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมียนมาไม่น้อยกว่า 15 ปี เชื่อว่าตอนนี้ ซอ ชิตธู กำลัง “เล่นเกม” นั่งตีขิมรอต่อรองผลประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายว่า ใครจะเสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุดมาให้ ระหว่างกองทัพเมียนมา กับเคเอ็นยู

“ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าต้องการเขาเข้าเป็นพวก ดังนั้น เขาถึงได้เล่นเกมแบบนี้เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด อย่างน้อยก็มีการการันตีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง” โจลลีฟเชื่ออย่างนั้น

ปัญหาก็คือ นอกจากขุมทรัพย์มหึมาที่ชเวก๊กโก ของซอ ชิตธู แล้ว เมียวดียังเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนกับไทยที่มีมูลค่าเดือนละหลายพันล้านดอลลาร์

เคเอ็นยูและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาก็อยากได้ รัฐบาลทหารเองก็ต้องการยึดเมืองนี้คืนมาอยู่ภายใต้ความควบคุมอีกครั้ง

แหล่งข่าวที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อรายหนึ่งระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาต้องการยึดเมียวดีกลับคืนและพร้อมที่จะทำทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้เพื่อการนี้

นั่นเป็นที่มาของ “ปฏิบัติการ อ่อง เซยา” เรียกระดมกำลังทหารจากกองพลที่ 11, 44, 55 และ 77 เข้ามาเสริมทัพในเมียวดี ปฏิบัติการนี้เป็น “ปฏิบัติการระดับชาติ” เพื่อยึดคืนเมียวดีเท่านั้น

“ตอนนี้ รายงานล่าสุดเมื่อ 29 เมษายน ก็คือ ทหารของกองทัพเมียนมาอย่างน้อย 2,000 นายกำลังเคลื่อนที่มุ่งสู่เมียวดีแล้ว” แหล่งข่าวรายนี้ระบุ

การสู้รบเมื่อเดือนเมษายน ทำให้ชาวเมียนมานับหมื่นนับแสนหลบหนีกันวุ่นวาย แต่ตอนนี้คนเหล่านี้กำลังเผชิญกับการสู้รบครั้งใหม่อีกคำรบ

เป็นศึกที่ใหญ่กว่า อำมหิตและถึงเลือดถึงเนื้อมากกว่าเดิมมากมายนัก