E-DUANG : ลักษณะ”ร่วม” ทาง “การเมือง” ระหว่าง เพื่อไทย กับ ก้าวไกล

ต้องยอมรับว่าเจตนาในการแยกพรรคเพื่อไทยออกจากพรรคก้าวไกล เพื่อนำไปสู่การขีดเส้นให้พรรคเพื่อไทยต่อสู้กับพรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

ไม่ว่า”เจตนา”นี้จะมาจากสมองก้อนโตของใคร ไม่ว่า”เจตนา”นี้จะมีการวางแผนอย่างแยบยลเพียงใด

ทางหนึ่ง ทำให้พรรคเพื่อไทยอยู่ในสถานะ”แกนนำ”รัฐบาล

เมื่อเป็นแกนนำก็ย่อมมีอำนาจเหนือพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ตั้งแต่พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา รวมถึงพรรคชาติพัฒนา

ขณะเดียวกัน ทางหนึ่ง ทำให้พรรคก้าวไกลที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 1 ต้องประสบกับความล้มเหลวเป็นลำดับ ไม่ว่าในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ที่สุดก็ต้องกลายเป็น”ฝ่ายค้าน”และต้องต่อกรกับ”รัฐบาล”ที่มากด้วยประสบการณ์และความจัดเจนทางการเมืองภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยซึ่งสืบทอดจากพรรคไทยรักไทย

ความน่าสนใจจึงอยู่ที่กระบวนการต่อสู้ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลซึ่งมีความต่างไปจากขนบเดิมการเมือง

 

พรรคเพื่อไทยเติบใหญ่ในกระสวนใกล้เคียงกับพรรคการเมืองเดิม อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในยุคพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นในยุคพรรคพลังประชาชน

นั่นก็คือ มีความร่วมมือกับมือ”เก๋า”ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น นายเสนาะ เทียนทอง ไม่ว่าจะเป็น นายสมัคร สุนทรเวช

ขณะเดียวกัน ก็มี”เลือดใหม่”ในทางการเมืองเข้ามาผสมอยู่

นั่นก็เห็นได้จากนักการเมืองอย่าง นายจาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองอย่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย นักการเมืองอย่าง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนอย่าง นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ มีคนอย่าง นายศุภวุฒิ สายเชื้อ มีคนอย่าง นายกิตติ ลิ่มสกุล ซึ่งมีความเชียวชำนาญเฉพาะทางโดดเด่น

นี่ย่อมเป็นองค์ประกอบที่ละม้ายกับการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลอย่างแทบจะใกล้เคียงกัน

 

จุดเด่นอย่างมากของพรรคเพื่อไทยที่มีรากจากพรรคไทยรักไทย และพรรคก้าวไกลซึ่งมีความต่อเนื่องจากพรรคอนาคตใหม่

1 คือการรับความคิดใหม่ 1 คือการลงไปอยู่ในมวลชน

ภาพอันโดดเด่นของ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อนำพรรคไทยรักไทย และภาพอันโดดเด่นของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อนำพรรคอนาคตใหม่ จึงก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ

ยิ่งพวกเขาอยู่ในท่ามกลางมวลชน เคลื่อนไหวไปพร้อมกับมวลชน ยิ่งกลายเป็นจุดแข็งให้พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล