ปลัดมหาดไทย ปิดโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปี 2567 รุ่นที่ 2 ( D-CAST ) เน้นย้ำ นายอำเภอและทีมภาคีเครือข่าย ต้องสร้างระบบกลุ่มบ้านที่มีความเข้มแข็ง ผ่าน 4 กระบวนการ

ปลัดมหาดไทย ปิดโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปี 2567 รุ่นที่ 2 ( D-CAST ) เน้นย้ำ นายอำเภอและทีมภาคีเครือข่าย ต้องสร้างระบบกลุ่มบ้านที่มีความเข้มแข็ง ผ่าน 4 กระบวนการ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” อันจะนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน ทำให้ประชาชนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (10 พ.ค. 67) เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม War room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีปิดพร้อมรับฟังการนำเสนอผู้เข้ารับการฝึกอบรมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปี 2567 รุ่นที่ 2 ซึ่งมีการอบรมในระหว่างวันที่ 6-10 พฤษภาคม 2567 โดยมี นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง พร้อมได้รับเกียรติจากนายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมพร กาญจน์นิรันดร์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าที่ร้อยตรี สมศักดิ์ สันประเสริฐ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน นางศุภราภร จักรมานนท์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยนายอำเภอ และภาคีเครือข่ายของอำเภอที่เข้ารับการอบรมจาก 58 อำเภอ รวม 580 คน ร่วมรับฟังผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Zoom Cloud Meeting) และถ่ายทอดไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 7 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี และนครศรีธรรมราช

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการอำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่นายอำเภอที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่สามารถทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย พร้อมกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนายอำเภอ และ “ทีมผู้นำ” ในระดับพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของกลไกในระดับอำเภอ โดยมีการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในหลักการทรงงานและการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติราชการ และขยายผลเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่

“นายอำเภอ คือ หนึ่งในตำแหน่งที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทย เปรียบเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรีของอำเภอ การที่จะทำหน้าที่นายอำเภอที่ดีเยี่ยมได้นั้น นายอำเภอต้องรู้จักการบูรณาการ “ทั้งบูรณาการคน และบูรณาการงาน” ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 ภาคี เพื่อขับเคลื่อนภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการบูรณาการคน คือ การนำเอาสรรพกำลังของภาคีเครือข่ายที่มีในพื้นที่ มาร่วมกันทำให้เกิดสิ่งที่ดี เพราะทุกพื้นที่เรามี 7 ภาคีเครือข่ายอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ ในส่วนการบูรณาการงาน คือ การนำงานทุกงานของทุกภาคส่วนที่ก่อให้เกิดผลดีกับพี่น้องประชาชน มาขับเคลื่อนร่วมกัน แม้จะไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรงของนายอำเภอก็ตาม เช่นเดียวกันกับหลักการทำงานแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง “No one left behind ” ซึ่งการบูรณาการงาน เราจะต้องรู้จุดอ่อนและจุดแข็ง รวมถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคของพื้นที่ ซึ่งทุกอำเภอเรามีข้อมูลการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกมิติ แบบพุ่งเป้ารายครัวเรือน ตามระบบ ThaiQM อยู่แล้ว รวมไปถึงข้อมูลหนี้นอกระบบ จปฐ. การสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน สถานศึกษา ยาเสพติด หรือ ข้อมูลผู้มีอิทธิพล ฯลฯ ซึ่งจะเป็นสารตั้งต้นให้กับอำเภอ ได้บูรณาการฐานข้อมูลในทุกระดับและสิ่งที่มีมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน และข้อมูลเหล่านี้ของแต่ละอำเภอ ก็จะเป็นฐานข้อมูลในภาพรวมที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้ในการบริหารและติดตามนโยบายในการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดได้ด้วย ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า “กระบวนการสร้างทีม” ของทีมอำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนจึงมีความสำคัญ ซึ่งนายอำเภอและทีมงาน ต้องสร้างทีมที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้น ทั้งทีมที่เป็นทางการ และทีมที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งประกอบไปด้วยภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อนำไปสู่การเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ในฐานะที่ นายอำเภอเป็นนายกรัฐมนตรีประจำอำเภอ ต้องช่วยทำให้เกิด “คณะรัฐมนตรีประจำหมู่บ้าน” ขึ้นให้ได้ ด้วยการที่ท่านมี Passion ลงพื้นที่ไปทำงานคลุกคลีตีโมงใกล้ชิดกับชาวบ้าน ทำให้เกิดคุ้มผู้นำตามธรรมชาติที่เข้มแข็งให้ครบทุกกลุ่มบ้าน หรือที่เรียกว่า คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน ซึ่งทั้งหมดจะตอบสนองกับตัวชี้วัด (KPI) ของหมู่บ้านยั่งยืน เพราะจุดแตกหักอยู่ที่หมู่บ้าน ดังนั้น การค้นหาจุดแข็ง หรือ จุดอ่อนทุกอย่างต้องเริ่มจากที่หมู่บ้าน ก่อนจะเป็นระดับตำบล ตลอดจนถึงอำเภอ เช่นเดียวกันกับการค้นหาปัญหาครัวเรือน การค้นหาปัญหาในภาพรวมของอำเภอ

“นายอำเภอและทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ต้องมีแนวทางการทำงาน โดยรู้จุดอ่อนจุดแข็งของในพื้นที่ ดังหลักคำสอนหลักอริยสัจ 4 ของพุทธศาสนา ในการค้นหาปัญหา เข้าใจถึงวิธีหรือแนวทางการดับทุกข์ อันนำไปสู่การพ้นทุกข์และมีความสุข ซึ่งหากเราทำงาน โดยยึดตามหลักทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแนวทางผ่านโครงการพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการ โดยมี 4 กระบวนการในการทำงานให้สำเร็จอย่างยั่งยืน คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ โดยทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ดังนั้น หากข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล ร่วมกับพระสงฆ์ ผู้นำศาสนา และเครือข่ายในพื้นที่ ทำงานแบบ “รองเท้าสึก ก่อนก้นกางเกงขาด” โดยลงพื้นที่สร้างความรักความสนิทสนมคุ้นเคยกับชาวบ้าน พบปะพูดคุยกับพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด ก็จะทำให้นายอำเภอและทีม มองให้เห็นภาพรวมทั้งอำเภอ เห็นป่าทั้งป่า เห็นต้นไม้แต่ละต้น ซึ่งกระบวนการที่จะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยหัวใจอันแรงกล้าของนายอำเภอที่จะต้องไปร่วมกับภาคีเครือข่ายไปร่วมคิด จึงหวังว่าเราจะไปทำให้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบให้ได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอก็ต้องเอาใจใส่ในการขับเคลื่อนโครงการจังหวัด /อำเภอ/ตำบล บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยการจัดให้ทีมภาคีเครือข่าย ผู้นำชุมชน ตลอดจนถึงพี่น้องประชาชน ตามระบบกลุ่มบ้าน ได้มีการพบปะพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยในการพูดคุยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ ประการแรก ต้องให้ “ยาฝรั่ง” การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในแบบเร่งด่วน และอีกประการหนึ่ง คือ การใช้ “ยาไทย” ในการส่งเสริมและพัฒนาคนในชุมชนหมู่บ้านอย่างยั่งยืน โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอ และทฤษฎีใหม่ ตลอดจนแนวพระราชดำรัส อารยเกษตร รวมถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นำไปสู่พี่น้องประชาชน ให้ทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน รวมถึงแก้ไขในสิ่งผิดที่อยู่ในสังคม ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด ที่ขอเน้นย้ำ คือ 4 กระบวนการ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ดังนั้น หากนายอำเภอมีข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบลที่เข้มแข็ง ก็จะช่วยทำให้เข้าถึงประชาชนได้ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทำให้เกิดโอกาสในการพบปะพูดคุย ซึ่งการพบปะพูดคุยจะต้องมุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน และลงพื้นที่ไปปฏิบัติร่วมกันตามสิ่งที่พูดคุยและสิ่งที่คิด โดยทุกหน่วยจะต้องมีส่วนร่วม และมองการพัฒนาที่ต้องระเบิดมาจากข้างใน เข้าใจสิ่งที่ต้องการแก้ไขและดำเนินการให้เหมาะสมกับภูมิสังคมของอำเภอนั้นๆด้วย

“สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับ “คน” โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำต้องเอาจริงเอาจัง ดังที่ท่านอินาโมริ คาซึโอะ ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera ที่ให้ความสำคัญกับคน และการพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งพนักงานผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องมี “Passion” และ “Attitude” หรือ ทัศนคติที่ดี และมีหัวใจที่จะ Change for Good เพื่อองค์กร ซึ่งกระทรวงมหาดไทย มีพันธกิจ คือ “การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ตลอดระยะเวลา 133 ปี การจะทำให้สำเร็จ (Success) ดังพันธกิจได้ นายอำเภอและทีม ต้องมีตั้งทัศนคติ (Attitude) ความรู้ (Knowlegde) และความสามารถ (Ability) นายอำเภอจะต้องปลุกระดม สร้างพลัง กระตุ้นให้ข้าราชการทุกคนมีหวัง และเริ่มทำให้ประชาชนทุกคนมีความหวังด้วย ซึ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้จริงนั้นจะต้องอยู่ที่นายอำเภอ ที่จะต้องเป็นน้ำทิพย์หล่อหลอมรวม 3 สิ่งนั้นจากภาคีเครือข่าย และพี่น้องประชาชนนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ทีมงานมีความเข้มแข็งและกล้าแกร่งได้ คือ การเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทำงานในปีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลปฏิบัติบูชา แสดงความกตัญญูกตเวทีตอบแทนบุญแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนกับพวกเรา” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้นายอำเภอ และทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ช่วยกันสร้างแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นโดยใช้กลไกในระดับพื้นที่ เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ตั้งแต่ ครอบครัวในกลุ่มบ้าน ขยายมาสู่ตำบล และอำเภอ ภายใต้ 4 กระบวนการ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ โดยทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทำให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความสัมพันธ์อันเหนียวแน่น ระหว่างชาวมหาดไทยและผู้นำของทุกภาคส่วน ตลอดจนถึงพี่น้องประชาชน ด้วยการทำให้เกิดเป็นระบบการดูแลซึ่งกันและกันในหมู่บ้านให้เกิดขึ้น เห็นผลได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าในอุดมคติ ซึ่งสิ่งที่เราทำให้กับประชาชนและประเทศชาติทั้งหมดนั้นจะเป็นเหมือนบุญกุศลให้กับชีวิตของพวกเรา หวังว่าจะได้เห็นการปฏิบัติหน้าที่ของพี่ ๆ น้อง ๆ ที่จะได้ร่วมรับความสุขร่วมกัน พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood